Pivotal Moment จากวิกฤติสู่จุดพลิกผัน

Pivotal Moment จากวิกฤติสู่จุดพลิกผัน

การต่อสู้กับสถานการณ์ท้าทายที่เป็น Once in a life time ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่สามารถคาดเดาได้ ไม่มีประสบการณ์หรือการเรียนรู้ในอดีตที่จะนำมาใช้เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น มักจะตามมาด้วยการเกิดขึ้นของ Winner และ Loser อย่างชัดเจน

สัจธรรมที่เราเห็นอยู่เสมอก็คือ “จะมีคนที่ผงาดขึ้นมาอย่างเข้มแข็งและคนที่ล้มเหลวพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่า”  เพราะนี่จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะทำให้เกิดจุดพลิกผันครั้งใหญ่  สำหรับองค์กรธุรกิจก็เช่นกัน การเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ฉุกเฉินเพื่อทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่า Business Continuity Plan (BCP) ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของ แผนงาน กลยุทธในการแก้ปัญหา หรือความเก่งกาจของทีมงานที่ได้รับการแต่งตั้งให้ขับเคลื่อน BCP ในองค์กร แต่ยังหมายถึงสภาวะผู้นำของผู้นำองค์กรที่จะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องและมีทักษะของความเป็น Collaborative Leader นั่นคือโฟกัสที่ผลลัพธ์ปลายทางและผลักดันให้ทีมงานมีเป้าหมายและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นแผนงาน 4 ส่วนคือ Prevent-Prepare-Respond-Recover นั่นคือการป้องกัน การตั้งรับ การตอบสนอง และ การฟื้นฟู ทุกอย่างจะต้องบริหารจัดการอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ถ้ายกตัวอย่างสถานการณ์ Covid-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ สิ่งที่ต้องทำอย่างสุดกำลังในตอนนี้คือ สามสิ่งแรก ส่วนเรื่องของการเตรียมแผนฟื้นฟูถึงแม้จะมีความสำคัญมาก แต่ก็คงยังไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำในวันนี้ 

