วิถี 8 ของ 'ผู้นำที่ใช่' ในโลกธุรกิจยุคใหม่ โดย ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ

วิถี 8 ของ 'ผู้นำที่ใช่' ในโลกธุรกิจยุคใหม่ โดย ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ

การบริหารธุรกิจยุคนี้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ “ผู้นำที่ใช่” จะสามารถนำพาองค์กรมุ่งสู่ความสำเร็จได้ แล้ว ผู้นำที่ใช่ ต้องเป็นแบบไหน? ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ที่ปรึกษาด้านบริหาร มีคำตอบ!

KEY

POINTS

  • การบริหารธุรกิจยุคนี้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ “ผู้นำที่ใช่” จะสามารถนำพาองค์กรมุ่งสู่ความสำเร็จได้
  • “ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิโพชฌงค์ ที่ปรึกษาด้านบริหารให้กับองค์กรชั้นนำ ให้คำแนะนำถึงการเป็น ผู้นำที่ใช่ ด้วยการฝึกทักษะตามหลักการ “วิถี 8 ของผู้นำที่ไม่มีวันตกยุค”
  • รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ที่พบว่า บริษัทหลายแห่งแก้ปัญหา Generation Gap ของพนักงานอย่างไร หลักๆ สรุปได้ 3 วิธี ได้แก่ เอา AI เข้ามาแทนที่พนักงาน, แยกการทำงาน ให้คนเก่าทำงานเก่า คนใหม่ทำงานใหม่, ผสมผสานคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ให้ทำงานด้วยกัน โดยใช้เครื่องมือทาง LOKM

การบริหารธุรกิจยุคนี้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ “ผู้นำที่ใช่” จะสามารถนำพาองค์กรมุ่งสู่ความสำเร็จได้ แล้ว ผู้นำที่ใช่ ต้องเป็นแบบไหน? ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ที่ปรึกษาด้านบริหาร มีคำตอบ!

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกของการบริหารธุรกิจยุคนี้เต็มไปด้วยความท้าทาย ผู้นำองค์กรต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาดิสรัปธุรกิจอย่างรวดเร็วจนอาจปรับตัวตามไม่ทัน นี่ยังไม่นับปัญหาภายในองค์กร เช่น พนักงานต่างเจนเนอเรชันที่อาจทำงานร่วมกันได้ไม่ราบรื่นนัก 

จะเห็นได้ว่าหลายๆ ธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต แต่พอมาถึงยุคปัจจุบันนี้อาจจะไม่สามารถทำกำไรได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้นำองค์กรจึงต้องปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้อยู่รอดอย่างยั่งยืน คำถามคือ มีหนทางใดบ้างที่จะช่วยให้ 'ผู้นำ' ก้าวข้ามความท้าทายเหล่านั้น เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในโลกยุคนี้ให้ได้? 

“วิถี 8 ของผู้นำ” คือ ทักษะของการเป็นผู้นำที่ใช่ ในการบริหารองค์กรยุคใหม่

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิโพชฌงค์ ที่ปรึกษาด้านบริหารให้กับองค์กรชั้นนำ เพื่อหาคำตอบถึงหลักการบริหารธุรกิจและการบริหารองค์กรของ “ผู้นำ” ในโลกที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงสุดท้าทาย ณ ปัจจุบันนี้ว่า ควรปรับเปลี่ยนไปในทิศทางใด 

ดร.วรภัทร์ เริ่มอธิบายให้เห็นภาพรวมว่า สมัยนี้ผู้นำหลายๆ องค์กรต้องเผชิญกับการถูกเทคโนโลยีดิสรัป และการเข้ามาของพนักงานรุ่น Gen Z ในตลาดแรงงาน ที่มีความต้องการในแง่การทำงาน ความคิด ความเชื่อ และทัศนคติแตกต่างจากพนักงานรุ่นก่อนๆ ดังนั้น ผู้นำในยุคนี้จะต้องเข้าใจปัญหาและสามารถทำให้พนักงาน รุ่นเก่า-รุ่นใหม่ ทำงานร่วมกันได้ ด้วยเป้าหมายองค์กรเดียวกัน

วิถี 8 ของ \'ผู้นำที่ใช่\' ในโลกธุรกิจยุคใหม่ โดย ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ

