ไม่อยากเหงือกร่น ปริทันต์ถามหา อย่าละเลย ‘ขูดหินปูน’ ทุก 6 เดือน

ไม่อยากเหงือกร่น ปริทันต์ถามหา อย่าละเลย ‘ขูดหินปูน’ ทุก 6 เดือน

การรักษาสุขภาพช่องปาก เป็นสิ่งจำเป็น คำแนะนำ คือ ควรพบทันตแพทย์ปีละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะการขูดหินปูน ที่มีลักษณะเป็นของแข็งไม่สามารถแปรงได้เอง ดังนั้น จึงควรขูดทุก 6 เดือน ป้องกันฟันเหลือง มีกลิ่นปาก เหงือกร่น โรคปริทันต์ ฟันโยกฟันห่าง และฟันผุ

Key Point : 

  • คราบหินปูน มีลักษณะเป็นของแข็งไม่สามารถแปรงได้เอง ต้องให้ทันตแพทย์ทำการขูดหินปูนออกไปเท่านั้น
  • หากปล่อยไว้ไม่ดูแล จะทำให้เกิดเหงือกอักเสบ กระดูกที่รองรับรากฟันจะค่อยๆ ละลาย ทำให้ฟันโยกไม่แข็งแรง เกิดปัญหาเหงือกร่น โรคปริทันต์  ฟันโยกฟันห่าง ฟันผุ
  • โรคปริทันต์ ระยะสุดท้าย กระดูกและเส้นใยที่คอยยึดฟันไว้จะถูกทำลาย ทำให้ฟันโยก ส่งผลต่อการเคี้ยว ถ้าไม่ได้รับการรักษาแบบทันท่วงที อาจจะต้องถอนฟันในที่สุด

 

 

คราบหินปูน เป็นอีกหนึ่งปัญหาในช่องปาก ที่เกาะตามผิวฟัน หลายคนอาจมองข้ามการรักษาเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ขณะที่ความจริงแล้วปัญหาดังกล่าวอาจนำมาสู่ปัญหาช่องปากอื่นๆ ได้อย่างคาดไม่ถึง ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า คราบหินปูน เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หินน้ำลาย เกิดจากคราบจุลินทรีย์ หรือขี้ฟัน ที่สะสมและจับกับเชื้อโรคจนกระทั่งตกตะกอนกลายเป็นของแข็งเกาะอยู่บนผิวฟัน ซอกเหงือก ซอกฟัน และขอบฟัน

 

โดยปกติคราบจุลินทรีย์เริ่มต้นที่เกาะอยู่บนผิวฟันจะมีลักษณะนิ่มและสามารถแปรงออกได้ แต่เมื่อใดที่มีแร่ธาตุจากน้ำลายมาผสมด้วยจะกลายเป็นคราบหินปูนที่มีลักษณะเป็นของแข็งไม่สามารถแปรงได้เอง ต้องให้ทันตแพทย์ทำการขูดหินปูนออกไปเท่านั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ปัญหาคราบหินปูน ส่งผลเสียอย่างไร

ผลข้างเคียงของปัญหาคราบหินปูนจะเกิดขึ้นเมื่อจุลินทรีย์ปล่อยสารที่เป็นกรดออกมาทำให้เกิดเหงือกอักเสบ และเมื่อปล่อยออกมานานๆ กระดูกที่รองรับรากฟันจะค่อยๆ ละลาย ทำให้ฟันโยกไม่แข็งแรง โดยปัญหาที่เกิดจากคราบหินปูน ได้แก่ เลือดออกขณะแปรงฟัน ฟันเหลือง มีกลิ่นปาก เหงือกร่น โรคปริทันต์  ฟันโยกฟันห่าง และฟันผุ

 

