ล้มทฤษฎี คนรุ่นใหม่ชอบดูคลิปสั้น! ยูทูบเผย ‘เจน Z’ ดูคลิปยาวเป็นชั่วโมง

ล้มทฤษฎี คนรุ่นใหม่ชอบดูคลิปสั้น! ยูทูบเผย ‘เจน Z’ ดูคลิปยาวเป็นชั่วโมง

“YouTube” เผย คนเจน Z ดูคลิปยาวเป็นชั่วโมงได้ ถ้าเป็นเรื่องที่สนใจ ต้องการหาข้อมูลเชิงลึก วิเคราะห์ ความเห็นต่าง ๆ หรือเป็น “แฟนด้อม” รวมถึงวิดีโอจาก “ยูทูบเบอร์” ที่ชื่นชอบ จนเกิดเทรนด์ “Vlog Week” และวิดีโอ “ASMR” ที่ทำให้ผ่อนคลาย

ใครบอกว่า “เจน Z” ชอบดูคลิปสั้น? ในยุคที่วิดีโอต้องแข่งขันทำให้กระชับที่สุด รีบเรียกความสนใจคนให้ได้ภายในไม่กี่วินาทีตั้งแต่เปิดคลิป แต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่กลับสนใจดู “วิดีโอที่มีขนาดยาว” ยาวเป็นชั่วโมงก็ดูไหว เช่น “Vlog Week” คลิปสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นั้น ๆ 

รายงานสรุปเทรนด์และวัฒนธรรมประจำปี 2023 ของ YouTube พบว่า ผู้คนในยุคนี้เต็มใจที่จะดื่มด่ำไปกับเนื้อหาวิดีโอความยาวหลายชั่วโมง ถ้าเกิดเป็นเรื่องที่ตรงใจ หรือเป็นคลิปจากคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ที่เป็นแฟนคลับ ทำให้รู้จักหรือได้ข้อมูลมากกว่าที่เคย โดยคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่ชาวเจน Z สามารถดูได้เป็นชั่วโมง ๆ ได้แก่

 

  • คอนเทนต์ของ “แฟนด้อม” 

วัฒนธรรม “แฟนด้อม” กำลังแพร่หลายในหมู่คนรุ่นใหม่ โดย 61% ของชาวเจน Z ยอมรับว่าตนเองเป็นแฟนคลับของศิลปินบางคน หรืออะไรบางอย่าง ทำให้พวกเขาต้องการทำรับรู้ข้อมูลของเชิงลึกของสิ่งที่เขาชอบ เช่น ภาพยนตร์ ละคร รายการโทรทัศน์ ทีมกีฬา นักร้อง นักแสดง ไอดอล รวมถึงคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ เพื่อจะได้บ่งบอกว่าตัวเองเป็น “แฟนคลับ” หรือ “แฟนพันธุ์แท้” ในสิ่งเหล่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรายการทอล์กและพอดแคสต์ในยูทูบ เป็นพื้นที่ให้แฟน ๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แชร์แนวคิดต่าง ๆ 

ในขณะที่แฟนด้อมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เหล่าแฟนคลับก็เริ่มแบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆ มากขึ้น มีทั้งแฟนคลับที่เสพคอนเทนต์อย่างเดียวและผันตัวเป็นคนสร้างสรรค์ผลงาน เช่น แฟนคลับตัดความน่ารักของศิลปินไอดอลมาทำเป็นคลิป นำวิดีโอของคู่จิ้นที่ตัวเองชอบมาตัดใหม่เป็นวิดีโอประกอบเพลง หรือที่เรียกว่า OPV (Original Promotional Videos) ทำคอนเทนต์วิเคราะห์ผลงานเพลง ตีความเอ็มวี ฯลฯ

YouTube ระบุว่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีกลุ่มเจน Z ถึง 46% ดูวิดีโอที่คอนเทนต์เกี่ยวกับศิลปินหรือบุคคลสาธาณะ ที่จัดทำโดยกลุ่มแฟนคลับ

