ถอดบทเรียนมรสุมเศรษฐกิจโลก จากวิกฤติต้มยำกุ้งสู่วิกฤติโควิด -19

ถอดบทเรียนมรสุมเศรษฐกิจโลก จากวิกฤติต้มยำกุ้งสู่วิกฤติโควิด -19

ครบรอบ 25 ปี วิกฤติต้มยำกุ้ง บทเรียนวิกฤติการณ์ทางการเงิน สู่ วิกฤติโควิด-18 ฉุดเศรษฐกิจโลกทรุด ภาคเอกชนไทยเรียนรู้และปรับตัวเพื่อก้าวผ่านสู่ความแข็งแกร่ง

วิกฤติต้มยำกุ้ง 2 ก.ค. 2540  ได้สร้างความหายนะต่อเศรษฐกิจไทย  ถือเป็นมหาวิกฤติที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์  เป็นบทเรียนสำหรับเศรษฐกิจไทย มาถึงวันครบ  25 ปีแล้ว ยังคงเป็นฝันร้ายของสำหรับคนไทยที่ยากจะลืมได้

จุดเริ่มต้นของวิกฤติการเงิน วิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ  นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศใช้ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบ ‘ลอยตัวค่าเงิน’ คือการลอยตัวค่าเงินบาท ตัดการอิงเงินสกุลดอลลาร์ ส่งผลให้ค่าเงินบาทไทย ปรับลดลงอย่างมาก จากระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์ ไปทำสถิติอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 56.50 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 12 ม.ค. 2541  การที่ค่าเงินบาทอ่อนย่อมส่งผลกระทบต่อผู้คน ธุรกิจ สถาบันการเงิน ที่กู้เงินจากต่างประเทศแบกภาระหนี้สินแบบล้นพ้นตัว ในที่สุดก็เกิดหนี้เน่าและหลายธุรกิจ หลายกิจการ เป็นอันต้องปิดตัวลง โดยเฉพาะการปิดกิจการของธนาคาและสถาบันการเงินกว่า 50 แห่ง   

จากวิกฤตต้มยำกุ้ง สู่วิกฤติโควิด-19 ในปี 2563 ซึ่งก็เป็นมหาวิกฤตเช่นกันที่ฉุดเศรษฐกิจทั่วโลกลงอย่างรุนแรง หลายกิจการ หลายธุรกิจที่มีสายป่านไม่ยาวพอ ก็ต้องล้มหายตายจากไป ซึ่งความแตกต่างของ 2 วิกฤตินี่คือ วิกฤติต้มยำกุ้งกระทบรุนแรงต่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่   สถาบันการเงิน ธุรกิจของเจ้าสัว  เป็นต้น แต่วิกฤติโควิดกระทบไปทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และอาจต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว ซึ่งภาคเอกชนที่เป็นตัวละครเอกได้สะท้อนมุมมองจาก บทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ต่อภาคธุรกิจไทยเพื่อรับมือกับวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้น

ถอดบทเรียนมรสุมเศรษฐกิจโลก จากวิกฤติต้มยำกุ้งสู่วิกฤติโควิด -19

 

"สนั่น อังอุบลกุล" ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า  วิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้สถาบันการเงินของไทยพัง  เพราะการกู้เงิน เมื่อรัฐบาลประกาศ ลอยตัวค่าเงินบาทก็ทำให้ต้องใช้หนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว ซึ่งบทเรียนสำคัญจากวิกฤติต้มยำกุ้ง คือความระมัดระวังของภาคการเงิน ภาคเอกชนได้เรียนรู้ว่า การเติบโตบนเศรษฐกิจฟองสบู่คือเรื่องที่ไม่ควรเสี่ยง การขยายธุรกิจใด ๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานที่มีความมั่นคง รวมทั้งใส่ใจกับเรื่องความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน

นอกจากนั้น เรื่องความย่อหย่อนของมาตรฐานทางการเงิน ก็เป็นบทเรียนที่สำคัญ ที่ผ่านมา การไม่เข้มงวด และความไม่โปร่งใสในการปล่อยสินเชื่อ เป็นตัวเร่งให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่จนเกิดปัญหา แต่วันนี้ เชื่อว่าเราจดจำบทเรียนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี และระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้อีก