ดังนั้น ปัญหาคราบหินปูน จึงเป็นปัญหาช่องปากที่ควรได้รับการดูแลจากทันตแพทย์ตามความเหมาะสม สำหรับช่วงอายุที่สามารถเข้ารับการขูดหินปูนได้นั้น ปกติแล้วไม่ได้มีการกำหนดตายตัวอาศัยการตรวจสุขภาพถ้าหากถึงเวลาที่ควรได้รับการขูดหินปูนแพทย์จะแนะนำ ส่วนความถี่ที่เหมาะสมในการขูดหินปูน สำหรับคนทั่วไปที่มีอาการเหงือกอักเสบเพียงเล็กน้อยควรขูดหินปูนทุก 6 เดือน แต่ถ้าหากมีอาการของร่องลึกปริทันต์ด้วยควรได้รับการขูดหินปูนทุก 3-4 เดือน

 

โรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์

โรคเหงือกอักเสบ หรือ โรคปริทันต์ ข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ อธิบายว่า เป็นการอักเสบของเหงือกที่สามารถพัฒนาไปเป็นการติดเชื้อที่กระดูกที่ยึดติดฟันและบริเวณใกล้เคียง โรคเหงือกเกิดจากแบคทีเรียซึ่งเป็นเหมือนฟิล์มที่ใสที่เกาะอยู่บนตัวฟัน

 

ถ้าไม่ทำความสะอาดออกไปทุกวันด้วยการแปรงฟันและขัดฟัน คราบแบคที่เรียก็จะสะสม และไม่เพียงแค่เหงือกและฟันก็จะติดเชื้อ แต่รวมถึงเนื้อเยื่อและกระดูกที่ยึดติดกับฟันด้วย ซึ่งอาจทำให้ฟันโยก หลุด หรือต้องถูกถอนออกไป

 

 

โรคเหงือกอักเสบ แบ่งเป็น 3 ระยะ

1. อาการเหงือกอักเสบ

การอักเสบของเหงือกที่เกิดจากคราบแบคทีเรีสะสมตามร่องเหงือกนี้เป็นอาการเริ่มต้นของโรคเหงือก ถ้าการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันทุกวันไม่สามารถขจัดคราบแบคที่เรียได้ทั้งหมด ก็จะทำให้เกิดสารพิษที่จะทำลายเนื้อเยื่อเหงือก และเกิดเหงือกอักเสบ อาจมีการเลือดออกขณะแปรงฟันหรือขัดฟัน ในระยะเริ่มแรกนี้อาการสามารถรักษาให้หายได้ เนื่องจากกระดูกและเนื้อเยื่อยังไม่ถูกทำลาย

 

2. อาการปริทันต์

ในระยะนี้ กระดูกและเส้นใที่คอยยึดฟันไว้จะถูกทำลายไปแล้ว ร่องเหงือกจะกลายเป็นโพรงที่เศษอาหารและหินปูนจะเข้ามาสะสม การรักษาและการดูแลที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสียหายได้

 

3. อาการปริทันต์ขั้นรุนแรง

ในระยะสุดท้ายนี้ กระดูกและเส้นใยที่คอยยึดฟันไว้จะถูกทำลายไปแล้ว และทำให้ฟันโยก ซึ่งจะส่งผลต่อการเคี้ยว ถ้าไม่ได้รับการรักษาแบบทันท่วงที อาจจะต้องถอนฟันในที่สุด

 

อาการ

1. เหงือกแดงและบวมหรือนุ่ม

2. เหงือกมีเลือดออกระหว่างแปรงฟันหรือขัดฟัน

3. ฟันดูยาวขึ้นเนื่องจากเหงือกร่นลงไป

4. เหงือกไม่ติดอยู่กับฟัน เหมือนมีร่อง

5. ฟันโยก ฟันเคลื่อนห่างออกจากกัน มีการขยับเขยื้อนเวลาเคี้ยว

6. มีหนองไหลออกมาจากบริเวณร่องเหงือก

7. มีกลิ่นปากหรือรสชาติแปลกๆ ในปาก

 