ทั้งนี้ ดร.วรภัทร์ ได้ยกเอาหลักการจากหนังสือ “The Right Leader” ที่เจ้าตัวเป็นหนึ่งในทีมผู้เขียน มาเล่าและให้คำแนะนำในการเป็น “ผู้นำที่ใช่” ในการบริหารงานด้วยการนำเอาหลักการ “Management” (หลักบริหารจัดการธุรกิจ) มาเชื่อมโยงกับหลักธรรมะ (มรรคมีองค์ 8) ผสมผสานกันจนได้ออกมาเป็น “วิถี 8 ของผู้นำที่ไม่มีวันตกยุค” 

ถือเป็นหลักในการพัฒนา “ภาวะผู้นำ” ให้สามารถประยุกต์เข้ากับการบริหารธุรกิจและองค์กรสมัยใหม่ได้ มุ่งสู่การเป็น “ผู้นำที่ใช่” และนำพาองค์กรธุรกิจให้รอดพ้นจาก Disruption และทำให้องค์กรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยไม่มีปัญหาเรื่อง Generation Gap ดังนี้ 

1. The Right Mindset ชุดความคิดที่ใช่ (สัมมาทิฏฐิ)

ผู้นำที่ดี ต้องมีชุดความคิดที่ใช่ เหมือนการเริ่มติดกระดุมเม็ดแรก ถ้าติดเม็ดแรกถูก เม็ดต่อไปก็ไม่ผิดพลาด จึงสามารถคว้าความสำเร็จได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ดังนั้นสิ่งสำคัญอันดับแรกคือ ผู้นำและผู้ตามต้องเคลียร์ Mindset ให้เข้าใจตรงกันก่อน เช่น ความคิดเชิงพัฒนา (Growth Mindset) ความเชื่อ ความคาดหวัง ที่ตรงกัน

2. The Right Purpose เป้าหมายที่ใช่ (สัมมาสังกัปปะ)

ผู้นำที่ใช่ ต้องมีเป้าหมายที่ใช่ ที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง แต่ขณะเดียวกันต้องเป็นเป้าหมายเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวมในองค์กร และเพื่อมวลมนุษยชาติด้วย เป้าหมายที่ใช่ต้องไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ควรเป็นองค์กรที่เห็นแก่ตัว เป็นเป้าหมายที่ยั่งยืน ช่วยเหลือสังคม เป็นเป้าหมายที่มาจาก The Right Mindset 

3) The Right Communication การสื่อสารที่ใช่ (สัมมาวาจา)

การสื่อสารที่ใช่ คือ การสื่อสารให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับตัวเอง การสื่อสารกับผู้อื่น ทั้งแบบที่ใช้คำพูดและไม่ใช้คำพูด บางครั้งผู้นำที่ใช่จะสื่อสารด้วยการไม่พูด แต่ต้องเน้นย้ำบ่อยๆ ต้องสื่อสารเป้าหมายอย่างชัดเจนให้เข้าใจถ่องแท้ จึงจะขยายไปสู่พนักงานระดับล่างได้ อีกทั้งต้องรู้จักพูดดีๆ กับตัวเอง ถ้าเรายังพูดดีๆ กับตัวเองไม่ได้ เราไม่มีทางประสบความสำเร็จ You are what you think และ You are what you talk to yourself คำพูดดีๆ จะพาเราไปในที่ดีๆ มันเป็นกฎของแรงดึงดูด 

วิถี 8 ของ \'ผู้นำที่ใช่\' ในโลกธุรกิจยุคใหม่ โดย ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ

4. The Right Action การกระทำที่ใช่ (สัมมากัมมันตะ)

การกระทำของผู้นำส่งผลต่อพนักงานอย่างมาก ทุกกิจกรรมที่ทำล้วนเป็นการสื่อสารเป้าหมาย และชุดความคิด ต้องเป็นผู้นำที่ใช่ด้วยการกระทำที่ใช่ ในยุคนี้การจะทำสิ่งใดก็ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและมนุษยชาติ โดย มี 3 เป้าหมาย คือ คน - สังคม - โลกของเรา (PSP: People – Social - Planet)

5) The Right Livelihood การเลี้ยงชีพที่ใช่ (สัมมาอาชีวะ)

การเลี้ยงชีพที่ใช่ คือการบวชอยู่กับงาน คือ ทำงานไปและปฏิบัติธรรมไปด้วยกันได้ ผู้นำต้องบริหารงานอย่างไม่เห็นแก่ตัว ทำธุรกิจรวยแล้วต้องแบ่งปันกัน ผู้นำที่ใช่จะคำนึงถึง Profit - People - Sustainable จึงจะเป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในทุกๆ ด้าน อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

