ทำไม 'คนรวย' ชอบเลี้ยงสัตว์ป่า? ไม่ใช่แค่อวดรวยแต่อาจสื่อถึงการเอาชนะ

ทำไม 'คนรวย' ชอบเลี้ยงสัตว์ป่า? ไม่ใช่แค่อวดรวยแต่อาจสื่อถึงการเอาชนะ

เปิดเหตุผล ทำไม "คนรวย" ชอบเลี้ยงสัตว์ป่า? ไม่ใช่แค่ "สิงโต" หมี หรือเสือชีตาห์ แต่บางคนมีเหยี่ยวถึง 80 ตัว แถมซื้อตั๋วเครื่องบินให้พวกมันนั่งอีกด้วย

Key Points:

  • เทรนด์การเลี้ยง "สัตว์ป่า" ดุร้ายอย่างเสือ สิงโต ในแวดวงมหาเศรษฐีหรือกลุ่มคนชนชั้นสูง ไม่ใช่เพิ่งจะมีตอนนี้ แต่มีมานานหลายปีแล้ว 
  • มีรายงานข่าวจากหลากหลายสื่อที่ระบุถึงไลฟ์สไตล์เหล่านี้ของกลุ่มคนผู้ร่ำรวยมั่งคั่งว่า พวกเขานิยมเลี้ยงสัตว์ป่าหายากไว้โอ้อวดความร่ำรวยผ่านสื่อโซเชียล
  • แนวคิด "ความหรูหรา" เป็นสิ่งที่เหล่าราชวงศ์และชนชั้นสูงใช้แยกตนเองออกจากชนชั้นแรงงาน นอกจากบ้านเรือนและของใช้ราคาแพงๆ แล้ว สัตว์ป่าหายากก็เป็นเครื่องมือสื่อถึงความรวยและอำนวจของพวกเขา

ภาพ “สิงโต” ตัวเป็นๆ บนรถหรูโผล่กลางเมืองพัทยาที่เป็นกระแสข่าวดังเมื่อไม่กี่วันก่อน อาจทำให้หลายคนนึกถึงภาพคล้ายๆ กันนี้ของมหาเศรษฐีแถบประเทศอาหรับ ที่มักโพสต์รูปตัวเองกับสัตว์ป่าที่ถูกนำมาเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านของพวกเขาผ่านสื่อโซเชียล ซึ่งเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ป่าในกลุ่มคนร่ำรวยไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่มีมานานหลายปีแล้ว

แต่คำถามที่หลายคนสงสัยคือ ทำไม “คนรวย” ถึงต้องเลี้ยงสัตว์ป่าอย่างสิงโต เสือ หมี งู ฯลฯ แทนที่จะเลี้ยงหมาแมวเหมือนคนทั่วไป? คำตอบ.. อาจไม่มีอะไรไปมากกว่าการอยากโอ้อวด!

 

  • เอาสัตว์ป่ามาเป็นสัตว์เลี้ยง = สัญลักษณ์สถานะความร่ำรวยขั้นสุดของ "มหาเศรษฐี"

ตามรายงานของ Dailymail ในปี 2016 ระบุไว้ว่า มหาเศรษฐีมักชอบอวดความมั่งคั่งของพวกเขาผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งหนึ่งในสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสถานะความร่ำรวยขั้นสุดของพวกเขาได้ดีก็คือ การนำสัตว์ป่าดุร้ายอย่าง "สิงโต" หรือ "เสือ" มาเป็นสัตว์เลี้ยง และแน่นอนว่าพวกเขาชอบโชว์สัตว์เลี้ยงเหล่านั้นบนสื่อโซเชียล ทั้งการโพสต์รูปเสือชีตาห์นั่งในรถซุปเปอร์คาร์ หรือการลงเล่นน้ำในสระกับสิงโต เป็นต้น

ด้าน Business Insider ก็เคยมีรายงานถึงภาพถ่ายไวรัลเมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นภาพนกเหยี่ยวหลายสิบตัวนั่งโดยสารบนเครื่องบิน โดยในรายงานข่าวระบุว่า เหยี่ยวจำนวน 80 ตัวเหล่านั้นเป็นของ เจ้าชายซาอุดีอาระเบียองค์หนึ่งที่ได้มีการซื้อตั๋วเครื่องบินให้นกเหล่านั้นได้นั่งเดินทางไปในห้องโดยสารร่วมกับมนุษย์ 

ในรายงานบอกอีกว่า การขนส่งเหยี่ยวบนเครื่องบินในตะวันออกกลางถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากชาวตะวันออกกลางมีการเลี้ยงเหยี่ยวเพื่อฝึกล่ามานานนับพันปีแล้ว ถือเป็นกีฬายอดนิยมสำหรับ “ชนชั้นสูงในตะวันออกกลาง” อีกทั้งเหยี่ยวเป็นนกประจำชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดังนั้นจึงสมเหตุสมผลที่สายการบินที่ให้บริการในประเทศนี้จะให้บริการขนส่งเหยี่ยวได้ด้วย

