เปิดนโนบายชน! แคนดิเดตชิง "ผู้ว่าฯ กทม." คนล่าสุด “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร”

เปิดนโนบายชน! แคนดิเดตชิง "ผู้ว่าฯ กทม." คนล่าสุด “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร”

เรียกเสียงฮือฮาสำหรับการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากพรรคก้าวไกล "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" กับนโยบายที่พร้อม "ชน" กับทุกปัญหาเมืองกรุง

ภายหลังเปิดตัวอย่างเป็นทางการสำหรับแคนดิเดทจากพรรคก้าวไกลลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สำหรับ "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" กลายเป็นพรรคการเมืองลำดับที่ 2 ต่อจากพรรคประชาธิปัตย์ในการเสนอตัวท้าชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้

"วิโรจน์" ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ถึงนโยบายที่ได้วางกรอบไว้ โดยเฉพาะการยกระดับชีวิตและสวัสดิการขั้นพื้นฐานชีวิตของชาว กทม.สู่ความจริงใหม่ ที่ "วิโรจน์" มั่นใจว่าประชาชนสามารถพึ่งพิงได้ เพราะเป็นสวัสดิการระดับมาตรฐานที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเองเพื่อแลกกับสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ควรจะได้รับ ในฐานะประชาชนที่เสียภาษี เพราะปัจจุบันการที่ประชาชนต้องการคุณภาพชีวิตและสวัสดิการพื้นฐานที่ดีประชาชนนั้นต้องจ่ายเงินจนเคยชิน

เปิดนโนบายชน! แคนดิเดตชิง \"ผู้ว่าฯ กทม.\" คนล่าสุด “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

"วิโรจน์" บอกว่า สิ่งจำเป็นต้องยกระดับให้คนกรุงเทพฯ ทุกมิติ ได้แก่ สาธารณสุข การศึกษา การมีส่วนร่วมของประชาชน ระบบขนส่งสาธารณะ ถึงแม้หลายเรื่องแม้ไม่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯกทม. แต่มีความเชื่อมโยงกับผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ต้องพร้อมชนกับปัญหา เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ซึ่งการชนกับปัญหานั้นไม่ได้หมายความว่าการไปมีเรื่องหรือทะเลาะกับคนอื่น แต่หมายความดังนี้

1.ผู้ว่าฯ กทม.จะต้องไม่อ้างว่าปัญหาต่างๆ ไม่ใช่หน้าที่หรือไม่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งตัวเอง แต่เมื่อเห็นว่าคนกรุงเทพฯ กำลังเดือดร้อน หรือบางรายถึงขั้นเสียชีวิตในกรุงเทพฯ หากผู้ว่าฯกทม.ไม่ทำ ไม่พยายาม หรือไม่ขับเคลื่อนเรียกร้องอะไรเลย ทั้งที่มองว่าผู้ว่าฯกทม. ไม่จำเป็นต้องเป็นซีอีโอของบริษัทใหญ่ๆ แต่ต้องเสมือนเป็นคนที่สมัครงานและร่างโครงการเพื่อมาเสนอ "ซีอีโอ" ซึ่งก็คือประชาชน

"คำว่าชนจึงหมายความว่าเมื่อเห็นประชาชนมีปัญหาไม่ใช่เพียงแค่ร่างจดหมายส่งไปให้ หรือมองว่าไม่มีอำนาจ ไม่ทำอะไร แต่ผู้ว่าฯกทม. จะต้องประสาน ตามงาน ขอนัดพบ จัดประชุมหารือวางกรอบในการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามผลักดันสิ่งต่างๆ ในการแก้ปัญหาของกรุงเทพฯให้ได้"วิโรจน์ ระบุ

2.การไม่ยอมรับกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องในฐานะผู้บริหารที่ต้องเป็นแบบอย่างนั้น ในเรื่อง "ส่วย" หรือเรื่องการเรี่ยกรับผลประโยชน์ ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าเป็นการทำลายโครงสร้างพื้นฐานในการบริหารงานราชการ หลายคนเชื่อว่าถ้าเราจัดการเรื่องนี้ได้ ประชาชนจะไม่ถูกเอาเปรียบ เพราะเรื่องส่วยเป็นเรื่องที่กัดกินตั้งแต่ในระดับประชาชนตัวเล็กตัวน้อย เช่น พ่อค้าแม่ค้า ไปจนถึงผู้ประกอบการต่างๆ ที่จำเป็นต้องขอใบอนุญาต 48 รายการ ในการก่อสร้างต่างๆ ซึ่งยังไม่รวมเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างอีกมากมายในหลายสำนักงาน

"ผมเชื่อว่าถ้าจัดการเรื่องนี้ได้จะสามารถแก้ปัญหาได้ในหลายมิติโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณที่จะไปถึงประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดังนั้นคำว่าชน คือการทำให้เรื่องส่วยหมดไปได้และเชิดชูข้าราชการนำดีที่มีอยู่มากในปัจจุบัน"วิโรจน์ กล่าว

3.ผู้ว่าฯกทม. ต้องปกป้องผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ เป็นหลักโดยไม่เกรงใจนายทุน เพราะประชาชนจะไม่มีความสุขถ้ารู้ว่าผู้ว่าฯกทม. ร่วมมือกับนายทุนไปประสานกับกลุ่มทุน ซึ่งบางครั้งไม่ได้เรียกว่าประสานแต่เรียกว่า "ฮั้ว" ดังนั้นการตัดสินใจบางอย่างผู้ว่าฯ กทม.อาจต้องเกรงใจนายทุนหรือกลุ่มทุนนั้นๆ เพราะพวกเขาเหล่านั้นมีบุญคุณกับผู้ว่าฯกทม. ดังนั้นประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ จะได้รับการปกป้องอย่างเสมอภาค

"ทั้งหมดคือการชนของผมที่ไม่ได้หมายความว่าไปทะเลาะกับใครแต่เรายืนหยัดเอาผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้ง และผมทำงานแบบตรงไปตรงมาร่วมมือกับข้าราชการน้ำดีในการขับเคลื่อน กทม."วิโรจน์ กล่าว

ส่วนการเปลี่ยนบทบาทจาก ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล มาเป็นว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.นั้น "วิโรจน์" ยอมรับว่า เข้าใจดีและทราบซึ้งมากที่มีประชาชนบางส่วนบอกว่าเสียดายที่ต้องเสียเก้าอี้ในสภาไป แต่ต้องขอขอบคุณสำหรับความรู้สึกเหล่านั้นที่สะท้อนว่า การตั้งใจทำงานหนักที่ผ่านมานั้น มีประชาชนจำนวนไม่มองมองเห็นการผลิดอกออกผลจากงานที่ทำไว้.