สาเหตุ

1. แผ่นคราบจุลินทรีย์ที่สะสมอยู่บนตัวฟันเนื่องจากแปรงฟันไม่หมดหรือแปรงฟันไม่ถูกวิธี

2. มีหินปูนหรือหินน้ำลายที่ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ไปให้ทันตแพทย์รักษา

3. มีฟันเก หรือใส่ฟันปลอมที่หลวมหรือแน่นเกินไป

4. มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคเลือด หรือได้รับยารักษาโรคบางชนิด (เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคลมชัก)

5. มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในระยะวัยรุ่น ระยะตั้งครรภ์ และระยะหมดประจำเดือน

6. มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง

 

การป้องกันและการรักษา

1. ระยะเริ่มแรกของโรคเหงือกสามารถรักษาได้ด้วยการแปรงฟันให้ถูกวิธี โดยเฉพาะหลังอาหารและก่อนนอน เพื่อขจัดแผ่นคราบจุลินทรีย์และสิ่งสกปรก ถึงแม้ว่าทันตแพทย์จะทำการรักษาจนหายเรียบร้อยแล้ว ถ้าคนไข้ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์โรคปริทันหรือเหงือกอักเสบจะกลับเป็นซ้ำอีกได้

2. ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันทุกครั้งหลังจากแปรงฟันเสร็จแล้ว

3. ดูแลทำความสะอาดช่องปากโดยทันตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเป็นทางเดียวที่จะขจัดคราบแบคที่เรียที่สะสม และแข็งตัว โดยทันตแพทย์จะทำการขูดหินปูนที่แข็งตัวออกจากฟันและร่องเหงือก ถ้ามีอาการมาก อาจจะต้องทำการรักษารากฟัน ซึ่งจะช่วยดูแลรากฟันไม่ให้หินปูนเข้าไปสะสมได้ง่าย สวัสดีค่ะ

3. ควรไปพบทันตแพทย์ ปีละ2ครั้ง หรืออย่างน้อยปีละครั้ง

 

5 ข้อดีของการขูดหินปูน

โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ อธิบายว่า เมื่อเกิดคราบหินปูนที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียรวมตัวกับโปรตีน หรือ เศษอาหาร กลายเป็นแผ่นจุลินทรีย์เกาะตามขอบฟันที่ติดกับเหงือก เมื่อทับถมกันจะมีลักษณะเป็นคราบหินปูนและเกาะแน่นที่ฟัน อาจทำให้เกิดโรคปริทันต์ โรคเหงือกได้ ข้อดีของการขูดหินปูน ดังนี้

 

1. ลดการเกิดโรคเหงือก โรคปริทันต์

โรคเหงือก หรือ โรคปริทันต์ จะมีเลือดออกขณะปแรงฟัน เหงือกบวมแดง มีกลิ่นปาก เหงือกร่น มีหนองออกจากร่องเหงือก ฟันเคลื่อนห่างออกจากกัน สาเหตุของโรคเกิดจากหินปูนหรือน้ำลาย คือแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัว โดยแผ่นคราบจุลินทรีย์มีลักษณะเป็นคราบสีขาวขุ่นนิ่ม ที่ประกอบด้วยเชื้อโรคติดอยู่บนตัวฟัน

เป็นสาเหตุของโรคปริทันต์ คราบจุลินทรีย์นี้จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างกรดและสารพิษ โดยกรดจะทำลายเคลือบฟัน ทำให้ฟันผุ โดยหินปูนที่โผล่ฟันขอบเหงือกจะมองเห็นได้ ส่วนที่อยู่ใต้เหงือกจะมองไม่เห็น หินปูนหรือคราบจุลินทรีย์ ที่ยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือก ไม่สามารถกำจัดออกได้ ต้องอาศัยทันตแพทย์ช่วยกำจัดหินปูนให้ทันตแพทย์ทำการขูดหินปูนออกทั้งเหนือเหงือกและใต้เหงือก

 

