'1 จังหวัด 1 เมนู' จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชาวเน็ตงง เมนูนี้ไม่ใช่บ้านฉัน!

'1 จังหวัด 1 เมนู' จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชาวเน็ตงง เมนูนี้ไม่ใช่บ้านฉัน!

กรมส่งเสริมวัฒนธรรมประกาศรายชื่ออาหารไทย “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น พ.ศ.2566” คนท้องถิ่นงง บางเมนูไม่เคยได้ยิน ไม่เคยกิน บางเมนูสลับจังหวัดกัน เช่น “แกงรัญจวน” และ “กะลากรุบ”

Key Points:

  • ชาวเน็ตตั้งข้อสงสัย รายชื่ออาหาร “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น พ.ศ.2566” จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม พบเมนูพื้นถิ่นบางจังหวัดไม่คุ้นหู เช่น “แกงรัญจวน” และ “กะลากรุบ”
  • กะลากรุบ เป็นหนึ่งในเมนูพื้นเมืองของ “สมุทรสงคราม” ใช้มะพร้าวจากชุมชนเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงเป็นไฮไลต์ของกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนอีกด้วย แต่ดันถูกระบุว่าเป็นอาหารของ “ราชบุรี”
  • แกงรัญจวน ที่ได้รับการประกาศเป็นอาหารของสมุทรสงครามนั้น ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าเป็นของจังหวัดอะไร แต่มีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จึงถือว่าเป็นอาหารชาววังโบราณ

หลังการประกาศรายชื่ออาหารท้องถิ่นที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น พ.ศ.2566” จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ที่เปิดให้ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ร่วมส่งเมนูอาหารท้องถิ่นในจังหวัดของตนเข้ารับการคัดเลือกในหัวข้อ “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “รสชาติ..ที่หายไป The Lost Taste” เพื่อรับโล่รางวัลและเกียรติบัตรจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นจากเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

อาหารทั้งหมดจะมี 77 เมนู จาก 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร มีเกณฑ์การคัดเลือกจากอาหารไทยท้องถิ่น หรืออาหารพื้นบ้านทั้งคาวและหวานที่หารับประทานได้ยาก โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัด คัดเลือกจังหวัดละ 3 เมนู และกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมคัดเลือกอีก 3 เมนู  ก่อนจะรวบรวมทั้งหมดแล้วนำส่งให้ “กรมส่งเสริมวัฒนธรรม” คัดเลือกให้เหลือเพียงเมนูเดียวเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด

\'1 จังหวัด 1 เมนู\' จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชาวเน็ตงง เมนูนี้ไม่ใช่บ้านฉัน!

ประกาศเชิญชวน (กรมประชาสัมพันธ์)

หลังจากประกาศเมนูประจำจังหวัดออกไปไม่นาน ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงเมนูอาหารจังหวัดต่างๆ ที่ถูกคัดเลือกมาว่า บางเมนูไม่ตรงกับของกินประจำถิ่นนั้นๆ โดยประเด็นที่ชาวเน็ตสงสัยกันมากที่สุดก็คือ เมนู “แกงรัญจวน” ถูกประกาศให้เป็นเมนูประจำจังหวัด “สมุทรสงคราม

แต่ชาวสมุทรสงครามก็ต่างออกมาแสดงความเห็นว่า “เมนูอะไร ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยกินเลย” หรือ “แถวบ้านก็ไม่ได้มีขาย” และยังตั้งข้อสังเกตเพิ่มอีกว่า หรือแท้จริงแล้วอาหารท้องถิ่นของสมุทรสงคราม คือ “กระดองกรุบ” หรือ “กะลากรุบ” ที่กลายเป็นอาหารประจำจังหวัด “ราชบุรี” ไปเสียอย่างนั้น

\'1 จังหวัด 1 เมนู\' จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชาวเน็ตงง เมนูนี้ไม่ใช่บ้านฉัน!

อาหารประจำจังหวัดสมุทรสงคราม (กรมส่งเสริมวัฒนธรรม)

  • กระดองกรุบ หรือ กะลากรุบ เป็นอาหารท้องถิ่นสมุทรสงครามหรือไม่?

แม้ว่า “กะลากรุบ” หรือ “กระดองกรุบ” จะถูกจัดให้เป็นอาหารท้องถิ่นของราชบุรี (ตามประกาศล่าสุด) แต่จากข้อมูลของ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ระบุว่า แกงกระดองกรุบกะลามะพร้าวอ่อนกับกุ้งแม่น้ำ เป็นอาหารพื้นบ้านของ “ชุมชนบ้านบางพลับ” ที่อยู่ใน อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม และยังถือเป็นไฮไลต์ของกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชนอีกด้วย โดยนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้การทำกระดองกรุบจาก ปราชญ์วัฒนธรรมด้านการทำอาหารไทยทั้งคาวและหวานของชุมชนโดยตรง

