รอยฟิล์มในรายทาง 'อัศวินภาพยนตร์'

ตลอดเดือนกุมภาพันธ์นี้ เนื่องในวาระครบรอบ 30 ปีแห่งการจากไปของ ‘พระองค์ชายใหญ่’ อัศวินภาพยนตร์ชวนคุณรำลึกถึงผลงานบุคคลสำคัญของวงการแผ่นฟิล์ม ณ อาคารอัศวินภาพยนตร์ สถานที่ประวัติศาสตร์ด้านภาพยนตร์ของไทย
อาคารอัศวินภาพยนตร์ เป็นบริษัทผลิตภาพยนตร์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ได้รับการปรับปรุงอาคารโบราณอายุนับร้อยปี บนถนนนาคราช เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
ภายใต้การดูแลโดยหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล พระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หรือพระองค์ชายใหญ่ กับหม่อมไฉไล ยุคล ทรงมุ่งหวังให้อาคารนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และจัดกิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัย
ปฐมบทองค์ผู้ก่อตั้งอัศวินภาพยนตร์
เมื่อลิฟต์โดยสารเคลื่อนตัวไปยังชั้นต่างๆ ของอาคารอัศวินภาพยนตร์ ที่มีความสูงรวมทั้งสิ้นห้าชั้น เสมือนพาผู้เยี่ยมชมย้อนเวลากลับไปในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ในปีพ.ศ.2480 ภายใต้ชื่อไทยฟิล์ม โดยการก่อตั้งของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล และอีก 11 ปีต่อมา ทรงพัฒนาเป็นอัศวินภาพยนตร์ ให้เป็นศูนย์กลางแห่งการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ บทพระนิพนธ์ และดนตรีที่โดดเด่นของวงการภาพยนตร์ไทย
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล และเป็นพระอัยกาฝ่ายพระมารดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
ยุคทองของอัศวินภาพยนตร์
เมื่อครั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทรงสนพระทัยด้านศิลปะการแสดงมายาวนาน จึงมีพระปรีชาสามารถรอบด้าน
ทั้งในฐานะเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์และละคร ทรงพระนิพนธ์เรื่องและคำร้องเพลงประกอบ
สะท้อนผ่านสิ่งของเครื่องใช้บนโต๊ะทำงานส่วนพระองค์ โดยจำลองภาพการทำงานในยุคนั้น อาทิ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล งานออกแบบโปรแกรมหนังเรื่องเป็ดน้อย เพื่อโปรโมตหนังในเวลาต่อมา
ไม่ไกลกันนั้น ยังมีอุปกรณ์สำนักงานอย่างเครื่องพิมพ์ดีดและโทรศัพท์ นับว่าเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น วางเคียงคู่บทภาพยนตร์เรื่องวิมานไม้ฉำฉา หนึ่งในผลงานที่พระองค์ชายใหญ่ทรงสร้าง
จดหมายจ่าหน้าซองถึง พงษ์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ภาพถ่ายของดารานักแสดงอีกมากมาย อาทิ เนาวรัตน์ ยุกตะนันทน์ สรพงศ์ ชาตรี ลลนา สุลาวัลย์ ซึ่งหลายคนกลายเป็นดาวค้างฟ้าในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ของโรงเรียนการแสดงที่ยังเหลือเวทีกว้างชวนให้ผู้ชมจินตนาการไปในวันเก่า ห้องอัดเสียง เครื่องบันทึกเสียงภาพยนตร์ ห้องฉายหนัง เครื่องกรอฟิล์ม ล้อฟิล์ม
โปรแกรมหนัง กล่องใส่ฟิล์ม กระเป๋าทำจากหนังแท้สำหรับใส่ม้วนฟิล์มเรื่องละครเร่ เตรียมส่งไปฉายในโรงภายนตร์ตามจังหวัดต่างๆ
นิตยสารเกี่ยวกับแวดวงภาพยนตร์ แผ่นเสียงเพลงประกอบภาพยนตร์ ขับร้องโดยศรีไศล สุชาติวุฒิ บรรเลงโดยวงดนตรีคีตะวัฒน์ วางแทรกไปกับอุปกรณ์เดินป่าของ TANK store แบรนด์สินค้าหนึ่งในธุรกิจของทายาทเจ้าของอัศวินภาพยนตร์
โปสเตอร์หนังเรื่องเรือนแพ โดยเป็นหนังร่วมทุนสร้างระหว่างบริษัทอัศวินภาพยนตร์ จำกัด กับบริษัทชอว์บราเดอร์สแห่งฮ่องกง ถ่ายทำด้วยฟิลม์ 35 มม.ซูเปอร์ซีเนสโคป สีอิสแมนต์ เสียงพากย์ในฟิล์ม
