“วิโรจน์” เปิดตัวแอป “ฟองดูร์” แจ้งเบาะแส “ทางม้าลาย” ไม่ปลอดภัยทั่ว กทม.

ลงพื้นที่ต่อเนื่อง! ทีมงาน “วิโรจน์” แคนดิเดตชิง “ผู้ว่าฯ กทม.” พรรคก้าวไกล เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “ฟองดูร์” พร้อมแคมเปญ “พบเห็นม้าลายไม่ปลอดภัยโปรดแจ้งวิโรจน์” ควงว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. สำรวจย่านอโศก-พระราม 9 พบจุดสุ่มเสี่ยงเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล เดินทางไปยังย่านอโศก - พระราม 9 พร้อมด้วยนายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ว่าที่ผู้สมัคร สก. เขตวัฒนา และ น.ส.เต็มสินี โสภาสมสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร สก. เขตห้วยขวาง เดินสำรวจทางม้าลาย ทางข้ามแยก พบความผิดปกติ จุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหลายสิบจุด พบถนนไม่มิตรกับผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นทางข้ามแยกที่ไม่มีสัญญาณไฟคนข้าม หรือช่องปล่อยเลนที่ไม่สามารถมองเห็นรถได้ชัดเจน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนปัญหาทางเท้าที่ไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ขาดการออกแบบที่คำนึงถึงผู้สูงอายุ เด็ก และผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็น การติดเบรลบล็อคอย่างไม่ถูกต้องและต่อเนื่อง ทางลาดวีลแชร์มีทางเข็นลงถนน พบหลุมบ่อ ตลอดทางเดิน

ในการเดินสำรวจครั้งนี้มีการเปิดตัวการใช้บริการแอปลิเคชั่น Traffy Foudue หรือ “ฟองดูว์” ของทีมนายวิโรจน์ เพื่อแจ้งปัญหาใน "พบเห็นม้าลายไม่ปลอดภัยโปรดแจ้งวิโรจน์" โดยฟองดูว์เป็นระบบแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ที่สามารถแจ้งปัญหาได้อย่างเรียลไทม์ และสามารถแชร์โลเคชั่นของสถานที่เห็นปัญหาได้ทันที ซึ่งสามารถนำเอามาปรับปรุงระบบเป็นแอพลิเคชั่นร้องเรียนปัญหาให้เข้ากับชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯได้ 

ระบบดังกล่าวคิดค้นโดย NECTEC และได้มีการนำมาใข้งานต่อยอดโดยคณะก้าวหน้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ใน 12 เทศบาลที่คณะก้าวหน้าได้ให้การสนับสนุน ได้ผลตอบรับดีมาก สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ร้องเรียนเข้ามาได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งวิโรจน์ระบุว่าต้องการนำระบบดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหาให้คนในกทม.ด้วย

“วิโรจน์” เปิดตัวแอป “ฟองดูร์” แจ้งเบาะแส “ทางม้าลาย” ไม่ปลอดภัยทั่ว กทม.

นายสัณห์สิทธิ์ ว่าที่ผู้สมัคร สก. เขตวัฒนา แจ้งว่า บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้นแบบของการแก้ไขทางม้าลายตั้งแต่ปี 2562 หลังจากที่เกิดเหตุการณ์รถบรรทุกพุ่งชนพนักงานบริษัทเอกชนย่านอโศก มีการทาสีแดงและวาดสัญลักษณ์เพื่อเป็นจุดสังเกตให้รถหยุดหรือชะลอ แต่ปัจจุบันพบว่า ทางม้าลายดังกล่าวไม่มีไฟกดหยุด และพบการขับขี่ที่ใช้ความเร็วสูงด้วย ด้านวิโรจน์ที่ลงสำรวจพื้นที่ร่วมกัน แนะถึงการใช้สัญญาณกดหยุด และควรมีการสำรวจเพื่อออกแบบและติดตั้ง โดยคำนึงถึงจำนวนผู้ใช้งานและงบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุด

นอกจากนี้ ทีมนายวิโรจน์ยังเดินสำรวจพื้นที่ถนนพระราม 9 วิโรจน์ ได้ทดสอบเดินข้ามฟากไปยังอีกฝั่ง พบว่า ถนน 8 เลนนั้นมีเส้นทางม้าลายไม่ชัดเจน สัญลักษณ์ข้ามถนนไม่มี พื้นฐานเรียบ ไม่ใช่พื้นหยาบสำหรับการชะลอความเร็ว และไม่มีสัญญาณไฟคนข้ามใดๆ