'หูอื้อ' ไม่ได้ยิน มีเสียงวิ้ง ภาวะผิดปกติที่ไม่ควรละเลย

'หูอื้อ' ไม่ได้ยิน มีเสียงวิ้ง ภาวะผิดปกติที่ไม่ควรละเลย

อาการหูอื้อ สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ทั้งที่เรารู้ตัว และไม่รู้ตัว บางครั้งส่งผลให้การได้ยินลดลง หรือ ได้ยินเสียงผิดปกติในหู ซึ่งเกิดได้ตั้งแต่หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน

KEY

POINTS

  • “หูอื้อ” มีหลายลักษณะ เช่น ได้ยินไม่เหมือนเดิม การได้ยินลดลง ได้ยินเสียงผิดปกติในช่องหู ซึ่งสองสาเหตุมาจากความผิดปกติที่แตกต่างกัน และนำไปสู่โรคที่แตกต่างกัน
  • อาการหูอื้อ เกิดได้ตั้งแต่เด็ก จนถึงผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะสาเหตุจาก ขี้หูอุดตัน น้ำขังในหูชั้นกลาง ประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังเกินไป ประสาทหูเสื่อมตามวัย และ ท่อปรับความดันหูทำงานผิดปกติ
  • การแคะหู ปั่นหู ทำให้ขี้หูอุดตันมากขึ้น ดังนั้น หากพบความผิดปกติของหู ไม่ว่าจะสาเหตุใดก็ตาม ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและหาทางแก้ไขได้อย่างถูกต้อง

อาการหูอื้อ สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ทั้งที่เรารู้ตัว และไม่รู้ตัว บางครั้งส่งผลให้การได้ยินลดลง หรือ ได้ยินเสียงผิดปกติในหู ซึ่งเกิดได้ตั้งแต่หูชั้นนอก หูชั้นกลาง และหูชั้นใน

“หู” เป็นอวัยวะรับเสียงของร่างกาย บางคนอาจเคยเกิดอาการหูอื้อโดยฉับพลัน โดยผู้ป่วยมักรู้สึกถึงความผิดปกติ แต่บางคนอาจไม่ได้สังเกตอาการตนเอง ต้องอาศัยคนใกล้ชิด เช่น เรียกไม่ค่อยได้ยิน หรือเปิดโทรทัศน์เสียงดัง เป็นต้น

 

นพ.กฤตนัย ธรธรรมธาดา ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในรายการ ลัดคิวหมอรามา ผ่านช่องทาง รามาแชนแนล Rama Channel โดยอธิบายว่า หูอื้อ แปลได้หลายความหมาย เมื่อคนไข้มาพบแพทย์แล้วบอกว่าเป็น “หูอื้อ” ต้องดูว่าหมายความว่าอะไร หลายคนหมายถึงว่าได้ยินไม่เหมือนเดิม การได้ยินลดลง หรือบางคนได้ยินเสียงผิดปกติในช่องหู ซึ่งสองสาเหตุมาจากความผิดปกติที่แตกต่างกัน และนำไปสู่โรคที่แตกต่างกัน

 

“การได้ยินเสียงลดลง เกิดจากความผิดปกติตั้งแต่ “หูชั้นนอก” มักจะเป็นเรื่องของการติดเชื้อช่องหู ขี้หูอุดตัน อาบน้ำอยู่รู้สึกเหมือนหูแน่นๆ อื้อขึ้นมา หรือมีอาการหลังจากปั่นหู แคะหูหลังอาบน้ำ แล้วรู้สึกว่าหูแน่นขึ้น “หูชั้นกลาง” จากเป็นหวัด คัดจมุก ไซนัสอักเสบ ทำให้มีอาการหูอื้อร่วมได้ จมูกกับหูจะมีท่อที่ต่อกันอยู่ และ “หูชั้นใน” เกิดจากประสาทหูเสื่อม เพราะฉะนั้น อาการหูอื้อ เป็นได้หลายลักษะ

  • การได้ยินลดลง
  • มีเสียงดังรบกวนหู
  • ได้ยินเสียงก้องดังผิดปกติ
  • คล้ายมีน้ำในหู แน่นหู

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

‘คางทูม’ ไวรัสจากคนสู่คน พฤติกรรมแบบไหน เสี่ยงติดเชื้อ

เช็ก 6 อาการ 'บ้านหมุน' เวียนศีรษะ แบบไหนไม่ควรมองข้าม

‘หลังค่อม’ ภัยเงียบกระดูกสันหลัง สังเกตอย่างไร แค่ไหนถึงเรียกว่า ‘ค่อม’

 

 

สาเหตุ หูอื้อ

  • ขี้หูอุดตัน
  • น้ำขังในหูชั้นกลาง
  • ประสาทหูเสื่อมจากเสียงดังเกินไป
  • ประสาทหูเสื่อมตามวัย
  • ท่อปรับความดันหูทำงานผิดปกติ

 

"หากรู้สึกได้ยินไม่เท่ากัน บางทีวิธีที่ง่ายที่สุด คือ ลองเอานิ้วโป้งและนิ้วกลาง ถูกันไปมาที่หน้าหู หากได้ยินชัดเจนแปลว่าปกติ แต่หากไม่ได้ยิน แนะนำให้มาตรวจ"

