อยากเป็น ‘แม่ค้าออนไลน์’ ก่อนเริ่มขายต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง?

อยากเป็น ‘แม่ค้าออนไลน์’ ก่อนเริ่มขายต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง?

ชวน "แม่ค้าออนไลน์" มือใหม่ มารู้จัก 7 ข้อต้องรู้! เพื่อเตรียมตัวก่อนการเริ่มต้นอาชีพค้าขายออนไลน์ เพราะการขายของออนไลน์ที่เห็นว่าเฟื่องฟูมากในยุคนี้ ดูผิวเผินเหมือนจะง่าย แต่จริงๆ มันยากกว่าที่คิด

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าวงการค้าขายออนไลน์ในยุคนี้เฟื่องฟูมาก หลายคนอยากเป็น "แม่ค้าออนไลน์" เพื่อหารายได้เสริม หรือแม้กระทั่งเป็นรายได้หลัก เหตุเพราะ "โควิด" ทำชีวิตเปลี่ยน ว่าแต่..การจะเริ่มต้นอาชีพนี้ ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนไปรู้จักบทเรียน "แม่ค้าออนไลน์" มือใหม่ ฉบับ 101 เอาไว้เป็นคู่มือเบื้องต้นสำหรับคนที่อยากทำอาชีพนี้จริงๆ 

1. เช็ค ข้อดี-ข้อเสีย ก่อนเริ่มธุรกิจ “ขายออนไลน์”

รู้หรือไม่? การขายของออนไลน์ในยุคนี้เป็นที่นิยมมาก มีข้อมูลรายงานว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2020 มีมูลค่าเติบโตสูงถึงกว่า 2 แสนล้านบาท  และหากดูผิวเผิน เหมือนว่าใครๆ ก็สามารถขายของออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย เพราะมีแพลทฟอร์มมากมายให้เลือก

แต่อย่าลืมว่า ในเมื่อช่องทางมันง่าย จึงมีผู้คนจำนวนมากกระโจนลงมาในสนามนี้ เกิดการแข่งขันทางการค้าที่ดุเดือด และก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกคน ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจเริ่มอาชีพ “แม่ค้าออนไลน์” ควรรู้ข้อดี-ข้อเสียในการทำธุรกิจ “ขายของออนไลน์” เสียก่อน ดังนี้

*ข้อดี*

  • ต้นทุนการขายต่ำ ลดต้นทุนการเดินทาง
  • ตอบคุยกับลูกค้าได้ทุกที่ แค่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
  • ทำงานคนเดียวได้ ไม่ต้องจ้างลูกจ้าง
  • มีเครื่องมือรายงานสถิติ เสนอขายตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
  • ลูกค้าเข้าถึงได้ตลอดเวลา ไม่เสียเวลาเดินทาง
  • เปิดร้านค้าขายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • ไม่ต้องมีสต็อกสินค้า ก็สร้างร้านได้
  • ช่วยเพิ่มกลุ่มลูกค้าให้ธุรกิจออฟไลน์

*ข้อเสีย*

  • การแข่งขันสูง โดนตัดราคาง่าย
  • ผู้ซื้อ/ผู้ขาย ต้องมีความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ต
  • ขายของคล้ายกันหลายร้าน ค้นเจอยาก
  • มีค่าใช้จ่าย ดูแล/ออกแบบหน้าเว็บให้สวยงาม
  • เสี่ยงต่อการถูกแฮก/แจ้งสแปม ทำให้ร้านโดนปิด
  • สินค้าจับต้องไม่ได้ แสดงแต่รูปสินค้าเท่านั้น
  • มีระยะเวลารอจัดส่งสินค้า ลูกค้าอาจต้องเสียค่าจัดส่งเพิ่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 

2. สินค้าอะไรขายออนไลน์ ได้บ้าง?

คำตอบคือ.. สามารถขายได้ทุกอย่างที่ “ถูกกฎหมาย” ไม่ได้มีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับความพอใจและเชื่อใจกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แต่อาจแบ่งให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ได้แก่

  • สินค้าที่จับต้องได้ เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องประดับ เสื้อผ้าเด็ก ของเล่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม อาหารแห้ง อุปกรณ์ไอที เครื่องดนตรี สินค้าแฮนเมด อุปกรณ์แต่งบ้าน-แต่งรถ ฯลฯ
  • สินค้าที่จับต้องไม่ได้ เช่น แอพพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ เพลง ไอเทมในเกม ฯลฯ
  • สินค้าด้านบริการ เช่น บัตรกำนัลดิจิทัล ตั๋วเครื่องบิน โรงแรมที่พัก บริการสปา เสริมสวย ฯลฯ

  

.

3. เช็ค 7 ข้อเตรียมตัวเป็น “แม่ค้าออนไลน์”

สิ่งที่ต้องเรียนรู้ในลำดับถัดมาก็คือ การเตรียมตัวก่อนเปิด “ร้านค้าออนไลน์” ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง? เมื่อเปิดขายจริงจะได้ค้าขายไม่ติดขัด ช่วยให้ทำยอดขายได้ดี และลดโอกาสขาดทุน โดยเราสรุปมาให้รู้กัน 7 ข้อ ดังนี้

3.1) กำหนดงบลงทุน และเลือกสินค้าที่จะขาย

"งบลงทุน" เป็นสิ่งแรกที่ต้องวางแผนงบการขายสินค้า เพราะจะเป็นตัวกำหนดกรอบวงเงินให้กับร้านค้าของเรา ป้องกันงบบานปลาย จากนั้นก็ต้อง "หาสินค้ามาขาย" ควรเริ่มต้นจากความชอบของผู้ค้า และเช็คความต้องการของลูกค้าในตลาดด้วย ควรลงพื้นที่สำรวจสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีตรงกับความต้องการมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น 

