แนวโน้ม 'การจัดเก็บภาษี' จาก 'ECO Car'

แนวโน้ม 'การจัดเก็บภาษี' จาก 'ECO Car'

ทำความเข้าใจ "การจัดเก็บภาษี" จากรถยนต์ และแนวโน้มการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะ ECO Car ที่ปัจจุบันมีเป้าหมายจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

ยานพาหนะประเภทรถยนต์ กลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของประชาชนในปัจจุบันไม่ว่าในประเทศใด ดังจะเห็นได้จากจำนวนยอดจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ในปัจจุบันของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งไม่มีแนวโน้มว่าจะลดจำนวนลงอย่างเป็นนัยสำคัญแต่อย่างใด

ความต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ รวมถึงความต้องการใช้รถยนต์ ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์สาธารณะ เป็นจุดเชื่อมโยงอย่างหนึ่งที่นานาประเทศ รวมถึงประเทศไทยนำมาใช้จัดเก็บภาษีอากร ดังจะเห็นได้จากกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีแต่ละชนิด เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้ารถยนต์ ภาษีสรรพสามิตจากรถยนต์ ภาษีประจำปีรถยนต์ อากรแสตมป์ที่เกี่ยวกับรถยนต์ หรือภาษีศุลกากรจากการนำเข้าหรือส่งออกรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บภาษีข้างต้นก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศอย่างมหาศาล

ผลการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ใน Consumption Tax Trends 2020 : VAT/GST and Excise Rates, Trends and Policy Issues พบว่ารถยนต์มีการจัดเก็บภาษีหลายชนิด ได้แก่

1.ภาษีที่จัดเก็บจากการซื้อและจดทะเบียนทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์เก่า

2.ภาษีที่จัดเก็บเป็นประจำทุกปีจากการเป็นเจ้าของหรือการใช้รถยนต์

3.ภาษีที่จัดเก็บจากน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์

4.ภาษีที่จัดเก็บจากน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยาน และ

5.ภาษีชนิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเจ้าของหรือการใช้รถยนต์ เช่น ภาษีศุลกากร ภาษีประกันภัย ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บจากการใช้ทางด่วน หรือภาษีที่จัดเก็บจากการขนส่ง เป็นต้น

การจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ยังมีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบภายนอกที่เกิดจากการคมนาคมอีกด้วย ตัวอย่างของผลกระทบภายนอกทางลบ เช่น มลภาวะที่เกิดจากการใช้รถยนต์หรือการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและนำมาซึ่งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นต้น ดังนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปและในอนาคต แนวโน้มของการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์จะเป็นการจัดเก็บภาษีเพื่อเป้าหมายในการลดผลกระทบภายนอกที่เกิดจากการคมนาคมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หากจำแนกการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ออกเป็นการจัดเก็บภาษีจากการขายและจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ และการจัดเก็บภาษีจากความเป็นเจ้าของและการใช้รถยนต์แล้ว หลายประเทศได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มากำหนดเป็นเงื่อนไขของการจัดเก็บภาษี โดยมีเป้าหมายเพื่อจูงใจให้ประชาชนในประเทศหันมาใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เพิ่มมากขึ้น

1.การจัดเก็บภาษีจากการขายและจดทะเบียนรถยนต์ใหม่ มีการนำมูลค่าของรถยนต์ การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ น้ำหนักของรถยนต์ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เชื้อเพลิงของรถยนต์ กำลังแรงม้า ความจุกระบอกสูบ อายุของรถยนต์ อัตราการใช้เชื้อเพลิง ประเภทของรถยนต์ อุปกรณ์ความปลอดภัย อุปกรณ์บำบัดไอเสีย แบบตัวถัง รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าหรือน้ำหนักบรรทุกสูงสุด เป็นต้น มากำหนดเป็นเงื่อนไขของการจัดเก็บภาษี

2.การจัดเก็บภาษีจากความเป็นเจ้าของและการใช้รถยนต์ มีการนำประเภทของรถยนต์ที่ใช้เพื่อการพาณิชย์และรถยนต์ส่วนบุคคล น้ำหนักรถยนต์ กำลังแรงม้า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า น้ำหนักบรรทุกสูงสุด ราคารถยนต์ น้ำหนักกดเพลาล้อ ประเภทของระบบรับน้ำหนัก จำนวนเพลาล้อ จำนวนที่นั่งหรือพื้นที่ในการใช้รถยนต์ เป็นต้น มากำหนดเป็นเงื่อนไขของการจัดเก็บภาษี

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นถูกนำมากำหนดเป็นเงื่อนไขของการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ในแต่ละประเทศ แต่อาจมีหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่มีความแตกต่างกันไป เช่น รถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบมากกว่าเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่ารถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบน้อยกว่า รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าได้รับการยกเว้นภาษี รถยนต์ใหม่เสียภาษีในอัตราภาษีที่น้อยกว่ารถยนต์เก่า หรือการยกเว้นหรือลดภาษีให้กับแบตเตอรี่ที่นำมาใช้เป็นพลังงานของรถยนต์ เป็นต้น

ในท้ายสุดนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่า การจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีแนวโน้มทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจัยที่นำมาเป็นเงื่อนไขของการจัดเก็บภาษีจากรถยนต์ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นถูกนำมากำหนดไว้ในกฎหมาย และมีการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายการสร้างรายได้จากการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าทั้งสองเป้าหมายนี้สามารถคำนวณและกำหนดออกเป็นตัวเลขได้ทั้งสิ้น