กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

วันนี้ (26 ม.ค.66) เวลา 16.19 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เสด็จออกแทนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง  พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทาน รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 ดังนี้

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

  • สาขาการแพทย์

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ราล์ฟ เอ.ดีฟรอนโซ ศาสตราจารย์ สาขาวิชาเบาหวาน ภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีผลงานจากการศึกษากลไกการเกิดโรคเบาหวาน และพิสูจน์ได้ว่าโรคอ้วน โดยเฉพาะโรคอ้วนลงพุง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลที่ทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน  ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

รวมถึงพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีการดูดน้ำตาลกลับที่ไตเพิ่มขึ้นผ่านช่องทางขนส่งร่วมระหว่างเกลือโซเดียม และน้ำตาลกลูโคส จากผลการศึกษาดังกล่าว ทำให้ยาเมทฟอร์มิน (metformin) และยาในกลุ่มที่ยับยั้งการดูดกลับน้ำตาลผ่านช่องทางขนส่งร่วมที่ไต เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายให้ใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

นอกจากนี้ ยังนำเสนอแนวทางการรักษาโรคเบาหวานแบบเฉพาะบุคคล (personalized treatment) โดยพิจารณาเลือกยาตามกลไกการเกิดโรคในผู้ป่วยแต่ละรายและศึกษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลดน้ำหนักเพื่อทำให้ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง ซึ่งแนวคิด และผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการนำไปใช้ในการศึกษาต่อยอด และเป็นแนวทางที่สำคัญในการป้องกัน และรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างแพร่หลายทั่วโลก

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

ผลงานการศึกษาของศาสตราจารย์ นายแพทย์ราล์ฟ เอ.ดีฟรอนโซ เชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานด้านกลไกการเกิดโรค ได้ถูกนำไปพัฒนา และศึกษาต่อยอดจนเกิดแนวทางในการรักษาและป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วย และการเกิดภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังลดลงทั่วโลก ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมาก ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตผู้ป่วยเบาหวานหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

  • สาขาการสาธารณสุข

นายแพทย์ดักลาส อาร์.โลวี  รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ดร.จอห์น ที.ชิลเลอร์  นักวิจัยดีเด่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติ และรองหัวหน้าห้องปฏิบัติการมะเร็งระดับเซลล์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช.เฟรเซอร์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย นายแพทย์ดักลาส อาร์.โลวี และ ดร.จอห์น ที.ชิลเลอร์ ได้ร่วมกันศึกษาวิจัยที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และค้นพบว่าโปรตีนหลักของอนุภาคไวรัสของฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส สามารถประกอบร่างกันได้เองเป็นอนุภาคคล้ายไวรัส (VLP) ซึ่งสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสได้ดี

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช.เฟรเซอร์ ค้นพบกลไกการประกอบร่างของอนุภาคคล้ายไวรัสนี้เช่นกันในระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย

การค้นพบนี้นำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิตอนุภาคคล้ายไวรัสจากโปรตีนรีคอมบิแนนท์ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนต่อต้านฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัสที่มีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากอนุภาคคล้ายไวรัสเหล่านี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และสามารถนำเสนอลักษณะทางแอนติเจนที่เป็นธรรมชาติต่อระบบภูมิคุ้มกัน

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

ผลงานดังกล่าวเป็นงานต่อยอดของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2548 และรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2551 ซึ่งค้นพบเชื้อฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส (เอชพีวี) ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก และช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับฮิวแมนแปบปิลโลมาไวรัส และลดการเสียชีวิตได้จำนวนมากมายทั่วโลก

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

เนื่องจากศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช.เฟรเซอร์ ไม่สามารถมาเฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลได้ จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตเบิกผู้แทน คือ นางสาวแอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลแทน

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า

ในการดูแลสุขภาพอนามัยของมวลมนุษยชาตินั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรค และภาวะแทรกซ้อนในบางโรค มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาโรคโดยตรง ดังเช่นผลงานของศาสตราจารย์ นายแพทย์ราล์ฟ เอ.ดีฟรอนโซ ที่ได้ศึกษาพยาธิสรีรวิทยาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 จนสามารถรักษาและควบคุมโรคไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ กับผลงานของนายแพทย์ดักลาส อาร์.โลวี  ดร.จอห์น ที.ชิลเลอร์ และศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช.เฟรเซอร์ อันเป็นงานที่ต่อยอดจากผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2548

จากการค้นพบเชื้อไวรัสฮิวแมนแปบปิลโลมา หรือเอชพีวี ซึ่งเป็นสาเหตุ ของการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสชนิดนี้ได้สำเร็จ และได้นำไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบัน จึงขอแสดงความนิยมชื่นชมด้วยอย่างยิ่ง ที่ทั้งสี่ท่าน ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 ทั้งเต็มใจยินดีที่จะกล่าวว่า ผลงานอันเกิดจากความวิริยอุตสาหะและเสียสละอดทนของทุกท่าน ทั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ให้แก่การแพทย์ และการสาธารณสุขของโลก ก่อให้เกิดประโยชน์อันไพศาลแก่มวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2565 และคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง

สำหรับ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ พุทธศักราช 2535 ด้วยทรงสละความสุขส่วนพระองค์

ทรงวางรากฐานพัฒนาการแพทย์การสาธารณสุขไทยสู่มาตรฐาน พระราชทานเงินส่วนพระองค์เป็นค่าก่อสร้างอาคารในโรงพยาบาล และส่งแพทย์พยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้บำเพ็ญประโยชน์ที่สร้างสรรค์งานด้านการแพทย์และการสาธารณสุขต่อมนุษยชาติ จนเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางในระดับโลก ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และลัทธิการเมือง เป็นประจำทุกปีตลอดมา ปีนี้เป็นปีที่ 31 แล้ว

โดยรางวัล แบ่งเป็นทางด้านการแพทย์ 1 รางวัลและด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัลประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ปีพุทธศักราช 2565 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทั้งสิ้น 88 ราย จาก 34 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปีคือ ปี 2564  2563  2562 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิรางวัล ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้าย

ระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลรวม 90 ราย เป็นคนไทย 4 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก รับร่วมกับศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2539 และนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ รับร่วมกับนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2552