  • ตลาดโรงเกลือ : เน้น “สินค้ามือสอง” เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ผ้าห่ม ของแต่งบ้าน ฯลฯ
  • ตลาดโบ๊เบ๊/สำเพ็ง/ประตูน้ำ : เป็นแหล่งค้าส่งในไทย ได้ของมือหนึ่งในราคาถูก 
  • OTOPToday : แหล่งรวมสินค้าโอท็อป สินค้าแฮนด์เมด สินค้าสุขภาพ/สมุนไพร คลิกที่นี่ 
  • VoucherToday : แหล่งรวมบัตร Voucher ไว้ซื้อเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บัตรช้อปปิ้ง คลิกที่นี่

3.2) ช่องทางการขาย เลือกให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย

ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์มีหลากหลาย เช่น ขายบน เว็บไซต์ ที่เปิดใหม่ขึ้นเอง หรือขายผ่านแพลทฟอร์ม e-Marketplace เช่น Shopee, Lazada ก็สะดวกง่ายดาย หรือจะขายผ่าน Social Commerce อาทิ Facebook, IG, Line ก็เป็นที่นิยมเช่นกัน

ทั้งนี้ควรศึกษาลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และการเข้าถึงของลูกค้า เพื่อที่จะได้เลือกช่องทางการขายได้ตรงกับการใช้งานกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด

3.3) ทำการตลาดบนโซเชียลมีเดีย

ต้องให้ความสำคัญกับ “การตลาดออนไลน์” หรือการโปรโมทร้านค้าผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, TikTok, Twitter, Instagram, Line หรือ YouTube เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขายและการตลาด สื่อเหล่านี้สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายและรวดเร็ว ผู้ซื้อและผู้ขายโต้ตอบกันได้ทันที ช่วยประหยัดต้นทุนการโปรโมทได้มาก

3.4) บริหารจัดการ “เวลา” ให้ดี

ก่อนจะเริ่มขายออนไลน์จริง ควรเตรียมการและซักซ้อมเรื่องการบริหาร “เวลา” ให้ดี เนื่องจากการขายออนไลน์จะมีการซื้อ-ขายกันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ค้าต้องตั้งรับจุดนี้ให้ได้ เพื่อไม่ให้การค้าขายทำสมดุลชีวิตพัง สามารถใช้เทคโนโลยี “แชทบอท” (Chatbot) ซึ่งเป็นโปรแกรมสื่อสารข้อความอัตโนมัติ ให้แจ้งข้อมูลเบื้องต้น เช่น ราคาและรายละเอียดสินค้า เพื่อตอบกลับลูกค้าได้รวดเร็วโดยไม่ต้องคอยเฝ้าแชท 24 ชั่วโมง

3.5) ช่องทางการชำระเงิน ลูกค้าต้องสะดวกที่สุด

ผู้ค้าควรจัดเตรียมช่องทางการชำระเงินให้มีความหลากหลาย เพื่อความสะดวกแก่ลูกค้าเวลาชำระเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินปลายทาง, การโอนจ่ายเงินผ่าน e-Banking, การจ่ายผ่านบัตรเครดิต/เดบิต, จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส, จ่ายผ่านบัญชีออนไลน์อื่น ๆ (PayPal, Rabbit LINE pay, mPay) รวมถึงควรระบุค่าธรรมเนียมในการจัดส่งให้ชัดเจนด้วย

อีกทั้ง ต้องใส่ใจลูกค้าและรับผิดชอบหากเกิดกรณีผิดพลาด เช่น หากส่งสินค้าผิดหรือสินค้าเสียหาย(จากต้นทางที่ร้าน) อาจรับผิดชอบโดยการโอนเงินคืนให้ลูกค้า หรือเปลี่ยนสินค้าให้ใหม่ฟรี เป็นต้น

3.6) เข้าใจการยื่นภาษีของ “ร้านค้าออนไลน์”

รู้หรือไม่? อาชีพ "ขายของออนไลน์" พ่อค้าแม่ค้าก็ต้อง “ยื่นภาษี” เช่นกัน ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ค้าออนไลน์ที่มีรายได้ทางเดียวจากการขายของออนไลน์ หรือจะเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ขายของออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ต่างก็ต้องยื่นภาษี 2 แบบ คือ ภ.ง.ด. 94 และ ภ.ง.ด. 90 โดยจะต้องยื่นภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนด อ่านเพิ่ม : 'ขายของออนไลน์' ต้อง 'เสียภาษี' หรือไม่ ?

3.7) จัดส่งสินค้าต้องเร็ว ราคาไม่แพง

การจัดส่งสินค้าก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องศึกษาให้ดี ต้องเลือกระบบขนส่งสินค้าที่ส่งของได้เร็ว ง่าย สะดวก มีบริการที่ดี ที่สำคัญคือ ค่าส่งไม่แพง เพื่อให้ “แม่ค้าออนไลน์” ได้กำไรมากขึ้น อาจพิจารณาจากบริการต่างๆ ของระบบขนส่งส่ง เช่น

  • มีบริการการนัดหมาย Pick up Service ถึงที่ ฟรี!
  • มีบริการเก็บเงินปลายทางให้ลูกค้า
  • มีบริการส่งเร็ว/ส่งราคาถูก ให้ลูกค้าเลือกได้ตามต้องการ

---------------------------

อ้างอิง : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์postfamily