ระยะหลังเหล่าคอนเทนต์ ครีเอเตอร์และเจ้าของช่องถูกเรียกเป็น “อินฟลูเอ็นเซอร์” มีแฟนคลับติดตามมากมาย จนพัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมแฟนด้อมด้วยเช่นกัน ผลสำรวจของ YouTube ระบุว่า ชาวเจน Z มักจะดูคอนเทนต์ซ้ำ ๆ จากช่องที่ตนเองรู้สึกสบายใจ และดูครบทุกวิดีโอ ไม่ว่าจะยาวแค่ไหนก็พร้อมสู้ ขอแค่ได้เห็นครีเอเตอร์ทำสิ่งต่าง ๆ เช่น ครีเอเตอร์ทำความสะอาด อ่านหนังสือ ทำสวน ทำอาหาร หรือแม้แต่นอนหลับก็ตาม

นี่จึงเป็นที่มาของการทำคลิป “Vlog Week” คลิปสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นั้น ๆ ที่มีความยาวเป็นหลักชั่วโมงนั่นเอง

 

  • วิดีโอเล่าเรื่อง

ปี 2023 ถือเป็นอีกปีที่พอดแคสต์มาแรง มีรายการพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งแนวเชิญแขกมาเล่นถึงเรื่องชีวิตในวัยเด็กหรือความรัก ไปจนถึงการวิเคราะห์ข่าว อัปเดตเรื่องราวต่าง ๆ หรือเฉพาะกลุ่มอย่าง เรื่องผี เรื่องสยองขวัญ คดีฆาตกรรม เรื่องลึกลับต่าง ๆ  จนทำให้นักจัดพอดแคสต์หลายคนนำพอดแคสต์มาลงในยูทูบ แต่แตกต่างกันตรงที่วิดีโอในยูทูบนั้นมีภาพบรรยากาศการอัดรายการอยู่ด้วย โดยปรกติแล้วพอดแคสต์จะมีความยาวอย่างน้อย 25 นาทีไปจนถึงหลักชั่วโมง จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาดูวิดีโอนานขึ้น

นอกจากนี้ยังมีคอนเทนต์ลักษณะคล้ายกับวิดีโอพอดแคสต์ เรียกว่า “วิดีโอเล่าเรื่อง” หรือ Video Essay ซึ่งเป็นการใช้ตัวอักษรและภาพมาประกอบคลิปวิดีโอให้สอดคล้องกับเรื่องที่ครีเอเตอร์พูด ซึ่งมีตั้งแต่ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ไปจนถึงแฟชั่นและปรัชญา

“เราพบว่าผู้ใช้กำลังค้นหาวิดีโอเล่าเรื่องบน YouTube เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสามปีที่ผ่านมา ผู้คนต้องการดูวิดีโอเหล่านี้เพราะต้องการข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเรื่องที่พวกเขาหลงใหล” นิโคลัส ชมิดท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมของ YouTube เปิดเผย

อีกทั้งวิดีโอประเภทนี้สร้างความจงรักภักดีและการมีส่วนร่วมของผู้ชมเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันวิดีโอขนาดยาวก็ทำให้ครีเอเตอร์สามารถเล่าเรื่องได้ครอบคลุมทุกแง่มุมยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มทักษะการตัดต่อให้กับเหล่าครีเอเตอร์ได้ด้วยเช่นกัน แต่ถ้าจ้างมือโปรตัดคลิปให้ก็จะมีมูลค่าสูงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

