ครบรอบ 25 ปี “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ผลจากฟางเส้นสุดท้าย “ลอยตัวค่าเงินบาท” 2 ก.ค.40

ครบรอบ 25 ปี “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ผลจากฟางเส้นสุดท้าย “ลอยตัวค่าเงินบาท” 2 ก.ค.40

2 กรกฎาคม ครบรอบ 25 ปี “เหตุการณ์ลอยตัวค่าเงินบาท” ปี 2540 ชนวนสำคัญนำไทยเผชิญกับ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” วิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และลุกลามไปยังหลายประเทศในเอเชีย จนก่อตัวเป็น “วิกฤติการเงินเอเชีย” ในที่สุด

ผ่านมาแล้ว  25 ปี กับเหตุการณ์ "ลอยตัวค่าเงินบาท” 2 กรกฎาคม 2540 จุดเริ่มต้น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” วิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย

เนื่องในวาระครบรอบ 25 ปี จึงอยากชวนทุกคนย้อนกลับทำความเข้าใจถึงสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้น 

ทั้งนี้ ขอเริ่มต้นที่ความหมายของ "การลอยตัวค่าเงินบาท คือ"  การปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทและเงินสกุลอื่น ได้เคลื่อนไหวตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศ โดยก่อนหน้านั้น ไทยใช้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบ "ตะกร้าเงิน" (Basket of currencies) ตั้งแต่เดือน พ.ย. ปี 2527 

เมื่อไทยลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 ก.ค.40 ค่าเงินที่เคยถูกตรึงไว้ระหว่าง 24-26 บาทต่อดอลลาร์ ก็ถูกปล่อยเคลื่อนไหวอย่างอิสระ จนทำสถิติสูงสุดที่ 56.50 บาทต่อดอลลาร์ ผลที่ตามมาคือ ผู้กู้ยืมเงินต่างประเทศจะต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

ธนาคารผู้ปล่อยกู้ต้องเจอกับภาวะผิดนัดชำระหนี้ เกิดเป็น "หนี้เสีย" มูลค่ามหาศาลในระบบ ประกอบกับความเชื่อมั่นในภาคธนาคารที่ต่ำจนเกิดการแห่ถอนเงินของภาคประชาชน ธนาคารหลายแห่งจึงขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง  ท้ายที่สุดจึงเกิดเป็น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” 

 

 รู้จักระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ก่อนเหตุการณ์ “ลอยตัวค่าเงินบาท”  

ตามที่กล่าวไปว่า ก่อนหน้าเหตุการณ์ลอยตัวค่าเงินบาท ไทยใช้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบตะกร้าเงิน (Basket of currencies) หรือระบบการนำค่าเงินบาทไปผูกกับกลุ่มเงินของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยในตะกร้านี้มีสัดส่วนของดอลลาร์สหรัฐมากที่สุด ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามดอลลาร์ หรือให้เข้าใจง่ายๆ คือ ค่าเงินบาทถูกผูกไว้กับดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 24-26 บาทต่อดอลลาร์

ประโยชน์ของการใช้ระบบแลกเปลี่ยนเงินตราแบบตะกร้าเงิน คือ การปิดรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate risk) ผู้ค้าขายกับต่างประเทศจะไม่ต้องเสี่ยงเผชิญกับความผันผวนของค่าเงิน สามารถคำนวณรายได้และกำไรได้แม่นยำ นับเป็นการส่งเสริมภาคการค้าระหว่างประเทศ ทั้งฝั่งส่งออกและนำเข้า อีกทั้งยังกระตุ้นภาคการผลิตและการจ้างงานในประเทศให้เติบโตตามไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนของการใช้ระบบดังกล่าว คือ การต้องดำรง “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” ไวัในระดับสูง เพราะเมื่ออัตราแลกเปลี่ยนจริงสูงกว่าระดับที่กำหนด  หน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ชื่อว่า “ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (Exchange Equalization Funds : EEF) ต้องเข้าแทรกแซงด้วยการ “ซื้อเงินบาท” ด้วยดอลลาร์ที่มีอยู่ เพื่อรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนกลับมาอยู่ในค่าที่กำหนดไว้  