ขณะที่ Wildlifesos.org ก็กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความตอนหนึ่งว่า แนวคิด "ความหรูหรา" มีมานานตั้งแต่ยุคอดีต และมันถูกวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ เป็นวิธีที่เหล่าราชวงศ์และชนชั้นสูงใช้แยกตนเองออกจากชนชั้นแรงงาน แนวคิดการใช้ชีวิตแบบหรูหราของคนชั้นสูง (ชนชั้นปกครอง) มีอยู่ในหลายชนชาติทั่วโลก แตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม 

ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สัตว์หายากถือเป็นสัญลักษณ์ของสถานะอันสูงส่งมาเป็นเวลานานตั้งแต่ยุคอดีต ถึงแม้ในยุคปัจจุบันจะมีกฎหมายห้ามเก็บสัตว์ เช่น เสือดาว เสือ และสิงโต ไว้ที่บ้าน แต่การค้าขายสัตว์ป่าก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีหลายคนอวดสัตว์เลี้ยงที่เป็นสัตว์ป่าของพวกเขาบนสื่อสังคมออนไลน์

 

  • การเลี้ยงสัตว์ป่าดุร้าย ตอบโจทย์การอยากเอาชนะธรรมชาติของคนรวย

ในทำนองเดียวกัน ลิซ่า วาธเน ผู้จัดการฝ่ายสัตว์ป่าที่ถูกกักขังขององค์กร Humane Society of the United States ก็ได้สะท้อนความคิดเห็นผ่าน Vice ไว้ว่า การเป็นเจ้าของสัตว์แปลกหรือสัตว์ป่า (Exotic pets) แทบจะเป็นพิธีกรรมสำหรับคนรวยและชนชั้นสูงผู้มีชื่อเสียงในโลก 

พวกเขามักจะโอ้อวดสัตว์เหล่านี้บนโซเชียลมีเดีย เช่น อินสตาแกรมและทินเดอร์ บางครั้งเราจะเห็นภาพเสือชีตาห์ที่ถูกล่ามโซ่ไว้ข้างๆ รถลัมโบร์กินี หรือการนำลูกเสือใส่ในกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง หรือแม้แต่การพาสิงโตไปนั่งเรือยอชต์สุดหรูกลางทะเล ฯลฯ พวกมันกลายเป็นสินค้าเครื่องประดับสำหรับคนเพียง 1% ในโลกนี้ที่สามารถซื้อหาได้ และอุตสาหกรรมนี้ก็มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์

“เหตุผลง่ายๆ เลย คนรวยก็แค่อยากโชว์อีโก้ของพวกเขา โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เลี้ยงเสือใส่สายจูง หรือคนที่มีงูยักษ์พันรอบคอ รู้ได้เลยว่าคนพวกนั้นคิดถึงตัวเองมากกว่าคิดถึงสวัสดิภาพของสัตว์” ลิซ่า วาธเน กล่าว 

อีกทั้งเธอเคยสงสัยว่าเสน่ห์ที่แท้จริงของการได้เป็นเจ้าของสิงโต เสือ หรือหมี นั้นคืออะไรกันแน่? เพราะมันแทบจะไม่มีเหตุผลดีๆ สักข้อเลย เนื่องจากตามธรรมชาติแล้วสัตว์ป่าไม่สามารถเลี้ยงให้เชื่องเหมือนสัตว์เลี้ยงได้ 

สิงโตและเสือไม่เหมือนแมวตรงที่ DNA ของพวกมันไม่ได้ถูกคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ให้เชื่องลงมาหลายชั่วอายุคนเหมือนแมว ขณะที่หมีต่างจากสุนัขตรงที่ไม่สามารถฝึกให้เชื่อฟังมากขึ้นได้จากการเลี้ยงดู พวกมันไม่ใช่แค่หายาก แต่มากกว่านั้นคือพวกมันเป็นสัตว์ป่าที่เลี้ยงไม่เชื่อง (ดุร้าย)

เธอจึงคิดว่าเหตุผลที่คนชนชั้นสูงที่ร่ำรวยมากชอบเลี้ยงสัตว์ป่า อาจเป็นเพราะพวกเขามองว่าความดุร้ายของสัตว์ป่าเหล่านี้เป็นคุณค่าที่สามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ มันให้ความรู้สึกว่าพวกเขาอยู่เหนือพวกมัน พวกเขาเอาชนะกฎธรรมชาติได้ 

หากมองในเชิงมานุษยวิทยาและวิวัฒนาการของมนุษย์จะพบว่า มนุษย์เรามีความต้องการเอาชนะธรรมชาติอยู่เสมอมาตั้งแต่อดีตกาล โดยเฉพาะในกลุ่มกษัตริย์​และชนชั้นสูงเพราะมันแสดงถึงอำนาจและการควบคุมได้ (ในที่นี้เงินก็คืออำนาจอย่างหนึ่ง) ดังนั้น ลิซ่า วาธเน จึงสรุปว่าการที่คนรวยชอบเลี้ยงสัตว์ป่าก็เพราะต้องการอวดอีโก้และอยากแสดงถึงอำนาจของพวกเขาที่อยู่เหนือสัตว์ดุร้ายเหล่านั้น แม้ว่ามันช่างเป็นการใช้ชีวิตหรูหราที่น่าเศร้ามากสำหรับสัตว์เหล่านั้นก็ตาม