เหมือนแค่ไหน? เรียกว่า "ก๊อปปี้" ว่าด้วยการลอก-ผลิตซ้ำคอนเทนต์ออนไลน์

เหมือนแค่ไหน? เรียกว่า "ก๊อปปี้" ว่าด้วยการลอก-ผลิตซ้ำคอนเทนต์ออนไลน์

ทุกวันนี้มีสื่อออนไลน์ให้เลือกอ่านคอนเทนต์ได้หลากหลาย แต่บางครั้งก็พบว่าหลายสื่อมีข้อมูลคล้ายกัน จนอาจนำไปสู่การฟ้องร้องด้านลิขสิทธิ์ได้ ดังนั้น ก่อนผลิตงานเผยแพร่บนโลกออนไลน์ต้องรู้ “กฎหมายลิขสิทธิ์” เช็กที่นี่!

ปัจจุบันสื่อออนไลน์มีการแข่งขันสูง ทั้งการแข่งขันกันในเรื่องความรวดเร็วในการนำเสนอเหตุการณ์แบบปัจจุบันทันด่วนและในเรื่องของการคัดกรอง “คอนเทนต์” ที่จะต้องถูกต้องครบถ้วน และลดความผิดพลาดให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาอันจำกัด

หากเป็นการรายงานข่าวสถานการณ์ใหญ่ๆ ระดับประเทศหรือระดับโลก ก็ไม่แปลกที่สื่อทุกสำนักจะเผยแพร่ข่าวในเนื้อหาที่ใกล้เคียงกัน เพราะจุดเกิดเหตุเป็นจุดเดียวกัน แต่ถ้าไม่ใช่การรายงานข่าวในกรณีข้างต้น การผลิตคอนเทนต์ประเภทอื่นๆ ในบางครั้งพบว่าอาจมีข้อมูลซ้ำกันได้ แล้วทำอย่างไรจึงจะไม่เข้าข่ายทำผิดกฎหมาย “ลิขสิทธิ์”

  • กฎหมายลิขสิทธิ์สำหรับครีเอเตอร์แบบเข้าใจง่าย

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ลิขสิทธิ์” หมายถึง สิทธิ์ที่เจ้าของผลงาน “ได้เริ่มต้นทำงานด้วยตนเอง โดยการใช้สติปัญญาความรู้ ความสามารถ และความวิริยะอุตสาหะ เพื่อการสร้างสรรค์ผลงาน โดยไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น” ซึ่งงานที่ผลิตต้องเป็นงานตามประเภทที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้คุ้มครอง เมื่องานเสร็จแล้ว “ผลงานจะได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน”

สำหรับกฎหมายด้านลิขสิทธิ์ไทยนั้น เริ่มใช้ตั้งแต่ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 จนมีการตราพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ที่ยังคงบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน แต่ก็มีการปรับปรุงเพิ่มเติม เป็นพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 เป็นฉบับล่าสุด เพื่อความทันสมัยและครอบคลุมในเรื่องของผลงานมากขึ้น

  • นักก๊อปปี้โดนแน่ ทำแบบนี้มีความผิด

ใน พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ได้ให้นิยามของการทำซ้ำและดัดแปลงผลงานไว้ดังนี้ โดย “ทำซ้ำ” คือ การคัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพจากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณา ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ระบุว่า การคัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใด ในส่วนสาระสำคัญ โดยไม่ได้สร้างงานขึ้นใหม่ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ถือว่าผิดทั้งหมด

ส่วนการ “ดัดแปลง” คือ ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนสาระสำคัญโดยไม่ได้ทำงานขึ้นมาใหม่ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ที่สำคัญไม่ว่าจะ ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง หากไม่ได้ขออนุญาตจากเจ้าของผลงานโดยตรง หรือไม่มีการอ้างอิงถึงผลงานต้นฉบับ ถือว่ามีความผิดทั้งหมด

  • ผลงานแบบไหนบ้าง ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์

1. งานวรรณกรรม เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ คำปราศรัย โปรแกรมคอมพิวเตอร์

2. งานนาฏกรรม เช่น การรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว รวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้

3. งานศิลปกรรม เช่น งานจิตรกรรม งานประติมากรรม ภาพพิมพ์ งานสถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบ หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติเกี่ยวกับภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ รวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย

4. งานดนตรีกรรม เช่น คำร้อง ทำนอง การเรียบเรียงเสียงประสาน รวมถึงโน้ตเพลงที่แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว

5. งานสิ่งบันทึกเสียง เช่น แผ่นคอมแพ็คดิสก์ (ซีดี) ที่บันทึกข้อมูลเสียง แต่ไม่รวมเสียงประกอบภาพยนตร์ หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น

6. งานโสตทัศนวัสดุ เช่น วีดีโอเทป วีซีดี ดีวีดี แผ่นเลเซอร์ดิสก์ที่บันทึกข้อมูลประกอบด้วยลำดับของภาพหรือภาพและเสียงอันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก

7. งานภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ รวมทั้งเสียงประกอบของภาพยนตร์นั้นด้วย

8. งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น การกระจายเสียงวิทยุ การแพร่เสียง หรือภาพทางโทรทัศน์

9. งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ

นอกจากการคัดลอกโดยตรงแล้ว การกระทำอีกอย่างที่ถือว่ามีความผิดเช่นกัน ได้แก่ การนำงานนั้นไปเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้เช่าต้นฉบับ หรือทำสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง และผลงานนั้นให้ประโยชน์ที่เกิดจากลิขสิทธิ์กับผู้ที่นำผลงานไป

สำหรับบทลงโทษที่ผู้ลอกเลียนแบบผลงานจะได้รับนั้น ในหมวดที่ 8 พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ระบุไว้ว่า หากเจ้าของผลงานแจ้งความเอาผิดแล้ว ผู้ลอกเลียนแบบจะได้รับโทษสูงสุด คือ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 4 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต่อมามีการปรับปรุงบทลงโทษใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 28/1 จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน- 4 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • เมื่องานเราถูกลอกเลียนแบบต้องทำอย่างไร

หากพบว่าผลงานของตนเองถูกลอกเลียนแบบ หรือถูกก๊อปปี้ไปเผยแพร่ในช่องทางอื่น สามารถรวบรวมหลักฐานและเอกสาร แล้วนำไปแจ้งความเอาผิดได้ โดยเอกสารที่ต้องเตรียม มีดังนี้

- สำเนาบัตรประชาชน รับรองสำเนาถูกต้อง (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา)

- สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคล ที่นายทะเบียนออกให้ไม่เกิน 6 เดือน ของเจ้าของลิขสิทธิ์ (กรณีเป็นนิติบุคคล)

- ผลงานหรือภาพถ่ายงานลิขสิทธิ์ จำนวน 1 ชุด

- กรณีให้ผู้อื่นดำเนินการแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (รับรองสำเนาถูกต้อง)

- หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐบาลใช้สำเนาหนังสือแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงานหรือองค์กรฯ รวมทั้งสำเนาบัตรประชาชนของผู้ยื่นคำขอ (รับรองสำเนาถูกต้อง)

สุดท้ายแล้วแม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองผลงานลิขสิทธิ์ต่างๆ ข้างต้น แต่ก็ยังพบหลายกรณีที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการ ลอก ดัดแปลง ผลงานผู้อื่นโดยพลการ ซึ่งหากมีหลักฐานชี้ชัดว่าพบกระทำความผิดจริงก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายลิขสิทธิ์ได้ทันที

อ้างอิงข้อมูล : GotoKnow, Tonkit และ ศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์