"ประยุทธ์"ส่งสัญญาณ“ซีพีทีพีพี”ดึงลงทุน - สร้างเชื่อมั่นธุรกิจ

"ประยุทธ์"ส่งสัญญาณ“ซีพีทีพีพี”ดึงลงทุน - สร้างเชื่อมั่นธุรกิจ

ครม.ถก “ซีพีทีพีพี” นายกฯส่งสัญญาณร่วมแบบสงวนท่าที กนศ.เล็งชงผลศึกษาเข้า ครม.มั่นใจแจงสภาได้ “หอการค้า” ขานรับสัญญาณเข้าร่วมเจรจา เพิ่มแรงบวกดึงนักลงทุนต่างชาติ  รัฐบาลเตรียมพร้อมเจ้าภาพเอเปกปีหน้า ชู 3 ประเด็น “บีซีจี-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ-การค้าการลงทุน”

การพิจารณาเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) เป็นประเด็น

ที่ยืดเยื้อมาตลอดรัฐบาลชุดนี้ และรัฐบาลสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมซีพีทีพีพี ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการศึกษาตั้งแต่เดือน พ.ย.2563 แต่ปัจจุบันยังไม่มีการสรุปท่าทีของไทย

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. เปิดเผยว่า การประชุม ครม.วานนี้ (12 ต.ค.) มีการหารือการเข้าร่วมซีพีทีพีพี โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นที่คณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ขอให้รัฐบาลตัดสินใจร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี เพื่อสร้างโอกาสการส่งออกและการลงทุนของไทยให้มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีสอบถามถึงความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าวจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ได้พิจารณาข้อเสนอคณะทำงานที่ตั้งขึ้นและสรุปประเด็นสำคัญเพื่อเตรียมเสนอ ครม.เร็วๆนี้ โดยข้อสรุปต่างๆจะตอบข้อคำถามและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมซีพีทีพีพีได้ทุกประเด็น และที่จะชี้แจงกับสภาผู้แทรราษฎรในประเด็นต่างๆได้ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ มีเงื่อนไขส่งมายังรัฐบาลกว่า 100 ข้อ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวสนับสนุนว่าไทยมีความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานที่โดดเด่น รวมทั้งไทยพร้อมเข้าสู่ตลาดสากลได้และพร้อมที่จะพลิกโฉมตัวเอง

จากนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวใน ครม.เพิ่มเติมถึงความจำเป็นในการร่วมซีพีทีพีพี โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกล่าวว่าไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของซีพีทีพีพีในแบบที่เรียกว่า "สงวนท่าที" ในส่วนประเด็นต่างๆที่ยังไม่พร้อม เพื่อขอเจรจาเพิ่มเติมได้ในอนาคต

“การแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการเข้าร่วมซีพีทีพีพีจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และนักธุรกิจ เพราะขณะนี้หลายประเทศมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้หลังจากจีนแสดงท่าทีสนใจที่จะเข้าร่วมข้อตกลงนี้ โดยหากมีการตัดสินใจจากรัฐบาลการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิกรวมทั้งการเจรจากับประเทศต่างๆจะเริ่มปี 2565 ”

“หอการค้า”ชี้สัญญาณดี

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีมีท่าทีเดินหน้าขอร่วมเจรจาซีพีทีพีพีถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ไม่ได้หมายความไทยเข้าเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีแล้ว เพราะการเจรจาจะต้องใช้เวลาหลายปี และถ้าไทยไม่เข้าร่วมเจรจาจะไม่รู้ว่าสิ่งใดจะเป็นข้อต่อรองของไทย และจะได้เตรียมตัวสำหรับการเจรจาข้อตกลงต่างๆ ซึ่งแต่ละข้อตกลงจะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านอาจเป็น 10-15 ปี หรือ 20 ปี ก็ได้

อีกทั้งหากได้เข้าร่วมแล้วไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทันที เพราะแต่ละเรื่องจะมีเวลาสำหรับการเปลี่ยนผ่านในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านการปรับปรุงกฏหมายซึ่งเป็นเรื่องของภาครัฐ ขณะที่ผู้ประกอบการหรือเอกชนก็ต้องมีการปรับตัวเองในช่วงเปลี่ยนผ่านด้วย ซึ่งแต่ละประเทศเองก็มีแผนการพัฒนาประเทศอยู่แล้ว

“ท่าทีรัฐบาลที่ออกมาอย่างน้อยมีความชัดเจนจะเป็นแรงบวกต่อเศรษฐกิจช่วงนี้ โดยเฉพาะการลงทุนต่างชาติที่จะดึงให้หันกลับมามองไทย เพราะต่างชาติมองหลายประเทศ หากไทยไม่มีท่าทีเรื่องนี้จะขาดเสน่ห์หรือแรงดึงดูดทำให้ไม่เป็นประเทศที่อยู่ในตัวเลือกอันดับต้น“

หลายชาติยื่นเป็นสมาชิกใหม่

ปัจจุบันมีหลายประเทศแสดงความจำนงที่จะเข้าร่วมเจรจาซีพีทีพีพี หากไทยยังช้าก็จะมีปัญหาต่อไป หากเราตัดสินใจเข้าร่วมเราต้องเจรจาเพิ่มอีกหลายประเทศจากเดิม แต่ขณะนี้ยังเป็นโอกาสของที่จะเจรา เพราะประเทศที่ยื่นก็อยู่ในระหว่างการแสดงขอเข้าร่วมเจรจาเช่นกัน ซึ่งประเทศที่ก้าวเข้าร่วมเจรจาก่อนย่อมได้เปรียบ

