อย่าขี้เกียจแปรงฟัน! วิจัยพบ 'โรคเหงือก' เชื่อมโยงต่อ 'ภาวะสมองเสื่อม'

อย่าขี้เกียจแปรงฟัน! วิจัยพบ 'โรคเหงือก' เชื่อมโยงต่อ 'ภาวะสมองเสื่อม'

อย่าละเลย "สุขภาพช่องปาก" ถ้าไม่อยาก "สมองเสื่อม" วิจัยจาก Neurology ชี้ "โรคเหงือกอักเสบ" มีส่วนทำให้สมองฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นสมองด้านความจำหดตัวลง

Key Points : 

  • นักวิจัยญี่ปุ่นค้นพบว่า “โรคเหงือก” และ “การสูญเสียฟัน” เกี่ยวข้องกับการหดตัวของ “สมองส่วนฮิปโปแคมปัส” ซึ่งเป็นสมองด้านความจำ
  • หากฟันและเหงือกแข็งแรง ฟันอยู่ครบและบดเคี้ยวได้ปกติ ก็จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนไปยังสมอง ทำให้สมองแข็งแรง
  • ดร.โรดริโก เนวา บอกว่า โรคเหงือกอักเสบและปริทันต์เป็นโรคที่เงียบมาก ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวจนกระทั่งอาการรุนแรงและสูญเสียฟัน งานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าโรคปริทันต์เชื่อมโยงกับโรคสมองเสื่อม โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ

ช่วงต้นเดือน ก.ค. 2023 ที่ผ่านมา มีรายงานจากวารสารด้านประสาทวิทยาอย่าง Neurology ได้ระบุถึงงานวิจัยของ Satoshi Yamaguchi นักวิจัยจาก Tohoku University ในประเทศญี่ปุ่น ที่ค้นพบว่า “โรคเหงือก” และ “การสูญเสียฟัน” เกี่ยวข้องกับการหดตัวของ “สมองส่วนฮิปโปแคมปัส” ซึ่งเป็นสมองด้านความจำ และมักพบการหดตัวลักษณะนี้ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

อีกทั้งก่อนหน้านี้ในปี 2020 ก็มีรายงานคล้ายกันนี้เผยแพร่ออกมาเช่นกัน โดยเป็นงานวิจัยของ ดร.แองเจลา คาเมอร์ จากวิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก โดยแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “กลุ่มแบคทีเรียที่ไม่สมดุล” ซึ่งพบอยู่ใต้เหงือก ซึ่งเชื่อมโยงกับสารชีวภาพบางอย่างใน “น้ำไขสันหลัง” ที่บ่งชี้ถึงโรคอัลไซเมอร์ในผู้ใหญ่

การค้นพบทั้งสองกรณีนี้กำลังบอก “วัยทำงาน” ในทุกระดับอายุว่า “ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่อยู่ใกล้ ๆ แค่เพียงการเอื้อมมือไปหยิบแปรงสีฟันในทุก ๆ วัน

อย่าขี้เกียจแปรงฟัน! วิจัยพบ \'โรคเหงือก\' เชื่อมโยงต่อ \'ภาวะสมองเสื่อม\'

 

  • สุขภาพช่องปากสามารถส่งผลต่อ "สมอง" ได้อย่างไร ?

นักวิจัยชาวญี่ปุ่น Satoshi Yamaguchi อธิบายว่า การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการอักเสบเรื้อรังบริเวณเหงือกและฟัน อาจเพิ่มความเสี่ยงของ “ภาวะสมองเสื่อม” ในสมองส่วนฮิปโปแคมปัส หรือที่ทางวิทยาศาสตร์เรียกปฏิกิริยานี้ว่า “การหดตัวของสมอง” เนื่องจากพบว่าจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคเหงือกอักเสบนั้น อาจบุกรุกเข้าเซลล์สมองและทำลายเนื้อเยื่อประสาทได้

สำหรับกรณี “ฟันผุและการสูญเสียฟัน” ยามากุจิกล่าวว่า ฟันที่หายไปสามารถลดการกระตุ้นการเคี้ยว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในผู้ป่วยที่ฟันบดเคี้ยวหายไปเชื่อมโยงกับภาวะสมองหดตัว ในขณะที่หากฟันและเหงือกแข็งแรง ฟันอยู่ครบและทำหน้าที่บดเคี้ยวได้อย่างปกติ ก็จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนไปยังสมอง ทำให้สุขภาพสมองแข็งแรง 

อย่างไรก็ตามนักวิจัยย้ำว่า การศึกษานี้ไม่ได้พิสูจน์ว่ามีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุระหว่างโรคเหงือกและการหดตัวของสมอง แต่การศึกษานี้ชี้ชัดว่า จำนวนฟันที่หายไปและการเกิดโรคเหงือกอักเสบ มีความสัมพันธ์กับอัตราการฝ่อของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มวัยทำงานตอนปลายและกลุ่มผู้สูงอายุ ในวัย 55 ปี ขึ้นไป (เป็นผลที่ได้จากการทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่ค่อนข้างเล็กจำนวน 172 คน) 

“เราจำเป็นต้องยืนยันผลการศึกษานี้อีกครั้ง โดยทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงจำเป็นต้องมีการศึกษาแบบแทรกแซงเพื่อยืนยันความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ และเพื่ออธิบายกลไกความเชื่อมโยงดังกล่าว” ยามากุจิ กล่าว 

อย่าขี้เกียจแปรงฟัน! วิจัยพบ \'โรคเหงือก\' เชื่อมโยงต่อ \'ภาวะสมองเสื่อม\'

 

  • "โรคเหงือก" เป็น "ภัยเงียบ" และอาจรุนแรงขึ้นโดยไม่รู้ตัว!

