ชะตากรรม ‘จาง อี้หมิง’ เจ้าพ่อติ๊กต็อก

ชะตากรรม ‘จาง อี้หมิง’ เจ้าพ่อติ๊กต็อก

หากพูดถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่ผู้ทรงอิทธิพลในจีน ชื่อ “จาง อี้หมิง” จากไบต์แดนซ์เจ้าของแพลตฟอร์มวีดิโอสั้นยอดนิยม “ติ๊กต็อก” (TikTok) ถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ

สัปดาห์ก่อนจางประกาศจะลาออกจากตำแหน่งอ้างว่าเพราะขาดทักษะการบริหาร ชอบ “อ่านหนังสือแล้วฝันกลางวัน” มากกว่าบริหารบริษัทเทคโนโลยี เรื่องนี้น่าจะมีเงื่อนงำ 

ช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลปักกิ่งเข้มงวดกับภาคเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยการเรียกค่าปรับ ไบต์แดนซ์เองก็เพิ่งโดนไปเมื่อเดือนก่อน จากข้อกล่าวหาฝ่าฝืนกฎหมายผูกขาด พร้อมออกคำเตือนแข็งกร้าวต่อกลุ่มอภิมหาเศรษฐีผู้บริหารบริษัทดิจิทัลให้รู้จักรับผิดชอบสังคม

ต่อมาวันที่ 20 พ.ค.จาง อี้หมิงประกาศว่า เขาจะลาออกจากตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เปลี่ยนไปรับบทบาทใหม่ภายในสิ้นปีนี้ โดยเน้นที่ยุทธศาสตร์ระยะยาว แล้วให้ “เหลียง รู่โป” ที่ช่วยกันตั้งไบต์แดนซ์มารับหน้าที่ซีอีโอแทน

จางเผยเรื่องนี้ผ่านบันทึกภายในแบบเปิดใจอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน “ความจริงคือ ผมขาดทักษะการเป็นผู้จัดการในอุดมคติ ผมสนใจเรื่องการวิเคราะห์หลักการจัดองค์การและการตลาดมากกว่าจะมาจัดการจริงๆ” เขาย้ำด้วยว่า ไม่ชอบเข้าสังคม “ชอบทำกิจกรรมคนเดียวมากกว่า เช่น เล่นอินเทอร์เน็ต อ่านหนังสือ ฟังเพลง และฝันกลางวันเรื่องที่อาจจะเป็นไปได้”

จาง วัย 38 ปี ได้ชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีเทคโนโลยีหน้าใหม่รายหนึ่งของเอเชีย ดัชนีอภิมหาเศรษฐีของบลูมเบิร์กรายงานว่า ความมั่งคั่งสุทธิของจางอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ร่ำรวยเป็นอันดับ 5 ของจีน

ก่อนหน้านี้จางเคยถูกกดดันอย่างหนักให้อธิบายกับโลกว่าติ๊กต็อกจะไม่ส่งข้อมูลผู้ใช้ให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน พร้อมกันนั้นเขาก็ต้องรักษาภาพลักษณ์ตนเองในบ้านเกิดด้วยการไม่ทำตัวตอบสนองความต้องการของโลกตะวันตก

ข่าวเรื่องจางลาออกเกิดขึ้นในช่วงที่ปักกิ่งกำลังจัดการกับอิทธิพลใหญ่หลวงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนของยักษ์เทคโนโลยีจีนบางราย

เดือนก่อนยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอย่างอาลีบาบาถูกปรับ 1.82 หมื่นล้านหยวน (2.78 พันล้านดอลลาร์) ส่วนหนึ่งของความพยายามควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัลดัง

เมื่อปัญหาของอาลีบาบาประเดประดังเข้ามา แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งก็หายหน้าหายตาไปจากสังคม หลังจากมีการคาดเดากันว่า เขาน่าจะแสดงความเห็นไม่เข้าหูรัฐบาล จนคณะกรรมการกำกับดูแลต้องลงดาบอาลีบาบา

สำหรับไบต์แดนซ์ เป็น 1 ใน 34 บริษัทเทคโนโลยีที่คณะกรรมการกำกับดูแลเรียกเข้าพบเมื่อเดือน เม.ย. ได้รับคำสั่งให้ดำเนินการ“แก้ไขให้ถูกต้องอย่างสมบูรณ์” และ “ดูคำเตือนของอาลีบาบา” เป็นตัวอย่าง

ความยิ่งใหญ่ของติ๊กต็อกนั้นเชื่อกันว่ามีผู้ใช้ราว 1,000 ล้านคนทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐกว่า 100 ล้านคน ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เขาแสดงความกังวลเรื่องความปลอดภัยของแพลตฟอร์มนี้หลายระลอก พร้อมเรียกร้องให้ขายปฏิบัติการติ๊กต็อกในสหรัฐให้บริษัทอเมริกันไม่เช่นนั้นก็ปิดไปเลย