ในปี 2540 ไทยต้องต่อสู้กับการโจมตีค่าเงินบาท และใช้ทุนสำรองไปถึง 29.5 พันล้านดอลลาร์ ระหว่างเดือนม.ค. ถึง พ.ค. ในการปกป้องค่าเงิน และยังมีแรงกดดันค่าเงินตามมาอีกครั้งในปลายเดือน มิ.ย. จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยต้องลอยตัวค่าเงินบาท เนื่องจากมีทุนสำรองฯ ไม่มากพอที่จะอุ้มค่าเงิน หรือรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ต้องการได้แล้ว 

 

 “สามเป็นไปไม่ได้” จุดเริ่มต้น “ลอยตัวค่าเงินบาท”  

พอมาถึงตรงนี้ คงเห็นภาพคร่าวๆ แล้วว่า การปล่อยให้ค่าเงินลอยตัวมีที่มาจากอะไร แต่ก่อนจะถึงจุดที่ไทยไม่สามารถรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนไว้ได้นั้น มีปัจจัยหลักๆ ที่กระตุ้นอยู่ 2 ประการ ได้แก่

  1. การเปิดให้เงินและทุนมีการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศได้อย่างเสรี (International Capital Mobility) ในปี 2533
  2. การตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูง

ทั้ง 2 ประการข้างต้น มีส่วนเชื่อมโยงกัน โดยเมื่อไทยเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศได้อย่างเสรี เท่ากับเปิดรับเอาความผันผวนของค่าเงินเข้ามามากขึ้น แต่จากระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้  ทำให้ยิ่งต้องดำรงทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ในระดับสูงขึ้นไปอีก และในเวลานั้น ธปท. เลือกใช้กลยุทธ์สุดคลาสสิคอย่าง “การตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูง” โดยหวังดึงดูดให้เงินทุนเข้าสู่ประเทศ เพื่อทำให้ทุนสำรองฯ ของประเทศอยู่ในระดับสูงได้ 

แม้การกระทำดังกล่าวจะทำให้เงินไหลเข้ามาในประเทศดังที่ต้องการ แต่ด้วยการเปิดเสรีทางการเงินพร้อมกับตรึงระดับอัตราดอกเบี้ยสูง ขณะที่ยังยึดติดกับการใช้ระบบตะกร้าเงิน โดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากพอ ทั้งหมดนี้ผสมโรงก่อให้เกิดความเปราะบางทางภาคการเงินของประเทศ ซึ่งสามารถอธิบายในทางเศรษฐศาสตร์ได้ว่า เป็นการละเมิด “ทฤษฎีสามเป็นไปไม่ได้” (Impossible Trinity) 

อีกทั้งในปี 2536 ธปท. ได้เร่งดำเนินนโยบายกิจการวิเทศธนกิจ (Bangkok International Banking Facilities : BIBF) เปิดโอกาสให้ธุรกิจในไทยนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าได้ เกิดการกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แต่จากการขาดมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ และการกำกับสถาบันการเงินที่หละหลวมของธปท. ในเวลานั้น จึงมีผลให้เงินกู้ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการเก็งกำไรในหลักทรัพย์ หรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่บูมอยู่ในขณะนั้น และกำลังเข้าสู่ช่วงภาวะล้นตลาด (Oversupply) อย่างเงียบๆ โดยหนี้สินต่างประเทศรวมของภาคเอกชนในเวลานั้นมีจำนวนมากถึง 90,000 ล้านดอลลาร์

นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมมูลค่ามหาศาล สถานการณ์ทั้งหมดส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของไทย มีความเปราะบางเป็นอย่างมาก ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศค่อยๆหมดไป จนเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศ (Capital Flight) 

หนำซ้ำยังมีนักลงทุนคอย “โจมตีค่าเงินบาท” ด้วยการเทขายเงินบาทเป็นจำนวนมาก แม้ไทยจะสามารถปกป้องค่าเงินบาทจากการถูกโจมตีได้ถึง 2 ครั้ง แต่ก็ต้องแลกกับการที่ไทยเหลือทุนสำรองระหว่างประเทศเพียง 9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าเฉลี่ยสามเดือน เป็นเหตุให้ ธปท. ไม่สามารถปกป้องค่าเงินบาทได้อีกต่อไป 

ท้ายที่สุด ภาครัฐจึงต้องประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งถือเป็นอันสิ้นสุดของระบบปริวรรตเงินตราแบบตะกร้าเงินในประเทศไทย 

 