นำแสดงโดยมาเรีย จาง ไชยา สุริยัน และจิงฟง ส.อาสนจินดา ภายหลังจากหนังออกฉายในโรง ก็มีเสียงตอบรับจากผู้ชมอย่างล้นหลาม ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งรายได้และรางวัลเกียรติยศจากสถาบันชั้นนำ
โปสเตอร์เรื่องทะเลฤาอิ่ม ที่เราได้เห็นรูปแบบงานดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ยุคก่อน โดยมีข้อความว่า สุวรรณี สุคนธา ประพันธ์จุดสะเทือนใจ ยิ่งกว่าน้ำพุลูกแม่ ภาพยนตร์กะเทาะเปลือกวัยรุ่นถึงเม็ดใน นำแสดงโดยสรพงศ์ ชาตรี วิยะดา อุมารินทร์ สองดาราคู่ขวัญแห่งยุค พร้อมด้วยต่อลาภ กำพู หรรษา จริยาพร อเนก คุมประวัติ นพดล เทพอัศว ผกาแก้ว ร่วมแสดง
ผลงานเรื่องทะเลฤาอิ่ม ทรงกำกับการแสดงโดยพระองค์ชายใหญ่ มีอดุลย์ ดุลยรัตน์ เป็นผู้ช่วยกำกับการแสดง โชน บุนนาค พูนสวัสดิ์ ธีมากร ถ่ายภาพ หม่อมปริม ยุคล ณ อยุธยา(ปริม บุนนาค) อำนวยการสร้าง และอัศวินภาพยนตร์ เป็นผู้จัดจำหน่าย
รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ทรงเป็นผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ของไทย ภายใต้บริษัทอัศวินภาพยนตร์ จำกัด ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ไทยที่มีผลงานเชิดชูพระเกียรติมากมาย
อาทิ ภาพยนตร์เรื่องพันท้ายนรสิงห์ โดยหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ยกย่องให้เป็นมรดกของชาติในปีพ.ศ. 2558 แสดงให้เห็นถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของบทพระนิพนธ์ ถ่ายทอดความจงรักภักดี และความซื่อสัตย์ต่อสถาบันในรูปแบบภาพยนตร์ของคนไทย
รวมทั้งภาพยนตร์เรื่องเรือนแพ หนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำด้วยฟิลม์ 35 มม. ซูเปอร์ซีเนสโคป ได้รับคัดเลือกให้เป็น 100 ภาพยนตร์ที่คนไทยควรดู และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ในปีพ.ศ. 2555 ถือเป็นผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ชายใหญ่และภาพยนตร์ไทยในยุคนั้น
นอกจากนั้น เพลงบัวขาว ซึ่งถือกำเนิดจากอัศวินภาพยนตร์ ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเพลงแห่งเอเชีย บรรเลงครั้งแรกโดยวงดนตรีอัศวินภาพยนตร์ ซึ่งต่อมารู้จักกันในนามวงสุนทราภรณ์ ถือเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย
ด้านการแสดง อัศวินภาพยนตร์ ยังมีแผนกโรงเรียนอัศวินการแสดง ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2525 มีร่องรอยการเรียนการสอน ฝึกซ้อมบทบาทอยู่จนถึงปัจจุบัน นับเป็นโรงเรียนการแสดงแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งภายหลังนักเรียนจบการศึกษาแล้ว ทุกคนจะได้รับวุฒิบัตร รับรองหลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมเป็นดาราในวงการบันเทิงไทย
ในยุคปัจจุบัน อาคารอัศวินภาพยนตร์ โดยหม่อมเจ้านวพรรษ์ ยุคล พระโอรสของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล ทรงเข้ามาดูแลสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ มีพระดำริปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรม เข้ากับมุมมองร่วมสมัย
จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบบนเนื้อที่ 1 ไร่ เช่น การแสดงภาพยนตร์ วรรณกรรม การแสดงการเต้นร่วมสมัย เวิร์คชอปในหัวข้อต่างๆ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ เข้าถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยได้ง่ายขึ้น ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 11.00 น.-20.00 น.