‘ทำงานบ้าน’ มีประโยชน์มากกว่าที่คิด ทำให้มีความสุข-สมองแล่น

‘ทำงานบ้าน’ มีประโยชน์มากกว่าที่คิด ทำให้มีความสุข-สมองแล่น

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ “ทำงานบ้าน” ก็มีประโยชน์ ช่วยให้สมองแล่นคิดงานออก แถมยังทำให้มีความสุข และเป็นภูมิคุ้มกันลดความเสี่ยงภาวะสมองฝ่อ

Key Points:

  • “การทำงานบ้าน” เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่สมองทำงานอัตโนมัติ งเป็นช่วงที่สมองและจิตใจผ่อนคลาย ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้ง่าย
  • เมื่อทำงานบ้านเสร็จ เก็บบ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย สมองจะหลั่งสารโดปามีนออกมาทำให้รู้สึกมีความสุข เพราะสมองจะให้ความหมายการทำงานบ้านเสร็จเป็นความสำเร็จ
  • งานวิจัยชิ้นล่าสุดยังพบว่า การทำงานบ้านช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย

 

สารพัดงานบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ซักผ้า ถูพื้น กวาดบ้าน ตัดหญ้า และอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน อาจดูเป็นเรื่องน่าเบื่อ ไม่อยากทำสำหรับหลาย ๆ คน แต่แท้จริงแล้ว นอกจากการก้ม ๆ เงย ๆ จะเป็นโอกาสทองของการออกกำลังกาย ช่วยเผาผลาญพลังงานได้ไม่แพ้เข้ายิมแล้ว รู้ไหมว่า การทำงานบ้านยังช่วยให้หัวแล่น คิดงานออก เกิดความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

  • ทำงานบ้านทำให้สมองแล่น

ปกติแล้ว “การทำงานบ้าน” จะทำให้สมองเข้าสู่ “ระบบการทำงานอัตโนมัติ” นั่นหมายความว่าจิตใต้สำนึกเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งต่างจากทำกิจกรรมที่ใช้สร้างสรรค์ เช่น การเขียน การวาดรูป ที่สมองจะยังคงคิดถึงงานโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าเราจะหยุดแล้วก็ตาม แต่ระหว่างที่เราทำงานบ้านด้วยจิตใจที่ว่างเปล่า จิตใต้สำนึกของเราจะมีพื้นที่สำหรับความคิดสร้างสรรค์ผุดขึ้นมา

สภาวะที่สมองและจิตใจผ่อนคลายนี้ เรียกว่า สภาวะอัลฟา (Alpha State) มักเกิดขึ้นระหว่างการฝันกลางวัน ช่วงเหม่อลอย  ช่วงก่อนและหลังการนอนหลับ รวมถึงระหว่างทำงานบ้าน และทำอะไรเรื่อยเปื่อย

เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎีสมคบคิด แต่นักวิทยาศาสตร์ยิ่งใหญ่ของโลกต่างคิดทฤษฎีที่เปลี่ยนโลกได้จากช่วงเวลาที่สมองผ่อนคลายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “อาร์คิมีดีส” ค้นพบทฤษฎีมงกุฎทองคำ ขณะที่นอนอยู่ในอ่างอาบน้ำ พร้อมกับตะโกนว่า “ยูเรก้า!” อันลือลั่น ส่วน “เซอร์ไอแซ็ก นิวตัน” ค้นพบกฎของแรงโน้มถ่วงตอนนั่งพักผ่อนอยู่ใต้ต้นแอปเปิล (พร้อมกับโดนลูกแอปเปิลตกใส่หัว) ขณะที่ “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพตอนออกไปเดินสมาธิ

ดังนั้นถ้าหากคุณจด ๆ จ้อง ๆ นั่งคิดงานอยู่หน้าจอมานานแล้ว แต่ยังคิดงานไม่ออก สมองไม่แล่น ลองลุกไปทำงานบ้านหรือกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้สมอง เช่น ล้างจาน ซักผ้า อาบน้ำ อาหาร หรืออาจออกไปเดินเล่นในเส้นทางที่คุ้นเคย เช่นปล่อยใจจอย ๆ ล่องลอยไปเรื่อย ๆ บางทีอาจจะได้ไอเดียใหม่ ๆ ก็เป็นได้ แต่ไม่ควรพยายามเค้นหรือคิดมากจนเกินไป แค่ทำในสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก็พอ

  • งานบ้านบันดาลสุข

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดา ที่ให้ผู้ร่วมการทดลองจดจ่อการล้างจาน พบว่า เมื่อพวกเขามีสมาธิกับการล้างจาน จดจ่อความรู้สึกไปที่สบู่, อุณหภูมิของน้ำ และผิวสัมผัสของจาน พวกเขารายงานว่า การล้างจานเพียง 6 นาที ช่วยลดความกังวลใจได้ถึง 27% และเพิ่มแรงบันดาลใจได้ถึง 25%