  “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ราคาที่เศรษฐกิจไทยต้องจ่าย  

เมื่อมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในไทยแล้ว ค่าเงินบาทไทยร่วงลงอย่างหนัก โดยทำสถิติต่ำสุดตลอดกาลไว้ที่ 56.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลให้ผู้มีหนี้ต่างประเทศต้องแบกรับภาระหนี้ที่สูงขึ้นเกินเท่าตัว โดยหลังจากการลอยตัวค่าเงิน ประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศรวมอยู่ที่ 109,300 ล้านดอลลาร์ จำแนกเป็นหนี้ภาครัฐ 24,700 ล้านดอลลาร์ และหนี้ภาคเอกชน 85,200 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 22.5% และ 77.5% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ตามลำดับ  

ภาคธนาคารต้องเผชิญกับภาวะผิดนัดชำระหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ เกิด “หนี้เสีย” ในระบบเป็นจำนวนมหาศาล ประกอบกับความไม่เชื่อมั่นของภาคประชาชนจนมาสู่การแห่ถอนเงินมากขึ้นตั้งแต่ก่อนลอยตัวค่าเงิน ส่งผลให้สถาบันการเงินขาดสภาพคล่องอย่างหนัก บริษัทเงินทุนราว 56 แห่งถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดกิจการ และมีบางแห่งที่รัฐบาลต้องเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ต้องใช้เงินราว 1.4 ล้านล้านบาท เพื่อเข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน 

ขณะที่ภาคเศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน มีบุคคลล้มละลายลงเป็นจำนวนมาก โรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กนับแสนแห่งปิดกิจการ โรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่แบกภาระหนี้กันหลังแอ่น 

อีกทั้งขนาดเศรษฐกิจหดตัวลงกว่า 2.8% และ 7.6% ในปี 2540 และ 2541 ตามลำดับ ส่งผลให้รายได้ต่อหัวของประชากรลดลงไปตาม อีกทั้งคนไทยนับล้านต้องตกงาน แถมต้องเผชิญกับค่าครองชีพสูงขึ้นจากสินค้านำเข้าบางอย่าง ล้วนมีผลต่อคุณภาพชีวิตของภาคประชาชน สอดคล้องกับรายงาน “ภาวะความยากจน” ใน ปี 2542 ที่มีคนยากจนราว 9.9 ล้านคน สูงขึ้นจากปี 2539 ราว 3.1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 4.5% 

สภาวะเศรษฐกิจและการเงินที่ได้รับผลกระทบหนักนี้ ถูกเรียกกันว่าเป็น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” และในเวลาต่อมาได้ลุกลามขยายผลกระทบเป็นวงกว้างไปยังอีกหลายประเทศในเอเชีย อาทิ อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ จนถูกเรียกอีกชื่อว่า “วิกฤติการเงินเอเชีย” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นที่ไทย 

อย่างไรก็ตาม การลอยตัวค่าเงินบาทเป็นเพียงฟางเส้นสุดท้าย หากย้อนไล่ดูสาเหตุที่แท้จริงจะพบว่า ภาคเศรษฐกิจและการเงินไทยมีความเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งเป็นผลของการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของธปท. ในเวลานั้น 

แม้จะมีการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านั้น แต่เป็นการโตแบบไร้เสถียรภาพ จากการปล่อยให้เงินไหลเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ไร้มาตรการกำกับสถาบันการเงิน ตัวกลางที่จะปล่อยเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างรอบคอบ ส่งผลให้มีหนี้ต่างประเทศในระดับสูง และสร้างสภาพคล่องส่วนเกินจากพื้นฐานให้กับระบบ ขณะที่การใช้ระบบตะกร้าเงินในการแลกเปลี่ยน แม้ช่วยสร้างความได้เปรียบในการค้า แต่ไม่สามารถรองรับความเสี่ยงจากการเปิดเสรีทางการเงินได้ 

ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ระดับทุนสำรองฯ ลดต่ำลงมาก จนทำให้ไม่สามารถแบกรับได้อีกต่อไป ท้ายที่สุดเศรษฐกิจไทยจึงต้องจ่ายราคาความผิดพลาดนี้ด้วย “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ที่ทำให้เสียโอกาสในการก้าวเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย อย่างไม่เคยหวนกลับมา
 

---------------------------------------------------

อ้างอิง

พรชัย ชุนหจินดา

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช 

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ 

ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย 

Corporate Finance Institute 

The World Bank