คุณเป็น "Nyctophilia" หรือไม่? ชอบใช้ชีวิตกลางคืน แต่ไม่ใช่เที่ยวกลางคืน

คุณเป็น "Nyctophilia" หรือไม่? ชอบใช้ชีวิตกลางคืน แต่ไม่ใช่เที่ยวกลางคืน

บางคนรู้สึกชอบทำงานตอนกลางคืนเพราะมักจะทำได้ดี ยิ่งดึกสมองก็ยิ่งแล่น รวมถึงชอบใช้ชีวิตตอนกลางคืนมากกว่ากลางวัน แม้ไม่ได้ชอบเที่ยวราตรีก็ตาม นั่นอาจเป็นเพราะกลางคืนเป็นเวลาส่วนตัวของพวกเขาโดยแท้จริงโดยไม่มีสิ่งรบกวน

ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือสอบ ทำงาน หรือใช้เวลาในการทบทวนชีวิต ที่หลายคนเลือกที่จะใช้เวลา “กลางคืน” มากกว่าตอนกลางวัน เพียงเพราะชอบช่วงเวลากลางคืนมากกว่า ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องออกไปเที่ยวกลางคืนหรือปาร์ตี้เสมอไป แต่เป็นเพราะพวกเขาแค่ชอบใช้ชีวิตตอนกลางคืน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ถูกให้นิยามว่าเป็น “Nyctophilia”

คนที่ชอบใช้ชีวิตกลางคืน หรือ Nyctophilia นั้น มีคำอธิบายเชิงจิตวิทยาว่า เป็นความชอบส่วนตัวที่รุนแรงต่อกลางคืนและความมืด เรียกได้ว่าเป็นความชอบล้วนๆ ไม่เหมือนกับคนที่เงื่อนไขชีวิตที่บังคับให้ใช้ชีวิตตอนกลางคืน เช่น คนที่ทำงานกะกลางคืน

  • ลักษณะและพฤติกรรมของ Nyctophilia เป็นอย่างไร

- ชอบความเย็นสบายยามค่ำคืน

- รู้สึกว่ากลางคืนมีกลิ่นที่แตกต่างจากตอนกลางวัน และชอบกลิ่นนี้มากกว่า (อาจจะประกอบด้วย กลิ่นดอกไม้ ต้นไม้ หรือพื้นดิน)

- ชอบความเงียบสงบและมีคนน้อยกว่าตอนกลางวัน (ไม่พลุกพล่านไม่วุ่นวาย)

- รู้สึกว่าช่วงเวลากลางคืนจะสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่า

- ชอบมองท้องฟ้ายามค่ำคืน ดูดาว ดูพระจันทร์

 

  • เจาะสาเหตุ ทำไมบางคนชอบกลางคืนมากกว่ากลางวัน ?

- เกิดจากพันธุกรรม

- นาฬิกาชีวิตหรือนาฬิกาชีวภาพเป็นปัจจัยกำหนด

- มีพฤติกรรมบางอย่างมาเปลี่ยนแปลงนาฬิกาชีวิต เช่น กินมื้อดึก หรือ อยู่ในที่ที่สว่างจ้าตอนกลางคืน

- ชอบข้อดีของการอยู่กลางคืน เช่น ความสงบ ได้พักจากความวุ่นวาย หรือได้ใช้เวลาในการสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ

 

  • แม้ว่าจะมีข้อดีแต่หากใช้ชีวิตกลางคืนบ่อยๆ ก็มีข้อเสีย

สำหรับคนที่มีประสาทสัมผัสไวต่อสิ่งเร้า การใช้ชีวิตกลางคืนอาจจะเหมาะกว่ากลางวัน เพราะสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนได้มากกว่าด้วยสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจาก University of Madrid ที่ได้ศึกษาทดลองวัยรุ่นกว่า 1,000 คน พบว่าคนที่ใช้ชีวิตกลางคืนสามารถให้เหตุผลในเรื่องต่างๆ ได้ดีกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแบบนี้กันทุกคน 

อีกทั้งหากใช้ชีวิตกลางคืนบ่อยๆ กลับมีข้อเสียที่อันตรายต่อสุขภาพ กล่าวคือ อาจจะทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอหรือพักผ่อนแบบไม่มีประสิทธิภาพ เพราะช่วงเวลาที่เหมาะกับการพักผ่อนสำหรับมนุษย์มากที่สุดคือตอนกลางคืน ส่งผลให้อาจเกิดโรคตามมาในอนาคต เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดัน ไปจนถึงภาวะซึมเศร้า