2. ป้องกันฟันผุ

จุดประสงค์ของการขูดหินปูน หากมีคราบแบคทีเรียเริ่มเกาะตัวจนกลายเป็นคราบแข็ง ควรขูดหินปูนเพื่อป้องกัน หากปล่อยไว้จะทำให้กลายเป็นโรคเหงือก สาเหตุให้สูญเสียฟัน ป้องกันฟันผุ ลดปัญหากลิ่นปาก และเหงือกบวมอักเสบให้บรรเทาได้

 

3. ลดกลิ่นปาก

การขูดหินปูน ช่วยลดกลิ่นปากได้ เพราะสาเหตุของกลิ่นปากมาจากคราบหินปูนที่มาจากการสะสมในบริเวณช่องปากที่มีเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก

 

4. ยืดอายุฟัน

การขูดหินปูนช่วยยืดระยะเวลา และอายุของฟันให้อยู่กับเรา โอกาสที่ฟันของ คุณจะเสียไปมีน้อยกว่าเก่า จะทานอะไรก็สามารถทำได้ เพราะฟันมีความแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นไอศกรีม ถั่ว ผลไม้ ก็ทานได้สบาย

 

5. เพิ่มความมั่นใจเวลายิ้ม ฟันสะอาด ดูสุขภาพดี

การขูดหินปูน ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการยิ้ม ฟันสะอาด ดูสุขภาพดี ช่วยเสริมบุคลิกภาพของเราให้ดูดีขึ้น

 

สิทธิประโยชน์ ทำฟัน

 

สิทธิบัตรทอง

ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ที่มีปัญหาเกี่ยวกับช่องปาก-ทันตกรรม สามารถเข้ารับบริการ ณ สถานพยาบาลประจำตามสิทธิได้แล้ว เพียงแสดงบัตรประชาชน หากอาการป่วยเกินศักยภาพการรักษาของหน่วยบริการตามสิทธิ จะมีการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่มีความพร้อมต่อไป

 

รายการสิทธิประโยชน์

ส่งเสริมป้องกัน

  • ตรวจสุขภาพช่องปาก ขัด และทำความสะอาดฟัน
  • การทาฟลูออไรด์วาร์นิชในเด็กกลุ่มเสี่ยงอายุ 9 เดือน – 5 ปี
  • การเคลือบฟันด้วยฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูงเฉพาะที่ (เด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6-24 ปี)
  • เคลือบหลุมร่องฟันในฟันกรามถาวรซี่ที่ 6, 7, 4, 5 (เด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6-24 ปี)
  • ตรวจสุขภาพช่องปาก คัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งช่องปากและมะเร็งช่องปาก (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ อายุ 25-59 ปี)
  • ตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรค (Biopsy) และตรวจทางพยาธิวิทยา (ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ อายุ 25-59 ปี)

 

รักษา

  • ถอนฟัน
  • อุดฟัน อุดคอฟัน
  • ขูดหินปูน การเกลาฟันหรือเกลารากฟัน (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทันตแพทย์ในการรักษา)
  • รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม (รากฟันน้ำนม)
  • ใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่
  • ผ่าฟันคุด (ตามข้อบ่งชี้ของทันตแพทย์)
  • รักษาโรคปริทันต์อักเสบ
  • ทันตกรรมฟื้นฟู
  • ฟันปลอมฐานพลาสติก ทั้งแบบซี่ถอดได้และแบบทั้งปากถอดได้
  • ใส่รากฟันเทียมทุกกลุ่มอายุที่มีปัญหาการใส่ฟันเทียมทั้งปากแล้วฟันเทียมหลวมไม่แน่น ไม่กระชับหรือไม่สามารถใส่ฟันเทียมได้ ที่ทันตแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า จำเป็นต้องได้รับการใส่รากฟันเทียม
  • จัดฟันในผู้มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ หรือปากแหว่งเพดานโหว่ (ตามดุลพินิจของทันตแพทย์)

 