6) The Right Deliberate Practice ความเพียรที่ใช่ (สัมมาวายามะ)

ขยันในสิ่งที่ควรขยัน ขยันเพื่อมวลมนุษยชาติ ขยันสร้างกุศล ขยันเอากิเลสออกจากตัวเองเรื่อยๆ เมื่อผู้นำมีความขยันองค์กรก็จะประสบความสำเร็จ ดีที่สุดคือ ต้องสำเร็จทางธรรมคู่ขนานกับความสำเร็จทางโลกไปด้วย ขยัน อดทน อย่าท้อ และอย่าเร่ง เปรียบเสมือนปลูกต้นไม้ใหญ่ ต้องใจเย็นๆ และหมั่นรดน้ำทุกวัน ต้องขยันทำไปเรื่อยๆ แม้ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้ แต่อย่าล้มเลิก

7) The Right Mindfulness การระลึกรู้ที่ใช่ (สัมมาสติ) 

สติเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้บริหารหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญกับการเข้าคอร์สฝึกสติ ประเทศไทยเราถือเป็นต้นฉบับของการฝึกทักษะนี้ ดังนั้น ผู้นำควรจะต้องฝึกสติให้มาก เพราะเปรียบเสมือน check list ตัวเองอยู่เสมอ คือ เช็กกาย ใจ และความคิด ว่า กายพร้อมหรือไม่ ใจสงบหรือไม่ มีความคิดเห็นแก่ตัวหรือไม่ เมื่อสติมาปัญญาก็เกิด ถ้าฝึกสติเป็นประจำ จะเห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (Seeing The Unseen) ซึ่งสิ่งนี้ก็ตรงกับหลักการบริหารด้วย นั่นคือ หลัก Plan Do Check Action (วางแผน ลงมือทำ ตรวจสอบ แก้ไข) ผู้นำที่ใช่ จะสามารถสะสมสติควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมได้

8) The Right Concentration ใจตั้งมั่นที่ใช่ (สัมมาสมาธิ) 

การบริหารแพ้หรือชนะมักจะวัดกันด้วยเรื่อง การตัดสินใจที่ผิดพลาด และสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด คือใจที่ไม่สงบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจิตใจที่สงบอย่างต่อเนื่อง จึงมีประโยชน์ต่อการตัดสินใจที่ดี หากเมื่อใดที่รู้สึกว่าจิตใจไม่นิ่งพอ ก็ให้เรียกสติมา พอมีสติก็จะทำให้จิตใจว่าง สงบ นิ่ง ปัญญาก็จะเกิดและสามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างเฉียบคม หากผู้นำฝึกข้อนี้ได้เยอะ ก็จะช่วยพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ได้ง่ายขึ้น นำไปสู่ความฉลาดด้านอื่นตามมา เช่น การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในองค์กร 

วิถี 8 ของ \'ผู้นำที่ใช่\' ในโลกธุรกิจยุคใหม่ โดย ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ

ผู้นำองค์กร กับ 3 วิธีรับมือความท้าทายเรื่อง Generation Gap ของพนักงานในองค์กร

นอกจากนี้ อย่างที่บอกไปว่าปัจจุบันมีหลายๆ องค์กรกำลังเผชิญกับปัญหาด้าน Generation Gap ของพนักงานรุ่นก่อนๆ กับพนักงานคนรุ่นใหม่ Gen Z ซึ่งแต่ละบริษัทก็ใช้วิธีแก้ปัญหาแตกต่างกันไป ดร.วรภัทร์ ในฐานะที่ปรึกษาด้านบริหารให้กับองค์กรต่างๆ จึงมีประสบการณ์และได้รู้ถึงวิธีการแก้ไขเรื่องนี้หลายๆ วิธี ส่วนใหญ่ก็พอจะสรุปได้ 3 วิธี ดังนี้ 

1. นำโรบอท หรือ AI มาทดแทนพนักงานที่มีปัญหา

ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทุกคนมีปัญหาในที่ทำงาน บางคนมีปัญหาปรับตัวไม่ได้ แต่บางคนก็ไม่มีปัญหา ทำ

