รู้จัก สาธรยูนีค ทาวเวอร์ ตึกร้างสูงสัญลักษณ์วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

รู้จัก สาธรยูนีค ทาวเวอร์ ตึกร้างสูงสัญลักษณ์วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาย้อนประวัติตึกร้างย่านสาทร ตึกสาธรยูนีค ทาวเวอร์ สัญลักษณ์วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง หรือ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเมื่อปี พ.ศ.2540

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ พาย้อนประวัติตึกร้างย่านสาทร ตึกสาธรยูนีค ทาวเวอร์ สัญลักษณ์วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง หรือ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเมื่อปี พ.ศ.2540 ที่ผ่านมา 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- จากวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ถึง “โควิด” จุดเปลี่ยนการเมืองไทย “แลนด์สไลด์”

- ถอดบทเรียนมรสุมเศรษฐกิจโลก จากวิกฤติต้มยำกุ้งสู่วิกฤติโควิด-19

- ครบรอบ 25 ปี “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ผลจากฟางเส้นสุดท้าย “ลอยตัวค่าเงินบาท” 2 ก.ค.40

 

หากจำกันได้ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" ซึ่งยุคนั้นนับเป็นยุคที่ผู้คนเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง ธุรกิจน้อยใหญ่ล้มหายตายจาก หลายคนกลายเป็นหนี้ก้อนโตภายในช่วงข้ามคืน ประเทศแทบมองไม่เห็นหนทางไปต่อ

 

และหนึ่งในสิ่งที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ "วิกฤติต้มยำกุ้ง" นั่นก็คือตึกร้างสูงใจกลางเมืองกรุงเทพฯ อย่าง ตึกสาธรยูนีค ทาวเวอร์ ที่สุดท้ายแล้วไม่สามารถสร้างต่อจนแล้วเสร็จได้ เนื่องจากสถานการณ์ในตอนนั้น สถาบันการเงินหลายที่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทสาธรยูนีค ได้ปิดตัวลงจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ส่งผลให้ตึกแห่งนี้ก็ถูกตัดเงินที่ให้กู้ไปโดยปริยาย

 

รู้จัก สาธรยูนีค ทาวเวอร์ ตึกร้างสูงสัญลักษณ์วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

 

ประวัติตึกสาธรยูนีค ทาวเวอร์

ตึกสาธรยูนีค ทาวเวอร์ ตึกสูง 185 เมตร 49 ชั้น ได้รับการออกแบบโดย บริษัท รังสรรค์แอนด์อะโซชีเอท จำกัด ได้มีการวางแผนจะสร้างให้เป็นคอมเพล็กซ์คอนโดมิเนียมระดับหรู โดยให้ทุกห้องของอาคารสามารถมองเห็นวิวแม่น้ำได้ทั้งหมด

 

แต่การก่อสร้างตึกสาธรยูนีค ทาวเวอร์ ต้องหยุดชะงักลงในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 แม้จะเสร็จสิ้นไปกว่า 80% เหลือเพียงการตกแต่งภายในทั้งหมดและภายนอกอีกเล็กน้อย ด้วยเหตุนี้เอง สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ จึงกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ในอีกประการหนึ่ง

 

ปัจจุบันอาคาร สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ถือเป็นอาคารร้างที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในกรุงเทพมหานครและแห่งหนึ่งของโลก เป็นตึกร้างที่สูงที่สุดในประเทศไทย และจากการจัดอันดับอาคารร้างระฟ้าสูงที่สุดในโลก เมื่อปี พ.ศ. 2560 ปรากฏว่า สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ติดอยู่อันดับที่ 4 ของโลกอีกด้วย

 

 

รู้จัก สาธรยูนีค ทาวเวอร์ ตึกร้างสูงสัญลักษณ์วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

 

ด้วยความเป็นที่เป็นอาคารสูงบนทำเลทองโดยรอบ จึงกลายเป็นหนึ่งในสถานที่อันซีนยอดฮิตของนักท่องเที่ยวในอดีต ที่มีคนแอบขึ้นไปถ่ายรูปด้านบนซึ่งสามารถดูบรรยากาศโดยรอบกรุงเทพมหานครได้รอบ 360 องศา แต่ในปัจจุบันทางเจ้าของโครงการได้ทำการปิดประตูอย่างเบ็ดเสร็จห้ามคนนอกขึ้นไปได้อีก

 