ไบต์แดนซ์ถูกห้ามใช้และถูกสั่งปรับในสหรัฐและปากีสถานจากเนื้อหาหรือการเก็บข้อมูล และถูกบล็อกในอินเดียหลังจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลเดลีกับปักกิ่งตึงเครียด

ไบต์แดนซ์ยืนกรานว่าไม่เคยให้ข้อมูลผู้ใช้กับรัฐบาลจีน ตอนนี้บริษัทมีพนักงานกว่า 60,000 คนใน 30 ประเทศ ปีก่อนจางเคยบอกว่าเขากำลังหาคนเพิ่มอีกราว40,000 คน

จะว่าไปแล้วไบต์แดนซ์ไม่ได้มีดีแค่ติ๊กต็อก แต่ยังมีแอพพลิเคชั่นยอดนิยมอีกมากมาย เช่น โต่วอิน หรือติ๊กต็อกเวอร์ชันจีน แอพรวบรวมข่าว “จิ่นรี่โถวเถียว” และแอพเพิ่มประสิทธิภาพ Lark ซึ่งมีฟังก์ชั่นการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ ฟังก์ชั่นแชทและปฏิทิน

ปีก่อนมีรายงานข่าวว่าไบต์แดนซ์มีแผนนำธุรกิจบางอย่างเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ที่อาจมีมูลค่าถึง 1.8 แสนล้านดอลลาร์

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตจาง อดีตโปรแกรมเมอร์ จับมือกับเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยและรูมเมต เหลียง รู่โป เริ่มทำไบต์แดนซ์ในปี 2555

จางเล่าว่า เขาทั้งคู่เป็นคนรักคอมพิวเตอร์ ซื้อคอมพิวเตอร์และจอมาใช้ด้วยกัน สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของจีนในเมืองเทียนจินทางภาคเหนือของประเทศ

จางช่วยเพื่อนนักศึกษาติดตั้งคอมพิวเตอร์จนขึ้นชื่อ ทำให้เขาได้พบกับหวานใจวัยเรียนจนแต่งงานกันในที่สุด

ในบันทึกอำลาตำแหน่งจางบอกด้วยว่า เขาจะไปเน้นงานด้านสังคม ที่ตอนนี้เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้บริจาคอันดับต้นๆ ของจีนอยู่แล้วแต่เขาอำลาตำแหน่งในช่วงที่รัฐบาลปักกิ่งมุ่งจัดการยักษ์ใหญ่ดิจิทัลที่มีอิทธิพลมหาศาลต่อผู้บริโภคจีนหลายล้านคนบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งจึงถูกกดดันอย่างหนัก

การลาออกจากตำแหน่งของจางคล้ายๆ กับนักธุรกิจเทคโนโลยีคนดังรายอื่นๆ เช่น โคลิน หวง จากยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ “พินตั่วตั่ว”

“สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบสำหรับบริษัทเทคโนโลยีในจีนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จำเป็นต้องใช้พลังงานและความพยายามมาก การสวมหมวกสองใบในบริษัทใหญ่อย่างไบต์แดนซ์นั้นเครียดมาก” เจิ้น เหมิง ผู้อำนวยการธนาคารเพื่อการลงทุนชานสันแอนด์โคในกรุงปักกิ่งให้ความเห็น

ไบต์แดนซ์ที่เพิ่งตั้งมาไม่กี่ปีภาคภูมิใจมากกับการใช้เอไอปรับหน้าฟีดให้สอดคล้องกับความสนใจของผู้ใช้ ด้วยความกระตือรือร้นอยากตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

จางกล่าวว่า ความสำเร็จของบริษัทเกิดจาก “ความสามารถสร้างนวัตกรรมได้ถูกเวลา”

“ไบต์แดนซ์อิ่มตัวพอให้เขาถอยออกมาได้แล้ว ตอนนี้เขาสามารถเลือกทำในสิ่งที่คิดว่าสำคัญได้ เช่น ไม่เป็นซีอีโอที่ต้องรับมือกับเรื่องหนักๆ” เก๋อ ยั่น นักวิเคราะห์จากดีแซดที รีเสิร์ช ในสิงคโปร์กล่าว

อย่างไรเสียคนที่ประกาศตัวว่า เป็นนักฝันกลางวันก็ต้องเจอกับแรงกดดันใหญ่หลวงในการทำให้โลกเชื่อว่า ติ๊กต็อกจะไม่ส่งข้อมูลให้พรรคคอมมิวนิสต์จีน

สำหรับจาง แรงกดดันนั้นทำให้เขาต้องแสวงหาชีวิตการทำงานที่ตรงไปตรงมามากขึ้น ในการออกจากตำแหน่งซีอีโออดีตโปรแกรมเมอร์รายนี้หวังจะมี “พื้นที่” เพื่อมีมุมมองต่อบริษัทอย่างมีเป้าหมายมากขึ้น