ณ วันนี้ บริบทต่าง ๆ ของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แต่บทเรียนสำคัญที่เราได้ก็คือ เรื่องความรอบคอบ ระมัดระวัง และเรื่องการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องการเก็งกำไรค่าเงิน และการรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศ จะเห็นว่าในปัจจุบัน เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 2.3 แสนล้านดอลลาร์ อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งถือว่าแข็งแกร่งมาก ต่างจากอดีตที่มีเพียงประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เท่านั้น

ในขณะที่ภาคธุรกิจหรือนักลงทุน ก็ระมัดระวังเรื่องการกู้เงินตราต่างประเทศมากขึ้น มีการวางแผนความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน แม้กระทั่งใช้การกู้เงินภายในประเทศแทน เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

 

“บทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งนี้ เราสามารถน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้อธิบายแนวทางในการดำเนินธุรกิจได้ คือ ต้องรู้จักพอประมาณ ไม่ลงทุนเกินตัว หรือเกินความสามารถของธุรกิจ ต้องมีเหตุผล การลงทุนหรือดำเนินนโยบายใด ๆ ต้องไตร่ตรองอย่างรอบด้าน และต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี สถานะทางธุรกิจต้องมีความมั่นคงเพียงพอ นอกจากนั้น เรื่องความรู้ และคุณธรรม ยังเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำพาธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน”

ถอดบทเรียนมรสุมเศรษฐกิจโลก จากวิกฤติต้มยำกุ้งสู่วิกฤติโควิด -19

"วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา" นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป  กล่าวว่า วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เกิดขึ้นในรูปแบบฟองสบู่แตก เกิดหนี้เน่า เพราะจากการกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศ โดยขณะนั้นอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินของไทย ยังเป็นแบบคงที่ 25 บาท ต่อดอลลาร์เมื่อมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้ธุรกิจและสถาบันการเงินที่กู้เงินจากต่างประเทศได้รับผลกระทบต้องจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยมากกว่าเดิมมหาศาล ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลง แต่ในช่วงนั้นธุรกิจส่งออกยังไปได้ เนื่องจากได้รับเงินมากขึ้น   จากวิกฤติต้มยำกุ้งจึงเป็นบทเรียนให้สถาบันการเงิน ธนาคาร ไทยกลับมามีความแข็งแรงมากขึ้น และไทยก็มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น

มาครั้งนี้เกิดวิกฤตโควิด-19  กระทบกันทั้งประเทศไล่ไปตั้งแต่ประชาชน ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าไม่เฉพาะไทยแต่กับทั้งโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจส่งออก  ดังนั้นจึงมีความแตกต่างกับวิกฤติต้มยำกุ้ง  อย่างไรก็ตามเราก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี แต่มาเจอกับวิกฤติซ้อนวิกฤติอีก จากสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบ ทำราคาสินค้าแพง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกที่ต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นเป็น 2 เท่า  ขณะที่ภาคธุรกิจเองนอกจากราคาน้ำมันที่แพงแล้วยังต้องเจอกับปัญหาค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นไปอีก เรียกได้ว่า เจอ 2 เด้ง

“เรายืนได้เพราะส่งออก ช่วย และมีการปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หากจะยืนระยะต่อไป ก็ต้องมีตัวช่วย แม้ว่ากลุ่มอาหารจะมีวัตถุดิบจากในประเทศที่มีอย่างพอเพียง แต่บางอย่างก็ต้องนำเข้า สิ่งที่จะเป็นตัวช่วยได้ก็ต้องทำ เพื่อช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ เช่น มาตราการผ่อนปรนภาษีนำเข้าชั่วคราว  หาแหล่งซื้อวัตถุดิบที่ราคาไม่แพง  เป็นต้น ก็จะช่วยให้ภาคธุรกิจยืนระยะต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤติที่ซ้ำซ้อน “

มรสุมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้ภาคเอกชนได้เรียนรู้ประสบการณ์จากวิกฤตเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตโควิด และนำมาเป็นบทเรียนในการประกอบธุรกิจเพื่อให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งบนเวทีเศรษฐกิจต่อไป