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับข้อกังวลของภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม ถือเป็นเรื่องดีที่จะนำมาหารือหาทางออกร่วมกัน เช่น ข้อกังวลที่รัฐต้องนำไปแก้กฎหมายหรือต้องเยียวยาปรับตัวสู้กับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งโลกการค้าปัจจุบันเปลี่ยนไปทั้งกฎและกติกาจึงต้องปรับตัว และภาคเอกชนต้องการให้รัฐเดินหน้าร่วมเจรจา เพราะหากไม่เข้าร่วมเจรจาจะเสียตลาดการค้าเพิ่มและความน่าสนใจการลงทุนจะลดลงด้วย

หวั่นเงื่อนไขสมาชิกยากขึ้น

รายงานข่าวจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า กกร.ได้หารือการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2564 โดย กกร.ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการเกี่ยวกับการเข้าร่วมการเจรจา CPTPP

รวมทั้ง กกร.นำเสนอผลการศึกษาของภาคเอกชนและเร่งรัดการพิจารณา เนื่องจากปัจจุบันจีน สหราชอาณาจักรและไต้หวัน ได้มีเจตจำนงเข้าร่วมเจรจากับ CPTPP อย่างชัดเจนแล้ว และหากไทยล่าช้ากว่านี้อาจทำให้ต้องเจรจาตามเงื่อนไขของประเทศทั้ง 3 เพิ่มจากเดิมที่ต้องเจรจา 11 ประเทศ ที่เป็นสมาชิกปัจจุบัน และทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์

นอกจากนี้ คณะทำงาน FTA กกร.สรุปประเด็น ดังนี้ 

1.เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งไทยควรติดตามความคืบหน้าในการขอเข้าร่วมของจีนและไต้หวันต่อเนื่อง

2.กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ประเมินกรณีการขยายจำนวนสมาชิกจะเพิ่มความน่าสนใจให้ CPTPP และไทยต้องประเมินประโยชน์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างรอบคอบ โดยกรณีที่จีนเข้าร่วมจะทำให้ CPTPP มีขนาดใหญ่ขึ้นมีประชากร 1,900 ล้านคน คิดเป็น 25% ของประชากรโลก รวมทั้งมีมูลค่า GDP ประมาณ 25.3 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 30% ของ GDP โลก

ซัพพลายเชนจีนแข็งแกร่งขึ้น

3.การสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีนเป็นการเพิ่มพันธมิตรขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในห่วงโซ่การผลิตของ CPTPP หรือ Regional supply chain ที่จะเสริมความแข็งแกร่งของจีน เพราะความตกลงฉบับนี้กำหนดให้สมาชิกต้องลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บระหว่างกันให้ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุดหรือเกือบครบทุกรายการสินค้า

4.กฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสมาชิก กฎระเบียบที่ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งกฎเกณฑเ์หล่านี้จะทำให้สมาชิก CPTPP ได้เปรียบประเทศที่มิใช่สมาชิกเมื่อเข้าไปอยู่ในวงห่วงโซ่ Regional supply chain หรือการเสียประโยชน์หากอยู่นอกวงเพราะห่วงโซ่ใหม่นี้จะรวมจีนเข้าด้วย

5.ไทยยังไม่ตัดสินใจร่วม CPTPP หรือไม่และได้ทำความตกลงเปิดเสรีการค้า (FTA) กับสมาชิก CPTPP 9 ประเทศ จาก 11 ประเทศ ขาดเม็กซิโกกับแคนาดาที่เตรียมทำข้อตกลง FTA อาเซียน-แคนาดา จึงถือว่าไทยมีช่องทางเข้าตลาดสมาชิก CPTPP ผ่าน FTA ได้

นายกฯหวัง ครม.ร่วมดันเอเปค

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ครม.ได้หารือการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Asia Pacific Economic Cooperation : APEC) โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวกับ ครม.ว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมที่สำคัญ ซึ่งเกิดขึ้นในรอบกว่า 20 ปี ถือเป็นการประชุมที่สำคัญกับประเทศมาก ซึ่งขณะนี้เรื่องการเมืองจึงไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงอยากให้ ครม.อยู่ร่วมกันทำงานแบบนี้ให้ผ่านพ้นงานสำคัญครั้งนี้ก่อน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมเอเปค โดยเอเปค ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ปัจจุบันมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพ APEC ปี 2565 โดยรับช่วงจากนิวซีแลนด์วันที่ 12 พ.ย.2564 ซึ่งคณะกรรมการฯ รายงานความคืบหน้าการพัฒนาผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและข้อริเริ่มโครงการภายใต้ 3 ประเด็น ได้แก่

1.การส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมภายใต้ BCG Economy 

2.การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน 

3.การฟื้นฟูความเชื่อมโยงโดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19

“ไทยพร้อมผลักดันวาระของรัฐบาล โดยเฉพาะ BCG Economy ในความร่วมมือระหว่างประเทศ และการฟื้นตัวหลังโควิด-19 จะเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำโลกใช้โอกาสนี้หารือ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ไทยได้แสดงศักยภาพและเป็นเวทีนานาชาติ”