“เป็นเรื่องน่าสนใจที่การทำงานบ้านที่แสนน่าเบื่อนี้จะช่วยลดความประหม่าได้ แถมสร้างแรงบันดาลใจได้ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับงานบ้านและจดจ่อกับงานที่ทำอยู่ตรงหน้า”

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นของ ดาร์บี้ อี แซกเบ้ และเรนา เรเพตติ โดยให้ผู้หญิง 60 คน บรรยายถึงลักษณะที่อยู่อาศัยของตนเอง พบว่า ผู้หญิงที่บอกว่าห้องของพวกเธอรก หรือยังเก็บกวาดไม่เรียบร้อยจะมีความรู้สึกหดหู่หรือเหนื่อยล้า มากกว่าผู้หญิงที่อธิบายบ้านของพวกเขาด้วยคำในเชิงบวก เช่น สะอาด เรียบร้อย อีกทั้งผู้หญิงที่ห้องรกมีระดับฮอร์โมนความเครียดคอร์ติซอลสูงขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ คนที่ชอบทำความสะอาดมักจะมีความสุขมากกว่าและเครียดน้อยกว่า และมีความเห็นอกเห็นใจ มีประสิทธิผล มีสมาธิ และผ่อนคลายมากกว่าคนที่ปล่อยให้บ้านรก เนื่องจากสมองตีความการจัดระเบียบและการความสะอาด เป็นความสำเร็จ ซึ่งกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาท "โดปามีน" เพิ่มขึ้น หรือ สารแห่งความสุขออกมา

ดร.พอล มาร์สเดน นักจิตวิทยาผู้บริโภคและผู้บรรยายจาก มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งลอนดอน ให้ความเห็นว่า “บ้าน ถือเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนเรา มีความสำคัญเกี่ยวกับสภาพจิตใจ ลักษณะนิสัย และความคิดของเรา ดังนั้นเมื่อทำความสะอาดบ้าน ก็เท่ากับเราทำได้ทำความสะอาดตัวตนของเราเอง และส่งสัญญาณแสดงคุณค่าและความปรารถนาของเราต่อตัวเองและผู้อื่น”  

 

  • งานบ้านฝึกสมอง

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Geriatrics ในเดือนก.พ. 2021 โดยสถาบันวิจัยร็อตแมน ในแคนาดา ทำการศึกษาออกกำลังกายในครัวเรือนมีอิทธิพลต่อปริมาณสมองและการรับรู้หรือไม่กับกลุ่มผู้สูงอายุจำนวน 66 คนที่ไม่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ใหญ่สูงอายุการทำงานบ้านมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับปริมาณสมองและความรู้ความเข้าใจในผู้สูงอายุ  ซึ่งผู้ใหญ่ที่ใช้ในการทำงานบ้าน เช่น ทำความสะอาด เตรียมอาหาร จะมีปริมาณสมองมากขึ้น ซึ่งโนอาห์ โคบลินสกี้  นักสรีรวิทยาการออกกำลังกายและผู้ประสานงานโครงการของสถาบันวิจัย Rotman กล่าวว่า

“นักวิทยาศาสตร์รู้อยู่แล้วว่าการออกกำลังกายส่งผลดีต่อสมอง แต่นี่เป็นครั้งแรกเลยที่แสดงให้เห็นว่างานบ้านก็ส่งผลต่อสมองเช่นกัน ซึ่งการทำความเข้าใจว่าการออกกำลังกายส่งผลต่อสุขภาพสมองอย่างไร มีความสำคัญต่อการหาทางลดความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ"

นักวิจัยระบุว่า การทำงานบ้านจะทำให้ผู้คนตื่นตัวและเคลื่อนไหว ลดการนั่งนิ่งอยู่กับที่ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อันตรายและเสี่ยงทำให้คุณภาพชีวิตและสมองทำงานลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้สู่งอายุ

นอกจากนี้ สันนิษฐานได้ว่าการทำงานบ้านอย่างจริงจัง ทำให้เกิดการออกแรงที่คล้ายกับการออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การเดิน โยคะเบาๆ หรือการปั่นจักรยานที่มีแรงต้านต่ำ อีกทั้งการวางแผนและการจัดระเบียบบ้านอาจส่งเสริมการสร้างการเชื่อมต่อของโครงข่ายประสาทใหม่เมื่อเวลาผ่านไป แม้ว่าเราจะอายุมากขึ้นก็ตาม อีกทั้งการรักษาเซลล์ประสาทที่มีอยู่ของเราให้ทำงาน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสมรรถภาพของสมองที่ดีที่สุดตลอดชีวิต

ดังนั้นการทำงานบ้าน นอกจากจะทำให้บ้านสะอาด ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว ยังส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพร่างกาย เหมือนได้ออกกำลังกาย แถมยังช่วยทำให้ได้ไอเดียใหม่ ๆ ไปใช้ในงานแบบไม่รู้ตัวอีกด้วย

 

ที่มา: ABCDanielle RaineInc.RealsimpleWriting Cooperative