นอกจากนี้วัตถุดิบหลักที่นำมาใช้ในการทำ “กระดองกรุบ” ก็คือ “มะพร้าว” ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อของสมุทรสงคราม เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำที่มีความสมบูรณ์ไปด้วยดินร่วนปนทราย ทำให้มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูก โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อน เช่น มะพร้าว ที่นอกจากจะนำมาประกอบอาหารและวางขายแล้ว ยังนำมาทำเป็นน้ำตาลมะพร้าวด้วยวิธีดั้งเดิมที่มีการสืบทอดกันมากว่า 200 ปีอีกด้วย

สำหรับกระดองกรุบนั้นเป็นเมนูที่เกิดขึ้นจากเกษตรกรในชุมชนที่มองเห็นว่า ชาวบ้านที่นี่นิยมปลูกมะพร้าวเป็นหลัก เลยอยากนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และมี “แกงกระดองกรุบกะลามะพร้าวอ่อนกับกุ้งแม่น้ำ” เป็นจุดขายของชุมชน

คำว่า “กระดองกรุบ” คือกะลามะพร้าวอ่อนที่ยังไม่แข็งตัว นำมาแคะเนื้อออกแล้วเอากะลาอ่อนมาแช่น้ำเกลือจนขาว จากนั้นนำมาซอยเป็นชิ้นบ้างๆ ต้มด้วยเครื่องแกงลักษณะเหมือนแกงป่า ใส่กุ้งแม่น้ำที่งมมาเองในชุมชน จึงไม่แปลกที่ชาวสมุทรสงครามบางคนจะมองว่า “กระดองกรุบ” ถือเป็นอาหารพื้นเมืองของ “สมุทรสงคราม

\'1 จังหวัด 1 เมนู\' จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชาวเน็ตงง เมนูนี้ไม่ใช่บ้านฉัน! แกงแกงกระดองกรุบกะลามะพร้าวอ่อนกับกุ้งแม่น้ำ (ท่องเที่ยววิถีชุมชน)

  • แกงรัญจวน อาหารชาววังฉบับโบราณ

สำหรับ “แกงรัญจวน” ที่ประกาศว่าเป็นอาหารพื้นเมืองของสมุทรสงครามก็มีข้อกังขาเช่นกันว่า แท้จริงแล้วเป็นอาหารของท้องถิ่นใดกันแน่? เพราะหลายความเห็นบอกว่าไม่เคยรับประทาน และบางคนก็ไม่เคยเห็น

แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าแกงรัญจวนเป็นอาหารพื้นเมืองของจังหวัดอะไร แต่มีข้อมูลเบื้องต้นว่า “แกงรัญจวน” คืออาหารที่ “ม.จ.สะบาย นิลรัตน์” นายห้องเครื่องอาหารคาว สำนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ได้เป็นผู้คิดค้นขึ้นมา โดยต่อยอดมาจากเมนู “เนื้อวัวผัดพริกอ่อนใบโหระพา” ที่เหลืออยู่มากในครัว นำมาปรุงเป็นเมนูใหม่

โดยคัดเอาพริกอ่อนกับใบโหระพาออกไป และเอาเนื้อผัดที่เหลือมาใส่ลงไปในหม้อ เทน้ำซุปและน้ำพริกกะปิลงไป เติมตะไคร้หั่นฝอย หอม กระเทียม ใส่ลงในหม้อ เมื่อแกงเดือดจึงยกลงแล้วใส่ใบโหระพากับพริกขี้หนูทุบเพิ่มลงไป

ดังนั้นแกงรัญจวนจึงเป็นอาหารไทยชาววังแบบโบราณที่มีการบันทึกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าแท้จริงแล้วเป็นอาหารพื้นเมืองของจังหวัดใด หรือเป็นวัฒนธรรมร่วมจากหลายจังหวัดที่รับประทานอาหารคล้ายคลึงกัน

\'1 จังหวัด 1 เมนู\' จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ชาวเน็ตงง เมนูนี้ไม่ใช่บ้านฉัน!

แกงรัญจวน (‘แกงรัญจวน’ อาหาร ‘เพิ่มภูมิคุ้มกัน’ บรรเทาหวัด)

ไม่ใช่ “แกงรัญจวน” และ “กะลากรุบ” เท่านั้นที่ถูกตั้งคำถามว่าเป็นอาหารพื้นเมืองประจำท้องถิ่นของจังหวัดนั้นๆ จริงหรือไม่ แต่ยังมีอาหารอีกหลายชนิดในประกาศชุดนี้ที่ผู้คนยังกังขา เช่น แกงฮังเลลำไย ของลำพูน ที่บางคนให้ความเห็นว่าปกติแล้วแกงฮังเลไม่ใส่ของหวานเป็นวัตถุดิบ หรือ ขนมย่างจากใจ ของสมุทรปราการ ที่คนในพื้นที่ให้ความเห็นว่าไม่รู้จักมาก่อน เป็นต้น จึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่า “กรมส่งเสริมวัฒนธรรม” ใช้เกณฑ์อะไรเป็นมาตรฐานตัดสิน เรื่องนี้คนไทยคงต้องติดตามกันต่อไป

อ้างอิงข้อมูล : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ กรมประชาสัมพันธ์