'กลิ่นปาก' ไม่ใช่เรื่องตลก อาจเป็นสัญญาณบอกโรค

'กลิ่นปาก' ไม่ใช่เรื่องตลก อาจเป็นสัญญาณบอกโรค

กลิ่นปาก เกิดจากเกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งในปาก หากมีเศษอาหารตกค้างอยู่ในช่องปาก แบคทีเรียจะทำให้เกิดการเน่าบูด ส่งผลให้เกิดกลิ่นปากได้ ดังนั้น กลิ่นปากไม่ใช่เรื่องตลก เพราะอาจส่งผลต่อความมั่นใจ ส่งผลต่อคนรอบข้าง และบางครั้งยังเป็นสัญญาณบอกโรคด้วย

KEY

POINTS

  • “กลิ่นปาก”เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งในปาก บางครั้งอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจ หรือส่งผลต่อบุคลิกภาพ 
  • สาเหตุส่วนใหญ่ของกลิ่นปาก มาจากภายในช่องปาก เช่น ฟันผุ มีเศษอาหารตกค้างอยู่ตามซอกฟัน โรคเหงือกอักเสบ การมีฝ้าขาวบนลิ้น เป็นต้น 
  • นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุจากภายนอกช่องปาก เช่น ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และอาหารบางชนิดเมื่อรับประทานจะมีกลิ่นขับออกมาทางลมหายใจ ดังนั้น กลิ่นปาก อาจเป็นสัญญาณบอกโรคได้

“กลิ่นปาก” ไม่ใช่เรื่องตลก และอย่าคิดว่าไม่สำคัญ เพราะบางครั้งอาจทำให้สูญเสียความมั่นใจ หรือส่งผลต่อบุคลิกภาพ กลิ่นปาก เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งในปาก หากมีเศษอาหารตกค้างอยู่ในช่องปาก แบคทีเรียจะทำให้เกิดการเน่าบูด ส่งผลให้เกิดกลิ่นปากได้ โดยบริเวณที่มักจะพบการหมักหมมของเศษอาหารบ่อยๆ คือ ลิ้น ร่องเหงือก ใต้ขอบเหงือก รวมถึง บริเวณที่อุดฟัน ครอบฟันไม่ดี เหงือกอักเสบ เป็นต้น

สาเหตุที่สำคัญภายในช่องปาก

  • การมีฝ้าขาวบนลิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โคนลิ้นด้านใน
  • ในช่องปากยังมีอีกมากมาย เช่น ฟันผุ ยิ่งฟันผุเป็นรูลึก ยิ่งมีกลิ่นเหม็นมาก
  • มีเศษอาหารตกค้างอยู่ตามซอกฟัน
  • โรคเหงือกอักเสบซึ่งเกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาด ทำให้มีแผ่นคราบฟันและหินปูนสะสม หากไม่ได้รับการรักษาโรคเหงือกอักเสบก็จะลุกลามมากขึ้นกลายเป็นโรคปริทันต์อักเสบซึ่งจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงยิ่งขึ้น
  • สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดกลิ่นปากคือ
  • ภาวะปากแห้ง น้ำลายน้อย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ เมื่อมีน้ำลายน้อย เชื้อโรคต่างๆจะตกค้างอยู่ในช่องปากเป็นจำนวนมาก จึงทำให้เกิดกลิ่นมากขึ้น
  • ในบางขณะจะมีการหลั่งของน้ำลายลดลงตามธรรมชาติก็จะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ เช่น เวลานอน ภาวะอดอาหาร หรือหิว ตลอดจนภาวะเครียด
  • อาชีพที่ใช้เสียงมากๆ จะมีผลให้น้ำลายลดลง ทำให้มีกลิ่นปากได้เช่นกัน ดังนั้น น้ำ จึงเป็นยาที่ดีที่สุดในการลดกลิ่นปาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

สาเหตุจากภายนอกช่องปาก

  • ระบบทางเดินหายใจ โดยที่สาเหตุจากระบบทางเดินหายใจส่วนใหญ่เกิดจากการมีน้ำมูกไหลลงคอทางด้านหลังโพรงจมูก และการมีเศษอาหารติดอยู่ตามร่องของต่อมทอนซิล
  • ระบบทางเดินทางอาหาร ส่วนใหญ่เกิดจากการมีแบคทีเรียส่วนเกินในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก ซึ่งมักจะมีอาการท้องอืด แน่น เรอมีกลิ่นเหม็น
  • อาหารบางชนิดเมื่อรับประทานจะมีกลิ่นขับออกมาทางลมหายใจ เช่น กระเทียม ทุเรียน หัวหอม เครื่องเทศ ผู้ที่ดื่มสุรา หรือสูบบุหรี่เป็นประจำ หรือท้องผูกหลายๆ วัน ก็ทำให้เกิดกลิ่นปากได้

 