บทความล่าสุดใน Harvard Business Review ได้รวบรวมหลายประเด็นที่องค์กรธุรกิจในประเทศจีนลงมือทำในการรับมือสถานการณ์ Covid-19   6 แนวทางหลักที่น่านำไปเรียนรู้ก็คือ 1) ความปลอดภัยของพนักงานและความชัดเจนในการสื่อสารกับพนักงาน เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในห้วงเวลาของความสับสน หวาดกลัว ความชัดเจนเท่านั้นที่จะทำให้ธุรกิจหาทางเดินต่อไปได้และลดแรงกระทบที่จะเกิดขึ้น แทบจะทุกองค์กรมีการให้คำแนะนำพนักงานในการปฏิบัติตัวและใช้ชีวิต อีกทั้งมีการให้สวัสดิการการตรวจสุขภาพกับพนักงานและครอบครัว รวมถึงแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตัวให้กับพนักงาน  2) มีการกระจายแรงงานและเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของแรงงานได้อย่างรวดเร็ว ธุรกิจค้าปลีกหลายแห่งเป็นต้นแบบ ของโมเดลใหม่ที่เรียกว่า “Sharing Employees” นั่นคือการแชร์พนักงานร่วมกันระหว่างกลุ่มธุรกิจค้าปลีกซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีลูกค้าต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นกับกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร โรงแรม โรงหนัง  Hema ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตในเครือของ Alibaba ก็ใช้แนวทางนี้ในการจ้างงานเพื่อรับมือกับดีมานด์การส่งสินค้าตามบ้านที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว  3) มีการปรับเปลี่ยนช่องทางการขายอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อตอบสนองกับ “The New Normal” เมื่อหลายสิ่งที่เคยขายอยู่ในช่องทาง Off-line กลายมาเป็น On-line เกือบ 100% หลายธุรกิจปรับตัวอย่างเร็วโดยโยกพนักงานที่ทำงานหน้าร้านมาเป็นฝ่ายสนับสนุนการขายบนช่องทาง On-line บริษัทเครื่องสำอาง Lin Qingxuan ที่ต้องปิดสาขาลงเป็นจำนวนมาก ปรับเปลี่ยนบทบาทของ พนักงานขายหน้าร้าน (BA) ให้สามารถกลายมาเป็น Online Influencers บนแพลตฟอร์มของ WeChat ช่วยกระตุ้นยอดขาย จนยอดขายรวมใน อู่ฮั่นโตขึ้นถึง 200% เทียบกับปีที่ผ่านมา  4)ใช้เครื่องมือในการทำงานแบบ Remote Working อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ Video Conferencing และ Social Media บนแพลตฟอร์มพื้นฐานอย่าง WeChat อีกทั้งมีการขยายตัวของธุรกิจที่เป็น  Event Streaming มีการทำ Online Hackathon การจัดสัมมนา แบบออนไลน์ขายบัตรให้กับผู้สนใจ หนึ่งในสตาร์ทอัพเล็ก ๆ อย่าง Run The World ที่มีทีมงานไม่กี่คน ได้รับความสนใจจาก VC ระดับโลก Andreessen Horowitz จนถึงขั้นเข้าร่วมลงทุนด้วย  5) ในวิกฤติมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ นอกเหนือจากธุรกิจ B2C e-commerce ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดแล้ว ยังมีธุรกิจจำนวนมากที่ปรับตัวได้เร็วและสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆได้เช่น Kuaishou ธุรกิจ Social Video Platform  ที่ขยายไปทำ Online Education ให้กับโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่ต้องหยุดการเรียนการสอน  ธุรกิจร้านอาหารหลายแห่งผันตัวไปให้บริการส่งอาหารแบบส่งวัตถุดิบพร้อมปรุง เพื่อตอบสนองความต้องการทานอาหารแบบที่เป็น Home Cooking  6) การปรับเปลี่ยนกลยุทธการกระจายสินค้า Supply Chain Strategy จากแบบรวมศูนย์เป็นแบบกระจายตัว Decentralized และใช้ Micro-fulfillment  มากขึ้นเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดเก็บสต๊อกและการขนส่ง ทำให้ตอบสนองความต้องการลูกค้าที่กระจายตัวในระดับภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น

         ในวันที่อนาคตยากที่จะคาดเดา คนที่ปรับตัวได้เร็วจะลุกขึ้นมาตั้งหลักแล้วทะยานไปข้างหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง วิกฤติที่เกิดขึ้นจะทำให้เราได้เห็น The New Normal อีกหลายอย่างเช่น Remote Working จะกลายเป็นวิถีการทำงานที่มีประสิทธิภาพกว่ารูปแบบเดิม ๆ ออฟฟิศสำนักงานจะไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่สำนักงานในการทำงานเช่นเดิม การให้บริการ Online จะตอบโจทย์ได้ทุกเรื่องตั้งแต่การศึกษา การแพทย์ การจัดกิจกรรมทางสังคม  วิถีการทำธุรกิจจะเปลี่ยนไป จะเกิดมีดีมานด์ใหม่ๆที่เราอาจไม่เคยคาดเดามาก่อน Digital Transformation จะถูกเร่งสปีดแบบ 20X  เช่นเดียวกันกับการขยายตัวของ “Sharing Employees” โมเดล  Social Distancing จะกลายเป็นวิถีการใช้ชีวิต

ช่วงเวลานี้จะเป็นจุดพลิกผันของประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ในทุกแง่มุม ทั้งสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง  คำถามเดียวที่เราต้องถามตัวเองก็คือ เราจะมองวิกฤตินี้ด้วยมุมมองใหม่หรือจะยังยึดติดกับมุมมองเดิมและวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ซึ่งอาจจะทำให้วิกฤติกลายเป็นวิกฤติขั้นสุด!