กองทุน ซีพีทีพีพี - เอฟทีเอ แผนรับปรับทัพการค้าโลก

 กองทุน ซีพีทีพีพี - เอฟทีเอ  แผนรับปรับทัพการค้าโลก

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณไทยเดินหน้าเข้าเป็นสมาชิก CPTPP แบบสงวนท่าที โดยจะใช้เวทีเอเปคปีหน้า ประกาศจุดยืนของประเทศไทย และเริ่มการเข้าสู่การเจรจา ส่วนการเยียวยาดูแลผู้ที่ได้ผลกระทบก็เดินหน้าควบคู่กันไปในลักษณะกองทุนที่จะช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

หลังรัฐบาลไทย โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีท่าทีที่ชัดเจนต่อข้อตกลงความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ว่าไทยควรจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกเพื่อร่วมกระบวนการเจรจาก่อนนั้น แม้ในทางปฎิบัติเมื่อการเจรจาเสร็จสิ้นไทยอาจไม่ร่วมภาคีข้อตกลงดังกล่าวหรือในทางกลับกันฝ่ายสมาชิกซีพีทีพีพีอาจไม่รับไทยร่วมภาคีข้อตกลง ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของอนาคต 

สถานการณ์ล่าสุดต่อก้าวย่างสำคัญด้านการค้าระหว่างประเทศของไทยขณะนี้คือการจัดการกับความเข้าใจภายในประเทศ โดยล่าสุดทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการเข้าร่วม CPTPP ผ่านเฟสบุ๊คชื่อ FTA Watchสาระสำคัญส่วนหนึ่งระบุว่า การเข้าร่วม CPTPP อาจส่งผลดีทางเศรษฐกิจบ้างต่อบางกลุ่มธุรกิจ แต่ขัดแย้งและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้านแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า  ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับผลจากข้อตกลงนี้ฯรัฐบาลมีการพิจารณาในหลายด้านโดยเฉพาะข้อเสนอจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบการเข้าร่วมซีพีทีพีพีของประเทศไทยของสภาผู้แทนราษฎร และผลการศึกษาเพิ่มเติมของคณะทำงานที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่ตั้งขึ้น โดยประเด็นที่มีความอ่อนไหว และมีประเด็นที่จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยมากที่สุดก็คือในเรื่องของภาคเกษตร ซึ่งยังมีความกังวลว่าการเข้าร่วมซีพีทีพีพีจะกระทบกับภาคเกษตรของไทย รวมทั้งมีข้อกังวลเกี่ยวกับอนุสัญญาUPOV1991 คืออนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่โดยให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์

ทั้งนี้รัฐบาลได้เตรียมที่จะมีการจัดตั้ง“กองทุนเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาภาคเกษตรจากผลกระทบของการเข้าร่วมซีพีทีพีพี”โดยขนาดของกองทุนเบื้องต้นจะมีขนาดไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท หรืออาจมีขนาดใหญ่กว่านี้ก็ได้ โดยอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน เช่น กระทรงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรงพาณิชย์ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อออกแบบกองทุนฯและที่มาของเงินงบประมาณที่จะมาใช้จัดตั้งกองทุนนี้

สำหรับการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าร่วมซีพีทีพีพีในขณะนี้มีเหตุผลสำคัญ 3 ประการคือ 1.แนวโน้มการเข้าร่วมซีพีทีพีพีของประเทศจีนซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย 

2.แนวโน้มการย้ายฐานการลงทุน (Relocate) ของบริษัทต่างๆเพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันทางการค้า และการขัดแย้ง เช่น กรณีจีน - ไต้หวัน สหรัฐ-จีน และประเทศต่างๆในยุโรปที่เริ่มมีความขัดแย้ง

และ 3.การเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม  แนวคิดจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีในกรอบซีพีทีพีพีนี้ไม่ใช่แนวความคิดใหม่ เนื่องจากขณะนี้ไทยมีกองทุนลักษณะเดียวกันนี้อยู่แล้ว