ดังนั้น แม้จะชอบใช้ชีวิตกลางคืนแต่ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ชีวิตกลางวันได้ โดยต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเดิมๆ ด้วยการปรับเวลานอนซึ่งต้องทำเป็นประจำเพื่อสร้างความเคยชินใหม่ให้กับร่างกาย แต่ในบางคนก็เปลี่ยนได้ยาก เพราะเกี่ยวเนื่องกับ “นาฬิกาชีวภาพ” ที่เป็นเหมือนนาฬิกาประจำตัว รวมถึงเป็นเรื่องของพันธุกรรมด้วย แต่เมื่อการใช้ชีวิตกลางคืนมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้หลายคนจำเป็นต้องเปลี่ยนเวลาให้เหมาะสมเพื่อเลี่ยงอาการเจ็บป่วย

 

  • ไม่ว่าจะใช้ชีวิตกลางคืนหรือกลางวัน ต้องรู้จัก “นาฬิกาชีวภาพ”

เวลาชีวภาพหรือเวลาชีวิตมีชื่อเรียกไม่ตายตัว แต่ว่าเป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตของแต่ละคนให้มีความแตกต่างกันออกไป รวมถึงหาช่วงเวลาที่เหมาะสมว่าภายในหนึ่งวันเราควรทำอะไรตอนไหน ซึ่งโดยปกติทั่วไปของมนุษย์ก็คือ ตื่นตอนเช้า ใช้ชีวิตในตอนกลางวัน และเข้านอนในเวลากลางคืน แต่ในเมื่อนาฬิกาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงสามารถแบ่งกลุ่มเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายโดยเปรียบเทียบการจำแนกเป็นสัตว์แต่ละชนิด ดังนี้

1. โลมา เป็นคนหลับไม่ลึก ตื่นง่ายแม้เพียงมีเสียงรบกวนเล็กน้อย ไม่ค่อยง่วงนอนตามเวลา ส่งผลพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ตื่นนอนด้วยความรู้สึกไม่ค่อยสดชื่น แต่ตื่นตัวมากที่สุดในช่วงกลางคืน

 

2. สิงโต มักจะตื่นนอนตั้งแต่รุ่งเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และตื่นตัวมากที่สุดในช่วงเช้าและช่วงกลางวัน เริ่มรู้สึกอ่อนเพลียตั้งแต่ช่วงบ่าย แต่ก็ไม่ได้งีบหลับระหว่างวัน ส่วนตอนกลางคืนจะง่วงนอนเร็วและนอนหลับง่าย ถือว่าเป็นการพักผ่อนที่มีคุณภาพ

3. หมี มีรูปแบบการนอนหลับตามการขึ้นและตกของพระอาทิตย์ มักจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงเพื่อตื่นเต็มที่ ตื่นตัวมากที่สุดในช่วงสายไปถึงเที่ยง และเริ่มรู้สึกเหนื่อยหรือง่วงตั้งแต่ช่วงเย็น ตอนกลางคืนหลับง่าย หลับลึก เป็นอีกประเภทที่การพักผ่อนมีคุณภาพ

4. หมาป่า กลุ่มนี้มักมีปัญหาในการตื่นนอนก่อน 9 โมงเช้า แต่หลังจากนั้นจะไม่รู้สึกง่วงหรืออ่อนเพลีย ตื่นตัวมากที่สุดในช่วงหนึ่งทุ่มและ มีไฟในการทำสิ่งต่างๆ มากที่สุดในช่วงสายและช่วงค่ำ บางวันอาจจะตื่นตัวไปจนถึงเที่ยงคืน

 

แม้ว่ารูปแบบการใช้ชีวิตและการพักผ่อนของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน เนื่องจากปัจจัยหลายอย่างทั้งภายในและภายนอก แต่สุดท้ายแล้วเมื่อถึงจุดหนึ่งที่พบว่าพฤติกรรมนั้นเริ่มส่งผลเสียต่อสุขภาพ ก็จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง หากลองด้วยตนเองแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์

 

อ้างอิงข้อมูล : Alljit