กลิ่นปาก อาจเป็นสัญญาณบอกโรค

สำหรับคนที่มีกลิ่นปากอาจเป็นไปได้ว่ากำลังมีโรคในช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบ หรือฟันผุ แต่หากแปรงฟันสะอาดดีอยู่แล้ว นี่อาจเป็นสัญญาณของโรคที่ซ่อนอยู่ เช่น ไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ ฉะนั้น ผู้ที่มีกลิ่นปากแล้วยังหาสาเหตุไม่ได้จึงควรรีบมาพบทันตแพทย์เพื่อสาเหตุที่แท้จริง

โรคก็ก่อให้เกิดกลิ่นปากได้ คือ

1. โรคในระบบาทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ซนัสอักเสบ โรคทอนซิลอักเสบ โรคมะเร็งที่โพรงกระดูก

2. โรคในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น โรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร โรคปอดเรื้อรัง วัณโรคปอดหรือมะเร็งปอด โรคของระบบขับถ่าย

 

หากรู้ว่ามีกลิ่นปาก ต้องหาสาหตุให้ได้ว่าเกิดจากอะไร เพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง และควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจสุขภาพช่องปาก นอกจากนี้เราสามารถดูแลรักษาไม่ให้เกิดกลิ่นในช่องปากได้ง่ายๆ ด้วยการดูแลช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ และที่สำคัญต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันอาการปากแห้ง

 

การแก้ปัญหากลิ่นปาก โดยการใช้น้ำยาบัวนปาก สเปรย์ หรือลูกอมรสมินท์ เป็นการแก้ไขที่ไม่ถูกต้อง เพราะโดยทั่วไปน้ำยาบัวนปากจะมีส่วนผสมหลัก คือ สารแต่งรส แอลกอฮอล์ และสารต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ น้ำยาบัวนปากจะช่วยลดกลิ่นปากได้แค่ชั่วคราว แต่ไม่ได้กำจัดสาเหตุที่แท้จริงออกไป ทำให้อาการของโรคถูกปิดบัง จนอาจเกิดอาการรุนแรงได้โดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดของการรักษากลิ่นปาก คือ การคันหาและกำจัดสาเหตุที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ต้องไม่ละเลยต่อการแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ และถูกวิธีเพื่อสุขภาพแข็งแรงและสะอาดนั่นเอง

 

วิธีทดสอบกลิ่นปาก

  • ให้คนใกล้ชิดช่วยบอก
  • ทดสอบด้วยการใช้ไหมขัดฟัน ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดตามซอกฟัน เสร็จแล้ววางไหมขัดฟันทิ้งไว้สักพักแล้วดมดู หรือใช้นิ้วแตะน้ำลาย ทิ้งไว้สักพักแล้วดม หากมีกลิ่นแสดงว่าอาจมีกลิ่นปากผิดปกติ
  • ใช้เครื่องวัดกลิ่นปาก

 

ดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อป้องกันกลิ่นปาก

  • แปรงฟันให้ถูกวิธี แปรงลิ้น และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อทำความสะอาดตามซอกฟันที่แปรงเข้าไม่ถึง หากกลิ่นปากหายไปแสดงว่าเกิดจากการทำความสะอาดไม่ทั่วถึง
  • แต่หากยังมีกลิ่นปากอยู่ควรมาพบทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าเกิดจากโรคอื่น ๆ หรือไม่ เช่น เหงือกอักเสบในจุดที่ยังไม่ก่อให้เกิดอาการฟันผุ หรือมีโรคร้ายแรงอื่น ๆ
  • ทั้งนี้ กลิ่นปากเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ไม่ยาก หากหาสาเหตุเจอ แต่ถ้ายังไม่สามารถแก้ไขได้ ควรรีบมาพบทันตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

 

เคล็ดลับ ระงับกลิ่นปาก

  • อย่าปล่อยให้ปากแห้ง เพราะเมื่อปากแห้งความเข้มข้นของแบคทีเรียในปากจะเพิ่มมาก ทำให้เกิดกลิ่นปากได้ง่าย
  • ดื่มน้ำมาก ๆ ช่วยล้างแบคทีเรียออกจากน้ำลาย
  • แปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร และอย่างลืมแปรงด้านบนของลิ้น อันเป็นที่เกิดของแบคทีเรียด้วย
  • ใช้ไหมขัดฟันวันละ 2-3 ครั้ง
  • ถ้าไม่สะดวกจะแปรงฟัน ให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำยาบ้วนปาก
  • เคี้ยวหมากฝรั่งชนิดที่ไม่มีน้ำตาล
  • เคี้ยวใบผักชีฝรั่งหรือกานพลูหลังมื้ออาหาร
  • งดอาหารกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หอมใหญ่ พริกไทย และเนยแข็ง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก
  • กินอาหารให้ครบหมู่ แม้ว่าคุณจะกำลังลดความอ้วนอยู่ก็ตาม
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ตรวจสุขภาพฟันสม่ำเสมอ

 

อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ , ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