“เอฟเอโอ”ออกรายงานเตือน"อหิวาต์หมู"ระบาดหนักในเอเชีย

“เอฟเอโอ”ออกรายงานเตือน"อหิวาต์หมู"ระบาดหนักในเอเชีย

ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศมีทั้งสิ้น 187,993 ราย แยกเป็นเกษตรกรรายย่อย 184,091 รายเกษตรกรรายใหญ่ 3,181 ราย มีมูลค่าการส่งออกหลักหลายหมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้กำลังถูกท้าทายจากโรคระบาดในสุกรอย่างหนัก

รายงานสถานการณ์โรคอหิวาต์สุกร (เอเอสเอฟ) ฉบับล่าสุดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ระบุ เอเอสเอฟเป็นโรคจากเชื้อไวรัสที่มีผลต่อสุกรและหมูป่า ตั้งแต่เดือน ส.ค.2561 พบในหลายพื้นที่ดังนี้ จีน พบในมณฑลอานฮุย เฮย์หลงเจียง เหอหนาน จี๋หลิน เหลียวหนิง เจียงซู เจ้อเจียง ชานซี ยูนนาน หูหนาน กุ้ยโจว หูเป่ย์ เจียงซี ฝูเจี้ยน เสฉวน ฉ่านซี ชิงไห่ กวางตุ้ง กานซู ชานตง   ไห่หนาน เมืองเทียนจิน ฉงชิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเทศบาลปักกิ่ง เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน หนิงเซี่ยหุย กวางสีจ้วง ซินเจียอุยกูร์ และทิเบต เขตบริหารพิเศษฮ่องกง 

กระทรวงเกษตรจีนยืนยันการระบาดครั้งแรกที่มณฑลเหลียวหนิง เมื่อวันที่ 3 ส.ค.2561 โดยเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงยืนยันการระบาดใหม่ที่มณฑลกวางตุ้ง ในฟาร์มแห่งหนึ่งที่เมืองเม่ยโจว เขตผิงหยวน เป็นฟาร์มเลี้ยงสุกร 1,015 ตัว สงสัยว่าเป็นเพราะการลักลอบขนส่งสุกร ติดเชื้อตายรวม 214 ตัว ที่เหลือถูกเชือดแล้วกำจัด

นอกจากนี้ ยังพบที่มองโกเลีย ,เวียดนามซึ่งกระทรวงเกษตรยืนยันเอเอสเอฟ ระบาดครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2562 พบในทุกจังหวัดและเทศบาล โดยเอเอสเอฟทำให้เวียดนามสูญเสียสุกรไปแล้วราว 6 ล้านตัว แต่ภายในสิ้นปี 2563 ยอดรวมแม่สุกรเพิ่มเป็น 3 ล้านตัว จำนวนสุกรโดยรวมกว่า 26 ล้านตัว คิดเป็น 85% ของระดับก่อนที่เอเอสเอฟระบาด 

ขณะที่กัมพูชา พบใน จ.รัตนคีรี ตโบงฆมุม สวายเรียง ตาแก้ว กันดาล  ด้านเกาหลีเหนือ พบใน จ.ชากัง ส่วนสปป.ลาว พบในทุกจังหวัดและเทศบาล,เมียนมา พบในรัฐฉาน คะฉิ่น กะยา และเขตสะกาย,เกาหลีใต้ พบที่ จ.คย็องกี กังวอน และเมืองอินชอน นอกจากนี้ยังพบที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ติมอร์เลสเต ปาปัวนิวกินี รวมถึงที่อินเดียด้วย

161296145653

น.สพ.บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์  เปิดเผยว่า ในขณะนี้ยืนยันว่าไทยยังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ เอเอสเอฟ โดยมีการรายงานต่อองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE อย่างต่อเนื่อง ถึงสถานการณ์และมาตราการเฝ้าระวังทั้งเชิงรุกและรับ

สำหรับมาตรการเชิงรุก ได้เก็บตัวอย่างโรงฆ่าสัตว์ทั่วประเทศ ทั้งการนำสุกรเข้าโรงฆ่าและซากสุกรที่นำออกจำหน่ายว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ สั่งการให้อาสาสมัครของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ เข้าไปตรวจเยี่ยมฟาร์มพร้อมให้บริการแนะนำมาตรฐานฟาร์ม แนวทางจำกัดซากในกรณีที่มีการป่วยหรือตาย ซึ่งเกษตรกรสามารถแจ้งผ่านแอพลิเคชั่นของกรมปศุสัตว์ได้ทันที

ด้านการเคลื่อนย้ายสุกรออกจากฟาร์มทั้งในเขตและข้ามเขต จะเก็บตัวอย่างฟาร์มก่อนเคลื่อนย้าย รวมทั้งแจ้งให้ทุกจังหวัด ประเมินความเสี่ยงการเลี้ยงสุกร กรณีป่วย ตาย อย่างผิดปกติ อย่างน้อย 3 % จะต้องทำลายสุกรทั้งหมด แล้วเก็บตัวอย่างไปตรวจสอบหาเชื้อ พร้อมประกาศควบคุมทั้งเขต ป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย โดยเกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลตามที่กำหนด

“มาตรการทั้งหมดนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่าไทยไม่มีเอเอสเอฟแน่ แต่ที่หมูป่วยตายก่อนหน้านี้ในเขตภาคเหนือ ผลการตรวจสอบว่าเป็นโรค โรคเพิร์ส (PRRS) ที่อาการคล้ายกัน ดังนั้นเพื่อตัดตอนการแพร่กระจาย กรมปศุสัตว์จึงต้องเร่งทำลายหมูในพื้นที่ก่อน ถือว่าเป็นการป้องกันที่ดี และเป็นผลให้ไทยส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 300 % มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท ในปีที่ผ่านมา"

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าหากเอเอสเอฟระบาด 30% ของสุกรทั้งระบบ ไทยจะมีการสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1.6 หมื่นล้านบาท หากเกิดการระบาด 50% จะสูญเสียประมาณ 2.77หมื่นล้านบาท และหากเกิดการระบาด 100% จะสูญเสียประมาณ 5.55 หมื่นล้านบาท และส่งผลให้ ไทยจะถูกระงับการส่งออกปีละ 6,000 ล้านบาท สูญเสียโอกาสการส่งออกสุกรมีชีวิตปีละ 1.6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงธุรกิจอาหารสัตว์หากโรคระบาดประมาณ 50% จะเสียหายประมาณ 6.66 หมื่นล้านบาท ธุรกิจเวชภัณฑ์หายไปประมาณ 3.5 พันล้านบาท