“จุรินทร์”พร้อมประชุม “อาเซียน ซัมมิท”-รอ กก.ชุด “ดอน” เคาะปม CPTPP

“จุรินทร์”พร้อมประชุม “อาเซียน ซัมมิท”-รอ กก.ชุด “ดอน” เคาะปม CPTPP

“จุรินทร์” หนุนเปิดประเทศ หาสมดุลแก้โควิด-19 ควบคู่เศรษฐกิจ เผย 26-28 ต.ค. ประชุม “อาเซียน ซัมมิท” บรูไนส่งไม้ต่อให้กัมพูชา แนะ “อาเซียน” ผนึกกำลังรับมือ “สงครามการค้า” กลุ่มมหาอำนาจ รอ กก.ชุด “ดอน” เคาะสรุปปม CPTPP

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวก่อนการลงพื้นที่ “จุรินทร์ ออนทัวร์” จังหวัดสตูล พัทลุงและตรัง ว่า สัปดาห์หน้าจะเป็นการประชุมอาเซียน ซัมมิท วันที่ 26-28 ต.ค. 2564 ปีนี้บรูไนเป็นเจ้าภาพและหลังการประชุม จะมีการส่งมอบประธานอาเซียนให้กับกัมพูชาต่อไป ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ มีหลายวงนอกจากการประชุมอาเซียนซัมมิท จะมีการประชุมระหว่างอาเซียน จีน เกาหลี สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออก อินเดียและรัสเซีย เป็นต้น จะมีการหารือกันโดยเฉพาะช่วงอาเซียนซัมมิท คือ การประชุมระดับผู้นำประเทศ จะมีทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ประเด็นสำคัญ เช่น การหารือเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด BCG โมเดล เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจสีเขียว จุดยืนอาเซียนต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก บทบาททางสร้างสรรค์ให้กับสถานการณ์ในเมียนมา ความร่วมมือทางเทคโนโลยีนวัตกรรมระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลีอย่างสร้างสรรค์ เป็นต้น

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า หลักใหญ่จะเป็นเรื่องของ BCG โมเดล (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งจะมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ที่เข้าไปมีบทบาทหลัก เรื่องเศรษฐกิจจะเป็นส่วนประกอบเพราะเป็นหนึ่งใน 3-4 ประเด็นใหญ่ทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง เป็นต้น ตนคิดว่าสิ่งที่ประเทศไทยรวมทั้งอาเซียนจะต้องติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด ประเด็นหนึ่ง คือ ความขัดแย้งทางการค้าและการเมืองโลกระหว่างกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้ง สหรัฐฯ อียู จีน ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้ ตนอยากเห็นอาเซียนติดตามเรื่องนี้โดยใกล้ชิดเพราะนอกจากจะมีผลกระทบทางด้านการเมืองของภูมิภาค อาจจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมา ไทยและอาเซียนควรได้มีการหารือกำหนดจุดยืนร่วมกัน เพื่อจะได้มีพลังในการติดตามสถานการณ์และเดินหน้าทางเศรษฐกิจต่อไป

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวด้วยว่า เรื่อง CPTPP ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ภาคเอกชนอยากให้เดินหน้า ภาคประชาสังคมยังมีข้อโต้แย้ง แต่สิ่งหนึ่งที่ตนเคยเสนอไปและพูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คือ เราควรดำเนินการอย่างน้อย 2 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง การหาข้อสรุปจากที่คณะกรรมาธิการของสภาเสนอมาว่าแต่ละกระทรวงแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีประเด็นใดบ้างที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นหรือมีการบ้านกี่ข้อ ซึ่งคณะกรรมการชุดนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายควรมีข้อสรุปในเรื่องนี้ว่า หนึ่งกระทรวงมีการบ้านกี่ข้อทำไปแล้วกี่ข้อ เพื่อจะได้หาข้อสรุปว่าสุดท้ายหน่วยราชการต่าง ๆ มีความพร้อมกี่เปอร์เซ็นต์ จะได้นำมาสู่การพิจารณาต่อไปได้ ประเด็นที่สอง คณะกรรมาธิการชุดนายดอน ควรจะได้ทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่ยังมีความเห็นไม่สอดคล้องกันอยู่เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจดำเนินการต่อไปให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“สำหรับเรื่องเปิดประเทศทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าไปตามนโยบายและทุกฝ่ายต้องเตรียมความพร้อม สำหรับการเดินหน้าให้เป็นไปตามนโยบาย สำหรับตนคิดว่าการแก้ปัญหาโควิดกับเศรษฐกิจต้องทำควบคู่กันไป เราจะไปทิ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ ที่สำคัญเมื่อสถานการณ์โควิดค่อนข้างทรงตัวและเบาบางลง ตนคิดว่าภารกิจของทุกคนคือ เราจะต้องนำเศรษฐกิจฝ่าวิกฤตโควิดไปให้ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพราะฉะนั้นปัจจัยหลัก คือ ความสมดุลระหว่างการแก้ปัญหาโควิดกับเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน เราควรเดินไปทางนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน” นายจุรินทร์ กล่าว