AI Music ถึงเวลาออกกฎควบคุมแล้วหรือยัง?

AI Music ถึงเวลาออกกฎควบคุมแล้วหรือยัง?

AI แต่งเพลงเลียนเสียง Drake และ The Weeknd ได้เหมือนเปี๊ยบ จุดชนวนให้คนในวงการดนตรี ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ค่ายเพลง แพลทฟอร์มสตรีมมิงดนตรี ฯลฯ หันหน้ามาคุยกันถึงทิศทางของ AI Music ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นการทำร้ายศิลปิน

 

การใช้ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ทำเพลง กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนในวงการดนตรี

 

โดยเฉพาะการทำเพลง Heart On My Sleeve ด้วยการเลียนเสียงนักร้องชื่อดังระดับโลกอย่าง เดรก (Drake) และ เดอะวีกเอนด์ (The Weeknd) ออกมาได้แนบเนียนเสียจนคนพากันคิดว่า เจ้าตัวเป็นคนร้องเพลงนั้นเองจริง ๆ

 

ความเหมือนจนแยกไม่ออกนี่แหละที่กลายมาเป็น “จุดแตกหัก” ให้เกิดการฟ้องร้องตามมา พร้อม “จุดชนวน” ให้คนในวงการดนตรีหันหน้ามาคุยกันอย่างจริงจัง ถึงการนำ AI มาใช้สร้างงานศิลปะว่า มันมีข้อดี ข้อเสียอย่างไรบ้าง

 

AI Music ถึงเวลาออกกฎควบคุมแล้วหรือยัง?

 

เริ่มจากต้นสังกัดของ The Weeknd อย่าง Universal Music Group (UMG) ที่ยื่นเรื่องให้แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ ถอดเพลงดังกล่าวออก พร้อมฟ้องร้องเก็บค่าลิขสิทธิ์จากคนที่ใช้ AI ทำเพลงเลียนแบบศิลปินของตัวเอง จนทำให้เพลงดังกล่าวถูกถอดออกจากแพลตฟอร์มสตรีมมิงเพลงหลายเจ้า

 

AI Music ถึงเวลาออกกฎควบคุมแล้วหรือยัง?

Drake

 

แต่ว่าเพลงดังกล่าวยังค้างอยู่บน Spotify นับถึงวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา จนกระทั่ง UMG ผู้ดูแลสัญญาให้ Drake ออกแถลงการณ์มีใจความว่า “แพลตฟอร์มสตรีมมิงต่าง ๆ มีความรับผิดชอบทางกฎหมาย และทางศีลรรมที่จะต้องป้องกันการนำบริการของตนเองไปใช้ในทางที่จะเป็นอันตรายต่อตัวศิลปิน”

 

ทาง Spotify ถึงยอมถอดเพลงดังกล่าวออก ตามมาด้วยการชี้แจงของซีอีโอว่า กำลังทำงานร่วมกับค่ายเพลงต่าง ๆ เพื่อควบคุมการใช้ AI แต่ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำว่า จะต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาควบคู่ไปกับการปกป้องศิลปิน

 

“นี่เป็นประเด็นที่ซับซ้อนมาก ซึ่งไม่มีคำตอบที่ตรงไปตรงมาเพียงอย่างเดียว” Daniel Ek ซีอีโอของ Spotify กล่าว

 

AI Music ถึงเวลาออกกฎควบคุมแล้วหรือยัง? credit : unsplash.com

 

ทั้งนี้ การจะใช้ AI สร้างเพลงเลียนแบบนักร้องขึ้นมาได้นั้น จะต้องมีการป้อนเพลงของศิลปินคนดังกล่าวให้เอไอฟังไปเรื่อย ๆ จนสามารถเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ออกมาได้หมด นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ค่ายเพลงอาศัยตรงนี้ยื่นฟ้องเรียกเก็บลิขสิทธิ์จากการนำเพลงของศิลปินตัวเองไปใช้

 

แต่ทว่า เรื่องนี้ยังต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในศาล และมีคำตัดสินออกมาเสียก่อน จึงทำให้การผลิต AI Music เลียนแบบเสียงของศิลปินยังคงกลายเป็น ‘เรื่องเทา ๆ’ ในทางกฎหมาย

 

อย่างกรณีเพลง Heart On My Sleeve นั้น The Verge รายงานว่า ยูนิเวอร์แซลขอให้ถอดออกจาก YouTube ได้ก็เพราะว่ามีการนำแซมเปิ้ลเพลงของโปรดิวเซอร์ที่ชื่อ Metro Boomin ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วแซมเปิ้ลดังกล่าวได้รับการคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ จึงถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

 

แต่ในขณะเดียวกัน ทางค่ายยังไม่สามารถอ้างได้ว่าเพลง Heart On My Sleeve ละเมิดลิขสิทธิ์ของ Drake กับ The Weeknd ได้ (ต้องรอฟังคำตัดสินของศาลก่อน) เพราะมันเป็นเพลงต้นฉบับ (original compositon) ที่แต่งออกมาโดยไม่ได้นำส่วนหนึ่งส่วนใดจากเพลงของศิลปินทั้งคู่มาใช้เลย

 

เท่านั้นไม่พอ กรมทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐ เพิ่งตัดสินไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เองว่า งานศิลปะที่ผลิตขึ้นโดย AI (ในที่นี้รวมถึงเพลงด้วย) ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์ได้ เพราะว่ามันไม่ใช่ “ผลผลิตที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์”

 

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่างานศิลปะที่ ‘มนุษย์ใช้ AI สร้างขึ้น’ สามารถจดลิขสิทธิ์ได้หรือไม่

 

แล้วมีคนเห็นด้วยกับการใช้เสียงของตัวเองไปทำ AI music ขึ้นมาหรือไม่?

 

คำตอบคือมี เช่น Grimes นักร้องนักแต่งเพลงชาวแคนาดา ที่หลังจากเกิดวิวาทะเรื่องการใช้เสียงของ Drake กับ The Weeknd ไปทำเพลง AI ขึ้น เธอก็ออกมาประกาศว่ายินดีให้คนนำเสียงของเธอไปให้ AI โคลนเป็นเพลงออกมา แต่แลกกับการขอเก็บค่าลิขสิทธิ์ครึ่งต่อครึ่ง

               

“มันเป็นสัญญาแบบเดียวที่ฉันทำกับศิลปินที่ฉันไป collab ด้วยน่ะแหละ” 

 

AI Music ถึงเวลาออกกฎควบคุมแล้วหรือยัง? credit : pixababy.com

 

ฟังจากที่กล่าวมาทั้งหมดแล้วคงพอจะเห็นภาพขึ้นมาแล้วว่าเรื่องของ AI music และ AI art นั้นมีความสลับซับซ้อน ต้องใช้ปัจจัยหลายอย่างมาประกอบการพิจารณาจริงๆ

 

แต่อย่างน้อยก็นับเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ตอนนี้คนในวงการศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาพยนตร์ ภาพวาด เริ่มหันหน้ามาหาทางออกร่วมกันแล้ว