สิทธิประกันสังคม

สิทธิของประกันสังคมได้ สำหรับ ผู้ประกันตนในมาตรา 33,39 มีการรักษาทางทันตกรรม ประกอบด้วย

  • ถอนฟัน
  • อุดฟัน
  • ขูดหินปูน
  • ผ่าตัดฟันคุด

 

ไม่ต้องสำรองจ่ายก่อนใช้สิทธิได้สูงสุด 900 บาทต่อปีต่อคน โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งต่อปี ซึ่งสามารถเบิกได้จนกว่าจะครบ 900 บาทต่อปี นอกจากนี้ การทำฟันประกันสังคมยังครอบคลุมการฟันปลอมชนิดได้บางส่วนหรือชนิดถอดได้ทั้งปาก ซึ่งทั้งหมดเป็นสิทธิประกันสังคมของผู้ประกันตนพึ่งจะได้รับ

 

ผู้ประกันตนที่จะไปใช้สิทธิ ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ในการเข้ารับบริการ กรณีทันตกรรมกับสถานพยาบาล โดยสังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรมทำฟัน ไม่ต้องสำรองจ่าย

 

ทั้งนี้ สิทธิทำฟันฟรี 900 บาทต่อคน เป็นสิทธิเฉพาะปี หากไม่ได้ใช้วงเงินดังกล่าวจะไม่ทบยอดในปีถัดไป ดังนั้นหากไม่ใช้สิทธิในปีนี้ถือว่าเสียโอกาสในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากในปีนั้นไป

 

กรณีผู้ประกันตน สำรองค่าใช้จ่ายไปก่อน สามารถนำเอกสารไปเบิกเงินกับสำนักงานประกันสังคมได้ โดยสามารถยื่นรับเงินทำฟันออนไลน์ได้แล้ว โดยยื่นเรื่องผ่าน เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th พร้อมแนบไฟล์ใบเสร็จรับเงิน ,ใบรับรองแพทย์ และสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ หน้าแรกที่มีชื่อและเลขบัญชีของผู้ประกันตน

 

จากนั้นส่งใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์ฉบับจริงไปที่สำนักงานประกันสังคมที่ผู้ประกันตนเลือกยื่นเรื่องขอรับสิทธิประโยชน์ หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมสายด่วน 1506 กด 1 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

 

สิทธิข้าราชการ

สิทธิประโยชน์การรักษาทางทันตกรรมสำหรับข้าราชการ ครอบคลุมบุคคลในครอบครัว ดังนี้

  • บิดา
  • มารดา
  • คู่สมรส
  • บุตรไม่เกิน 3 คนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือบรรลุนิติภาวะ แต่เป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนผู้ไร้ความสามารถที่อยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของข้าราชการ
  • ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
  • ไม่รวมบุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมแก่ผู้อื่น
  • ครอบคลุมถึงข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ


ข้าราชการและครอบครัวสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการภาครัฐ เพื่อใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลโดยไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงแสดงบัตรประจำตัวประชาชนใบเดียวเท่านั้น กรณีบุตรอายุต่ำกว่า 7 ปีที่ยังไม่มีบัตรประชาชน สามารถใช้สูติบัตรและบัตรประชาชนของผู้ดูแลได้

 

สิทธิสวัสดิการการรักษา

ครอบคลุม 87 รายการ เช่น

  • การอุดฟัน
  • การถอนฟัน
  • การผ่าฟันคุด
  • การผ่าตัดอื่น ๆ เกี่ยวกับช่องปากและขากรรไกร
  • การใส่เฝือกฟัน
  • การรักษาโรคปริทันต์
  • การรักษาคลองรากฟัน
  • การแก้ไขการสบฟันที่ผิดปกติ
  • การฟอกสีฟันที่ตายแล้ว
  • การใส่เครื่องมือปิดช่องเพดานโหว่
  • การใส่ฟันเทียมทั้งแบบถอดได้และติดแน่น เป็นต้น

 

อ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี , โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ , โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