แม้จะมีข้อจำกัดเหล่านี้ แต่การศึกษาก็แสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่า การรักษาสุขอนามัยช่องปากที่ดีสามารถปกป้องเราจากโรคทางสมองในภายหลังได้ อย่างไรก็ตาม โรคเหงือกถือเป็น "ภัยเงียบ" และอาจรุนแรงขึ้นโดยไม่มีอาการเจ็บปวด จึงทำให้หลายคนมองข้ามการดูแลรักษาเหงือกและฟันอย่างเหมาะสม

ขณะที่ ดร.โรดริโก เนวา (Rodrigo Neiva) ประธานแผนกปริทันตวิทยาของ Penn Dental Medicine ได้ให้ข้อมูลผ่าน New York Times ซึ่งก็พบว่าสอดคล้องกับข้อมูลข้างต้นโดยระบุว่า โรคเหงือกอักเสบและปริทันต์เป็นโรคที่เงียบมาก ผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวจนกว่าจะสูญเสียฟัน 

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา รายงานว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่มีอายุเกิน 30 ปี แสดงอาการของ “โรคเหงือก”  และร้อยละ 9 เป็นโรคเหงือกรุนแรงหรือที่เรียกว่า “โรคปริทันต์” เมื่อปล่อยไว้โดยไม่รักษา โรคเหงือกจะแก้ไขได้ยากขึ้น และงานวิจัยบางชิ้นชี้ว่า โรคปริทันต์เชื่อมโยงกับโรคสมองเสื่อม โรคเบาหวาน และโรคหัวใจอีกด้วย

นอกจากนี้ มีรายงานจากการศึกษาระหว่างประเทศในปี 2021 ที่ทำกับกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งล้านคนพบว่า ผู้ที่มีสุขภาพฟันไม่ดี มีโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์มากกว่า 21% รวมถึงงานวิจัยอีกหลายชิ้นยืนยันว่า “โรคเหงือกอักเสบ” มีความเชื่อมโยงกับการเกิด “โรคเบาหวาน” “โรคหัวใจ” รวมถึงนำไปสู่การอักเสบในระบบต่าง ๆ แบบเรื้อรังด้วย

อย่าขี้เกียจแปรงฟัน! วิจัยพบ \'โรคเหงือก\' เชื่อมโยงต่อ \'ภาวะสมองเสื่อม\'

 

  • วิธีดูแลเหงือกและฟัน ให้ห่างไกลความเสี่ยง "ภาวะสมองเสื่อม"

การดูแลสุขภาพช่องปากในทุกช่วงวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการมีวินัยในการแปรงฟันทุกวันๆ ละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำจาก University of Rochester Medical Center เพิ่มเติม ดังนี้ 

1. การแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ช่วยป้องกันเหงือกอักเสบ ฟันผุ และการสูญเสียฟันได้ 

2. ควรไปขูดหินปูนและตรวจฟันโดยทันตแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง

3. แปรงฟันให้ถูกต้องโดยวางแปรงสีฟันทำมุม 45 องศา กับเหงือก แล้วแปรงฟันแต่ละซี่ 15 ถึง 20 ครั้ง ขยับแปรงเบา ๆ ขึ้นลงโดยใช้จังหวะสั้น ๆ อย่าขัดถูไปมาในทิศทางซ้ายขวา

4. ใช้แปรงขนนุ่มและยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เสมอ

5. ควรเปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 หรือ 4 เดือน หรือหลังจากที่เป็นหวัด, คออักเสบ 

6. อย่าเก็บแปรงสีฟันไว้ในภาชนะปิด เพราะกระตุ้นการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ 

7. ใช้ไหมขัดฟันอย่างระมัดระวัง จับไหมขัดฟันให้แน่นระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ สอดไหมไว้ระหว่างซี่ฟันและค่อย ๆ ขยับไหมขัดฟันให้เลื่อนขึ้นและลง 

8. เมื่อไหมขัดฟันมาถึงขอบเหงือก ให้พันรอบฟัน 1 ซี่ ถูด้านข้างของฟันเบา ๆ ขยับไหมขัดฟันขึ้นและลง (ระดับต่ำกว่าขอบเหงือก) ทำซ้ำกับฟันทุกซี่ อย่าลืมใช้ไหมขัดฟันซี่ที่อยู่ด้านหลังด้วย

------------------------------------------

อ้างอิง : Newsweek, Neurology.org, Dailymailurmc.rochester.edu