  • ฟัง ASMR ได้ทั้งวัน

ชีวิตในปัจจุบันที่เร่งรีบ งานที่รัดตัว ทำให้คนเราเครียดได้ง่ายขึ้น และแต่ละคนก็มีวิธีสงบสติอารมณ์ที่แตกต่างกันไป และหลายคนเลือกที่จะดูวิดีโอบน YouTube เพื่อผ่อนคลาย โดยจากแบบสอบถามของ Ipsos บริษัทมาร์เก็ตติ้งระดับโลกระบุว่า ชาวเจน Z ถึง 83% ใช้ YouTube เพื่อดูคอนเทนต์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลาย

วิดีโอที่ได้รับความนิยมในการสร้างความผ่อนคลายให้แก่คนเจน Z ได้แก่ เสียงบรรยากาศและธรรมชาติ เช่น เสียงลม เสียงฝน การใช้ชีวิตในชนบท รวมไปถึง คลิปประเภทความพึงพอใจที่แปลกประหลาด หรือ “Oddly Satisfying” เช่น บีบสิว กลิ้งขวด ทำลายข้าวของ แต่คลิปที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมวดนี้คงจะหนีไม่พ้นวิดีโอ “ASMR

ASMR ย่อมาจาก Autonomous Sensory Meridian Response ซึ่งหมายถึง อาการตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึกอัตโนมัติ” ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยเสียงที่แผ่วเบา ดังนั้นวิดีโอประเภทนี้จึงเป็นเสียงกระซิบ เสียงเคาะสิ่งของ เสียงเคี้ยวอาหาร เสียงน้ำไหล ฯลฯ หลายคนฟังเสียงเหล่านี้แล้วช่วยให้หลับสบายยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ยังสามารถชมไลฟ์สตรีมชีวิตสัตว์โลก บรรยากาศใต้ท้องทะเล และสถานที่ธรรมชาติที่ห่างไกลได้ตลอดทั้งวัน 90% ของชาวเจน Z ใช้ YouTube ในการสำรวจโลก พาให้พวกเขาได้ท่องเที่ยวในที่ต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องเดินทางให้วุ่นวาย ซึ่งคลิปเหล่านี้มีความยาวตั้งแต่หลักชั่วโมงไปจนถึงทั้งวันทั้งคืน

 

  • ดูคัทซีนก่อนแล้วค่อยไปหาตัวเต็มดู

วิดีโอขนาดสั้นที่มักเอาวิดีโอตัวเต็มมาตัดเป็น “ไฮไลท์” ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ชาวเจน Z ไปหาวิดีโอตัวเต็มดูต่อ ถ้าหากพวกเขาสนใจที่อยากจะได้ข้อมูลเชิงลึก คำอธิบาย และการวิเคราะห์เพิ่มเติม หรืออยากรู้เรื่องราวทั้งหมด ในกรณีที่เป็นละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์ รายการ หรือสื่อบันเทิงอื่น ๆ โดย YouTube ระบุว่า 59% ของคนเจน Z ตามไปดูวิดีโอตัวเต็มหลังจากดูไฮไลท์ในวิดีโอแบบสั้นจบ

ดังนั้นนักการตลาดที่กำลังจะเกาะกลุ่มผู้บริโภคชาวเจน Z ควรเข้าใจว่าคนกลุ่มนี้ต้องการมีประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวและเกี่ยวข้องกับพวกเขา

เออร์เนสต์ แพตตี้ หัวหน้าทีมการวิจัยเจาะลึกวัฒนธรรมและเทรนด์ในระดับโลกของ YouTube แนะนำว่าถ้าคุณมีคนเจน Z เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก อย่ากลัวที่ลงไปสำรวจความสนใจเฉพาะด้านของคนเจน Z มากกว่าหว่านลงโฆษณาไปกับคอนเทนต์แมส ๆ เพราะคนเจน Z รู้ดีว่าตนเองต้องการอะไร หลงใหลในเรื่องอะไร พวกเขาแค่ต้องการรู้ในสิ่งที่เขาอยากรู้ และจะใช้เวลาไปกับการสำรวจเรื่องพวกนั้น


ที่มา: Think with Google, Think with Google 2, YouTube