 กองทุน ซีพีทีพีพี - เอฟทีเอ  แผนรับปรับทัพการค้าโลก

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การจัดตั้งกองทุน เอฟทีเอเบื้องต้นจะมีการขอใช้งบประมาณเพื่อใช้เป็นทุนประเดิมจัดตั้งกองทุนกว่า 5,000 ล้านบาทสำหรับใช้เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อเตรียมความพร้อม ปรับตัว และช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าในรูปแบบต่างๆ

สำหรับที่มาของกองทุนนั้นได้วางไว้ 2 แนวทาง คือ

1.ทุนประเดิมจากรัฐที่จ่ายเพียงครั้งเดียว

และ 2.นำมาจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดการค้าเสรีเข้ามาอุดหนุนกองทุน เช่น รายได้ค่าธรรมเนียมจากการขอใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้เอฟทีเอเพื่อให้กองทุนมีรายได้ต่อเนื่องทุกปีๆ ไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท เบื้องต้นวางทุนประเดิมไว้ที่ 5,000 ล้านบาท

ขณะที่หลักเกณฑ์ในการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอนั้น ได้วางได้ 2 แนวทางเช่นกัน คือ

1. เงินจ่ายขาดสำหรับการวิจัยพัฒนา การจัดหาที่ปรึกษา การฝึกอบรม กิจกรรมที่สนับสนุนการตลาด

2.เงินหมุนเวียน เช่น เงินลงทุนในสิ่งก่อสร้าง โครงการพัฒนาต่างๆ และค่าเครื่องมืออุปกรณ์ พร้อมกับมีหน่วยงานกลางของรัฐ เข้าไปประสานงานและเสนอคำขอรับความช่วยเหลือไปยังหน่วยบริหารกองทุน

เกษตรมีแล้วเอฟทีเอฟันด์กลไกภาคผลิตรับ“ค้าเสรี”

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ในกรณีที่ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก ซีพีทีพีพีและอาจจะส่งผลกระทบกับภาคการผลิตสินค้าเกษตรของไทย นั้น กระทรวงเกษตรฯสามารถจะยกระดับ กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ที่มีอยู่เพื่อ รองรับได้ทันที

เนื่องจาก ซีพีทีพีพีถือเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงการเปิดเขตเสรีทางการค้าเช่นกัน จึงอยู่ในขอบข่ายที่กองทุนเอฟทีเอ ภายใต้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อปี2547 มีทุนหมุนเวียนประเดิมจากรัฐบาล วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยกู้กับสถาบันเกษตรกรสำหรับนำไปปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

ทั้งนี้สถาบันเกษตรกรสามารถเขียนแผนการดำเนินการเสนอผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตร เพื่อกู้ยืมเงินในกองทุนดังกล่าว อัตราดอกเบี้ย 0% ปัจจุบันมีการปล่อยกู้ไปแล้ว1,130 ล้านบาท ถือว่ายังน้อยอยู่ เนื่องจากเกษตรกรทำแผนธุรกิจไม่เป็น

ดังนั้น สศก. จึง ลงนาม ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันให้สถาบันเกษตรกรเข้ามาใช้ประโยชน์จากกองทุนฯมากขึ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น  2 ชุดความร่วมมือ ประกอบด้วย ชุดที่ 1ความร่วมมือทางด้านนโยบายและข้อมูล ประกอบด้วย 8 หน่วยงานคือ สศก. โดยกองทุน FTA ลงนามร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

และชุดที่ 2ความร่วมมือด้านการปฏิบัติงานกับหน่วยงานต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ สศก. โดยกองทุน FTA ลงนามร่วมกับ สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด และ บริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด

“กองทุนนี้มีกฎหมายรองรับ เพื่อปรับขีดความสามารถให้กับภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าอย่างแท้จริงต่างไปจากกองทุนเอฟทีเอของกระทรวงพาณิชย์ ที่มีไว้เพื่อการศึกษา วิเคราะห์ หาผลกระทบเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเน้นไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอไม่มากนัก”