งานร่วมกับทีมได้ ในส่วนของคนที่มีปัญหาบางบริษัทก็จะหาโรบอทหรือ AI มาแทนพนักงานส่วนนั้นไปเลย เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งเหยิงในการทำงานร่วมกันของคนต่างวัย ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิธีที่โหด ส่วนคนที่ทำงานได้ ปรับตัวได้ ก็ให้อยู่กับองค์กรต่อไป ขณะเดียวกันองค์กรก็ใช้หลักการที่ว่า Your Employee is Your Brand เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ให้คนภายนอกเห็นว่า องค์กรของเขาน่าร่วมงานด้วย เพื่อสื่อสารไปยังเด็กรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพดีให้เข้ามาร่วมงานกับเขามากขึ้น

2. เรื่องเก่าให้คนรุ่นเก่าทำ เรื่องใหม่ให้คนรุ่นใหม่ทำ

จากประสบการณ์ส่วนตัวของเคยเห็นบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งใช้วิธีนี้แก้ไข คือ เรื่องเก่าให้คนรุ่นเก่าทำ เรื่องใหม่ให้คนรุ่นใหม่ทำ คือ เปิดบริษัทใหม่ในเครือเดียวกันขึ้นมาเลย แล้วแต่งตั้งผู้บริหารใหม่ที่อายุไม่เกิน 30 ปีไปบริหาร ไม่ต้องเอาทุกคนทุกงานมาปนกัน ใครถนัดอะไรก็ให้ไปทำอันนั้น ลูกค้าเก่าของบริษัทก็ให้พนักงานรุ่นก่อนๆ ดูแลไปเหมือนเดิม ส่วนการหาลูกค้าใหม่ๆ ก็ให้พนักงานคนรุ่นใหม่เป็นคนดูแล 

3. บริหารแบบ "ไฮบริด" ผสมผสานคนรุ่นก่อนกับรุ่นใหม่เข้าด้วยกัน

ในบางองค์กรที่มีความจำเป็นที่ต้องเอาคนรุ่นก่อนๆ กับคนรุ่นใหม่มาทำงานร่วมกัน แยกกันไม่ได้ ก็จะเกิดวิธีการรับมือแบบไฮบริดขึ้นมา ซึ่ง ดร.วรภัทร์ ก็ใช้เครื่องมือทาง LOKM (Learning Organization Knowledge Management) อย่างการใช้กิจกรรม Dialogue, Debating, Reverse Mentoring เข้ามาช่วยปรับพฤติกรรม เน้นการสื่อสารระหว่างกัน เพื่อเชื่อมสัมพันธ์พนักงานทุกเจนเนอเรชันในองค์กร เน้นใช้เครื่องมือเข้าไปช่วยทั้งหมด ซึ่ง “มูลนิธิโพชฌงค์” ก็จะมีสอนและพัฒนาทักษะผู้นำ และทักษะพนักงานด้วยเครื่องมือนี้เหล่านี้ด้วย

โดยกิจกรรมต่างๆ จะช่วยให้คนต่าง Gen หลายช่วงอายุสามารถค่อยๆ เบลนให้ทำงานร่วมกันได้ดีมีประสิทธิภาพ แตjอย่างไรก็ตาม ก็ต้องเริ่มปรับตั้งแต่ตัวผู้บริหารระดับสูงก่อน โดยให้ผู้บริหารมีองค์ความรู้จากข้างใน (Inner) ตัวเขาเองก่อน เพื่อให้เห็นว่าการบริหารงานนั้นจะให้อารมณ์นำทางไม่ได้ และต้องแยกแยะให้ออกระหว่าง “Believe” กับ “fact” ต่างกันอย่างไร อะไรควบคุมได้ อะไรควบคุมไม่ได้ พอผู้นำเริ่มเห็นภาพและเข้าใจในแนวทาง จากนั้นเขาจะเริ่มปรับที่ตัวเขาก่อน แล้วเกิดเป็นวิธีทำงานและนโยบายลงไปสู่ระดับพนักงาน เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม หากผู้นำฝึกทักษะด้วยหลักการ “วิถี 8 ของผู้นำที่ไม่มีวันตกยุค” ดังกล่าวบ่อยๆ สม่ำเสมอ ก็จะสามารถปลดล็อกความท้าทาย สร้างแต้มต่อธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในแบบ “ผู้นำที่ใช่” นำไปสู่การบริหารองค์กรสามารถดำเนินไปได้อย่างสมดุล ส่งผลให้ Operation team มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน มีฝ่ายตรวจสอบและวัดผลการบริหารขององค์กร ทั้งในแง่ของผลประกอบการและความสุขของพนักงานจะอยู่ในระดับที่สมดุลในทุกด้าน นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด