ปิ๊งไอเดียตอน ‘เคลิ้มหลับ’ นักวิทย์ชี้ เป็นเวลาที่สมองผุดความสร้างสรรค์

ปิ๊งไอเดียตอน ‘เคลิ้มหลับ’ นักวิทย์ชี้ เป็นเวลาที่สมองผุดความสร้างสรรค์

สำหรับบางคนเมื่อปิดไฟเข้านอน หัวถึงหมอนปุ๊บ แทนที่จะหลับแต่กลับคิดงานหรือไอเดียดีๆ ออกเสียอย่างนั้น? ลักษณะแบบนี้ เกิดขึ้นได้กับคนที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั่วโลก

Key Points:

  • ปัจจัยที่ทำให้ใครหลายคนสมองแล่นในช่วง “เคลิ้มหลับ” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเริ่มเข้าสู่สภาพแวดล้อมการพักผ่อนอย่างสงบของ “การนอนหลับ” ขั้นแรก ที่เรียกว่า “Non-REM sleep 1” หรือ “N1”
  • จากการวิจัยเรื่องความคิดสร้างสรรค์ตามระดับของ “การนอนหลับ” พบว่า  มีโอกาสมากกว่าร้อยละ 2.7 เท่า หลังใช้เวลาเพียง 1 นาที ในช่วง N1 เพื่อไปถึงจุดที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
  • นอกจากเรื่องระดับของการนอนหลับแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้บางคนเลือกทำงานในเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน เช่น ความเงียบสงบ ความยืดหยุ่นของเวลา และความผ่อนคลาย เป็นต้น

ทำงานมาทั้งวันแต่คิดงานไม่ออก ไปอาบน้ำ ทำงานบ้าน หรือออกไปเดินเล่นมาแล้ว ก็ยังไม่มีความคิดใหม่ๆ แต่ทำไมพอปิดไฟเข้านอน หัวถึงหมอนปุ๊บ ไอเดียกระฉูดทันที? ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? ชวนรู้คำตอบด้านวิทยาศาสตร์

ใครที่มักเกิดความคิดดีๆ ในช่วงกำลัง “เคลิ้มหลับ” ไปนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลก และเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทั่วโลก นั่นเป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าว สมองไม่ถูกรบกวนจากสิ่งกระตุ้น หรือถูกดึงความสนใจเหมือนช่วงเวลากลางวัน ทำให้เกิดสมาธิ และสมองทำงานได้มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอธิบายว่า การนอนหลับช่วยดึงความคิดสร้างสรรค์และจัดระเบียบความทรงจำได้อีกด้วย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้ดีที่สุด ในการนอนหลับช่วงแรกที่เรียกว่า “Non-REM sleep 1” หรือ N1 ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเรารู้สึกว่าในบางครั้งการทำงานตอนกลางคืนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าตอนกลางวัน

  • ทำความเข้าใจ “N1” คืออะไร

ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจการทำงานอันซับซ้อนของสมองในช่วงเคลิ้มหลับ ต้องทำความรู้จักกับระดับของการนอนกันก่อน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระดับการนอน คือ ช่วงหลับธรรมดา หรือ “Non-REM sleep” และ ช่วงหลับฝัน หรือ “REM Sleep” ซึ่งช่วงที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ก็คือช่วง Non-REM sleep ที่สามารถแบ่งย่อยได้อีก 3 ระดับ ดังนี้

- ระดับที่ 1 หรือ N1 เป็นช่วงเริ่มหลับที่มักจะเป็นช่วงสั้นๆ โดยสมองจะทำงานช้าลง หากตื่นขึ้นมาในช่วงนี้เราจะไม่ค่อยมีอาการงัวเงีย ในบางคนอาจรู้สึกสดชื่น และที่น่าสนใจคือมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ตามมาด้วย

- ระดับที่ 2 หรือ N2 คือช่วงรอยต่อระหว่างเริ่มหลับไปยังช่วงหลับลึก หัวใจจะเต้นช้าลง อุณหภูมิร่างกายลดลงเล็กน้อย ใช้เวลามากกว่า 50% ของการนอนทั้งหมด มีข้อดีคือช่วยกระตุ้นความจำระยะสั้นและเพิ่มสมาธิได้

- ระดับที่ 3 หรือ N3 เป็นช่วงหลับลึก ร่างกายเริ่มไม่ตอบสนองสิ่งเร้าภายนอก เพราะอยู่ในภาวะพักผ่อนมากที่สุด รวมถึงมีการหลั่ง Growth Hormone หากตื่นขึ้นมาในช่วงนี้จะมีความรู้สึกงัวเงีย

  • ทำไมช่วงเคลิ้มๆ หลังเข้านอนมักมี “ความคิดสร้างสรรค์” เกิดขึ้น?

เชื่อว่าหลายคนคงเคยพบว่าตัวเองมักคิดงานหรือมีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นในระหว่างเข้านอน แต่ตอนทำงานมาทั้งวันกลับแทบคิดอะไรไม่ออก นั่นเป็นเพราะความเชื่อมโยงระหว่างระยะการนอนหลับ N1 กับระบบการทำงานของสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์

ข้อมูลจากงานวิจัย “Sleep onset is a creative sweet spot” ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science Advances ระบุว่า มีโอกาสมากกว่าร้อยละ 2.7 เท่า หลังใช้เวลาเพียง 1 นาที ในช่วง N1 ที่มนุษย์เข้าสู่สภาพแวดล้อมของการพักผ่อนอย่างสงบ มีระดับอัลฟ่าปานกลางและเดลต้าระดับต่ำ ทำให้ไปถึงจุดที่เรียกว่า “Creative Sweet Spot” หรือ จุดที่พอดีสำหรับความคิดสร้างสรรค์

โดยการวิจัยดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมทดสอบเป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 103 คน ซึ่งต้องทำโจทย์หาคำตอบทางคณิตศาสตร์ และมีการตรวจคลื่นสมองเพื่อจับระยะเวลาที่เริ่มเข้าสู่การนอนหลับในแต่ละระดับ หลังจากนั้นจะนำคำตอบของผู้ทดสอบมาเปรียบเทียบกัน

ผลจากการทดสอบพบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนว่า กลุ่ม N1 ที่อยู่ระหว่างเคลิ้มหลับและตื่นขึ้นมาสามารถแก้โจทย์ได้ดีว่ากลุ่ม N2 ถึง 5.8 เท่า แม้ว่าจะเป็นเพียงงานวิจัยในเบื้องต้น เพราะระบบการทำงานของสมองมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก แต่ก็ชี้ให้เห็นว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บางคนสมองแล่นในช่วงเคลิ้มหลับ และบางคนก็นำไอเดียที่เกิดขึ้นในตอนนั้นมาต่อยอดได้ในทันที

  • ปัจจัยของประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นในการ “ทำงานตอนกลางคืน”

เนื่องจากไอเดียเจ๋งๆ ของใครหลายคนมักเกิดขึ้นในช่วงเคลิ้มหลับตามที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ทำให้บางคนเลือกที่จะลุกขึ้นมาทำงานในตอนนั้นเลยเพื่อไม่ให้ความคิดเหล่านั้นหายไป แต่ไม่ใช่แค่ความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นเท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้ใครหลายคนเลือกทำงานในตอนกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน เช่น

1. ความเงียบสงบ

เนื่องจากตอนกลางคืนเงียบและสงบกว่าตอนกลางวัน ทำให้มีสมาธิมากขึ้นและทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. รูปแบบการนอนที่ยืดหยุ่น

บางคนอาจใช้วิธีงีบหลับระหว่างวัน และหันมาพึ่งความสงบในเวลากลางคืนเพื่อทำงาน

3. มีพลังงานเพิ่มขึ้น

บางคนมองว่าเมื่อหมดวันแล้วมักจะเกิดความเหนื่อยล้าและต้องการพักผ่อน แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่ชื่นชอบการทำงานตอนกลางคืนกลับมีพลังงานเพิ่มสูงขึ้น

4. การจำกัดเวลา

เนื่องจากตอนกลางวันนอกจากทำงานทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีตารางการประชุมหรือนัดพบลูกค้า และกิจกรรมอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่ทำให้การทำงานหยุดชะงักและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กลางคืนจึงเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่สามารถทำงานต่อได้

5. มีความผ่อนคลาย

ผู้คนมักรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงเวลากลางคืน เนื่องจากร่างกายปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาน้อยลง ร่างกายและสมองผ่อนคลาย การทำงานจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ท้ายที่สุดนี้แม้ว่าความคิดสร้างสรรค์ของใครหลายคนมักเกิดขึ้นในช่วงเคลิ้มหลับ และบางคนเลือกที่จะทำงานตอนกลางคืนเนื่องจากมีสมาธิมากกว่า แต่ก็อย่าลืมว่าร่างกายก็จำเป็นต้องได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ หากนอนน้อยมากเกินไป แม้ว่าจะได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้น

อ้างอิงข้อมูล : Science Advances, Medium, Focus Commit และ NK Sleep Center