กรมวิชาการเกษตร ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ หนุนไทย Seed-Hub เอเชีย-แปซิฟิก

กรมวิชาการเกษตร ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ หนุนไทย Seed-Hub เอเชีย-แปซิฟิก

กรมวิชาการเกษตร ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ หนุนไทย Seed-Hub เอเชีย-แปซิฟิก

“เมล็ดพันธุ์พืช” เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของเกษตรกร ซึ่งการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ที่ดีเป็นอีกหนึ่งในภารกิจสำคัญของกองวิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช  กรมวิชาการเกษตร ที่ทำหน้าที่ติดตามผลการดำเนินงาน การรายงานปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขพร้อมเสนอแนวคิดการเพิ่มปริมาณการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ 5 แห่ง ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี และมีกลุ่มพัฒนาระบบตรวจสอบและรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณกรมวิชาการเกษตร กรุงเทพมหานคร

ขณะที่เวลานี้การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีที่กรมวิชาการเกษตรดำเนินการผลิตได้กระจายอยู่ในพื้นที่ 56 จังหวัดทั่วประเทศ มีการผลิตเมล็ดพันธุ์ในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. เมล็ดพันธุ์พืชไร่และปาล์มน้ำมัน จำนวน 17 ชนิด ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์คัด หลัก ขยาย จำหน่าย พืชตระกูลถั่ว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง   ถั่วเหลืองฝักสด ถั่วลิสงทั้งเปลือก ปาล์มน้ำมัน (เมล็ดงอก) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ งา เป็นต้น

2. ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักและพันธุ์พืชสวน จำนวนไม่น้อยกว่า 106 ชนิด ผลิตพันธุ์พืชแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ไม้ผล พืชดสวนอุตสาหกรรม ไม้ดอกไม้ประดับ พืชสมุนไพรและเครื่องเทศ และพืชผัก เช่น ทุเรียน กาแฟอาราบิกา กาแฟโรบัสต้า มะพร้าวกะทิ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวพันธุ์ไทย มะพร้าวลูกผสม ปทุมมา ขิง กระวาน ผักบุ้งจีน และถั่วฝักยาว เป็นต้น

กรมวิชาการเกษตร ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพ เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ หนุนไทย Seed-Hub เอเชีย-แปซิฟิก

สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่ดี ตัวเมล็ดต้องมีคุณภาพดีและเป็นพันธุ์ที่มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูง มีคุณภาพ        ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่ดีจะมีลักษณะดังนี้คือ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ตรงตามพันธุ์ที่ระบุไว้ (ตามฉลาก) โดยความตรงตามพันธุ์นั้นไม่สามารถดูได้จากเมล็ด แต่เมื่อปลูกแล้วจะมีลักษณะปรากฎ (phenotype) เป็นไปตามที่ลักษณะ ตามพันธุกรรม (genotype) ที่ต้องการของพันธุ์กําหนดคุณภาพทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์  สะอาด ปราศจากสิ่งเจือปน ปราศจากโรคและไข่แมลง มีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง และมีความแข็งแรงสูง

ทั้งนี้เมล็ดพันธุ์ที่ดี จะมีลักษณะตรงตามพันธุ์ ความงอกและความแข็งแรงสูง ส่งผลให้เจริญเติบโตเร็วสม่ำเสมอ และอัตราการรอดชีวิตในสภาพไร่นาสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ทนทานต่อสภาพแวดล้อมดีกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป เนื่องจากเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกแล้วให้ผลผลิตสูงกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ประหยัดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ต่อไร่ เพราะใช้อัตราต่ำกว่าเมล็ดพันธุ์ทั่วไป ลดการแพร่ระบาดเมล็ดวัชพืชที่ปนมากับเมล็ดพันธุ์ ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตสูง

กรมวิชาการเกษตรได้มีการดูแลควบคุมคุณภาพ เพื่อให้เกษตรกรได้พันธุ์ตรงตามความต้องการ โดยให้การรับรองระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ ตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ได้แก่ ตรวจสอบเปอร์เซ็นต์ความงอก ความบริสุทธิ์เมล็ดพันธุ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงตรวจสอบสุขอนามัยเมล็ดพันธุ์พืช ช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าเกษตรกรได้รับเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีและตรงตามพันธุ์ความต้องการของเกษตรกร

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ประชุมหารือกับหลายหน่วยงานจากภาคเอกชน เช่น สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ผู้บริหารของบริษัท เจียไต๋ จำกัด เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนและต่อยอดประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักเขตร้อน (World Leader of Tropical Seeds) และเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ (Seed-Hub) ของภูมิภาคเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(APEC) ที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และ BCG Economy Model ที่เป็นวาระแห่งชาติของไทย

ทั้งนี้มีเป้าหมายสนับสนุนการส่งออกเมล็ดพันธุ์ให้มีมูลค่ามากกว่า 15,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี และสนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชร่วมกับภาคเอกชน ให้เกษตรกรได้ใช้พันธุ์พืชใหม่ที่มีคุณภาพ ตรงตามมาตรฐานในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์      การตรวจสอบรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์และสุขอนามัยพืชในระดับสากลเพื่อการค้าเมล็ดพันธุ์ภายในประเทศ การนำเข้า และการส่งออกผ่านระบบ NEW DOA-NSW และ e-Phyto  เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วน สามารถขับเคลื่อนให้เมล็ดพันธุ์ไทยสามารถก้าวสู่ระดับสากล