สาธรยูนีค ทาวเวอร์ ได้มีการวางแผนให้สาธร ยูนีค เป็นคอนโดมิเนียมระดับหรูสูง 47 ชั้น รวม 600 ยูนิต ได้รับการออกแบบและพัฒนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังและนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้ออกแบบอาคารสเตท ทาวเวอร์ ที่ถือเป็นอาคารน้องของสาธร ยูนีค โครงการก่อสร้างนั้นเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2533 มีเจ้าของโครงการคือบริษัท สาธร ยูนีค จำกัด และได้รับการสนับสนุนเงินทุนส่วนมากจากบริษัทหลักทรัพย์ไทยแมกซ์ การก่อสร้างได้เริ่มต้นขึ้นปีเดียวกัน โดยมีบริษัทสี่พระยา จำกัด เป็นผู้รับเหมาการก่อสร้าง

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการล้มละลาย เช่นเดียวกันกับบริษัทไฟแนนซ์ต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการซึ่งก็ประสบปัญหาหนี้สิน โครงการก่อสร้างอาคารต่างๆในกรุงเทพมหานครต่างพากันหยุดชะงัก โดยมีอาคารหรูกว่า 300 แห่งที่ถูกทิ้งร้าง แต่อาคารส่วนมากได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ในภายหลังจากเศรษฐกิจฟื้นตัว (อาคารสเตท ทาวเวอร์ก็ถือเป็นหนึ่งในอาคารดังกล่าว)

 

แต่ทว่า อาคารสาธร ยูนีคกลับถูกทิ้งร้างไว้ในสภาพเดิมนับแต่นั้นจนเป็นที่รู้จักกันในหมู่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในชื่อของ "Ghost Tower" แม้ว่าจะมีความพยายามในเรื่องการตกลงในเรื่องการซื้อขายและการรีไฟแนนซ์อยู่หลายครั้ง โดยนายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ บุตรชายของ ผศ.รังสรรค์ ที่เข้ามารับช่วงต่อจากบิดา แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากนายพรรษิษฐ์ ต้องการที่จะขายอาคารในราคาที่จะสามารถชดเชยเงินต้นให้ผู้ร่วมลงทุนในโครงการ

 

รู้จัก สาธรยูนีค ทาวเวอร์ ตึกร้างสูงสัญลักษณ์วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

 

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2557 อาคารแห่งนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งหลังจากที่มีการพบศพชายชาวสวีเดนในสภาพแขวนคอ เสียชีวิตบนชั้นที่ 43 โดยสาเหตุการเสียชีวิตนั้นได้มีการยืนยันว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ซึ่งทางสำนักข่าวหลายแห่งก็ได้มีการตั้งข้อสงสัยถึงความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยของอาคารแห่งนี้

 

ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 นายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ ซึ่งได้เข้ามาเป็นหนึ่งสมาชิกบอร์ดบริหารของบริษัทสาธร ยูนีค จำกัด ได้เปิดเผยว่าได้ทำการแจ้งความข้อหาบุกรุกอาคารสถานที่แก่บุคคลทั้งหมด 5 คน ที่ได้โพสต์รูปและคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการเข้ามาในอาคารลงบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งในจำนวนนี้ยังรวมไปถึงชาวต่างชาติสองคนที่ได้ทำวิดีโอที่พวกเขาแสดงการวิ่งฟรีรันนิ่งบนตึกแห่งนี้

 

นายพรรษิษฐ์ ได้กล่าว่าเขาต้องการให้การแจ้งความครั้งนี้เป็นตัวอย่างและหยุดยั้งคนที่จะเข้ามาปีนป่ายบนตึกที่มีความอันตราย เขาได้ระบุเพิ่มว่าจำนวนผู้เข้ามาในตัวอาคารอย่างผิดกฎหมายนั้นเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีการเผยแพร่เรื่องอาคารแห่งนี้ในโลกออนไลน์กันมากขึ้น โดยในบางสัปดาห์นั้นมีผู้เข้าไปยังตัวอาคารมากกว่าหนึ่งร้อยคน ซึ่งตนก็ไม่สามารถห้ามไม่ให้ยามรับสินบนจากผู้เข้าชมตึกได้เนื่องจากไม่สามารถเฝ้าตึกด้วยตัวเองตลอดทั้งวัน

 

รู้จัก สาธรยูนีค ทาวเวอร์ ตึกร้างสูงสัญลักษณ์วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

 

ในปีพ.ศ. 2560 นายพรรษิษฐ์ได้อนุญาตให้มิวเซียมสยามจัดการสัมนาที่ตัวอาคาร ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการระลึก 20 ปีของวิกฤติเศรษฐกิจ อกจากนี้ยังอนุมัติให้ จีดีเอช (GDH) ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นฉากสำคัญในภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง เพื่อน..ที่ระลึก อีกด้วย 

 

นักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะรู้จักและเรียกชื่ออาคารแห่งนี้กันว่า "Ghost Tower" และเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบความท้าทายและต้องการถ่ายภาพมุมสูง

 

CR ข้อมูลประกอบจาก วิกิพีเดีย