 

ขี้หูอุดตัน ได้อย่างไร

นพ.กฤตนัย  อธิบายว่า หูอื้อ ที่เจอบ่อยที่สุดเวลาออกตรวจ คือ ขี้หูอุดตัน ซึ่งคนไข้ส่วนใหญ่จะมีประวัติ ปั่นหู แคะหู เนื่องจากขี้หูปกติสามารถหลุดได้เองโดยธรรมชาติ การที่ปั่นหรือแคะเป็นการดันให้มันเข้าไปข้างใน แนะนำว่าเช็ดอยู่ด้านนอกก็เพียงพอ

 

"ส่วนด้านในหูอาจใช้ไดร์เป่าผม เป่าเบาๆ ห่างๆ โดยที่อุณหภูมิห้อง ไม่ร้อน ไม่เย็น ไม่เช่นนั้นอาจเกิดอาการเวียนศีรษะ และปล่อยให้แห้ง ไม่ต้องปั่น แคะ ยกเว้นคนที่อาจจะมีความชื้น มัน ของช่องหูผิดปกติ ทำให้ขี้หูเหนียวผิดปกติ ออกยาก อาจจะต้องมาให้แพทย์เอาออกเป็นระยะ”

 

การแก่ไข

ควรพบแพทย์เพื่อทำความสะอาดเอาขี้หูออก ไม่แนะนำให้แคะหู เพราะขี้หูจะอัดแน่นหรือติดเชื้อได้ ส่วนยาละลายขี้หูสามารถใช้ได้ แต่ในบางคนอาจจะทำให้ขี้หูพองขึ้นและอุดตันมากขึ้นกว่าเดิม ในกรณีนี้ต้องให้แพทย์เอาออก

 

 

เด็ก ทำไมชอบหูอื้อ

สำหรับสาเหตุของหูอื้อ ที่มาจากท่อปรับความดันหูทำงานผิดปกติ มักพบบ่อยในเด็กและคนไข้ที่เป็นภูมิแพ้ โดยปกติโพรงจมูกด้านหลังจะมีท่อที่ต่อกับหูชั้นกลางเพื่อเป็นการระบายอากาศ

 

"สังเกตดูว่าเมื่อเราขึ้นเครื่องบิน ความกดอากาศผิดปกติ บางครั้งจะรู้สึกหูอื้อได้ แต่หากกลืนน้ำลาย หรือ เป่าลงออก เป็นการเปิดท่อนี้ ความดันปรับเท่ากัน ทำให้อาการหูอื้อดีขึ้น"

 

อย่างไรก็ตาม ในเด็ก ท่อดังกล่าวอาจจะสั้น เตี้ยกว่า ทำให้เวลาเป็นหวัด จมูกบวมทำให้ปิดรูเปิดของท่อ ทำให้การระบายอากาศของหูชั้นกลางทำงานได้ไม่ดี ทำให้รู้สึกว่าหูอื้อขึ้นได้

 

การแก้ไข

ควรตรวจความผิดปกติในหูชั้นกลาง และภายในโพรงจมูกร่วมด้วย เพราะมักพบไซนัสอักเสบเรื้อรังได้บ่อยหรือมีภูมิแพ้เป็นสาเหตุ

 

ประสาทหูเสื่อมตามวัย

นพ.กฤตนัย  อธิบายต่อไปว่า พอเราสูงอายุมากขึ้น เซลล์ประสาท เกี่ยวกับการรับเสียง ความถี่สูงๆ จะเสียไปก่อน ไม่มีการฟื้นคืนกลับมา การที่เซลล์ประสาทเสีย ทำให้เราได้ยินเสียงผิดปกติ หากถามคนไข้ เขาจะบอกว่าได้ยินเหมือนเสียงจิ้งหรีด หรือเสียงซ่าๆ ตลอด โดยเฉพาะเวลาอยู่ในห้องที่เงียบ

 

เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทรับเสียงในหูชั้นในของผู้สูงอายุ แต่เกิดช้า เกิดไวแล้วแต่คน ซึ่งบางคนอาจมีพร้อมกันทั้งสองอาการ คือ การได้ยินลดลง และได้ยินเสียงดังในหู

 

“ประสาทหูเสื่อมแล้วเสื่อมเลย เหมือนเข่าเสื่อม ข้อเสื่อม แต่อาจจะมีทางช่วย คือ การใส่เครื่องช่วยฟัง ทำให้บางความถี่ดีขึ้น ทำให้การสื่อสารดีขึ้นได้บ้าง”

 

การแก้ไข

พบแพทย์เพื่อตรวจความผิดปกติอื่นๆ และประเมินว่าควรใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่ นอกจากนี้ อย่าเพิ่มความเสี่ยง เช่น การปั่นหู แคะหู

 

เสียงดังเกินไป หูอาจเสื่อมได้

สำหรับในกลุ่มนี้จะมีทั้งกลุ่มที่ทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังในระยะเวลานาน ทำให้เซลล์ประสาทรับเสียงอักเสบ/ประสาทรับเสียงตายไป หรือ คนที่ได้ยินเสียงดังมากๆ ครั้งเดียว อาจทำให้ประสาทรับเสียงอักเสบ/ประสาทรับเสียงตายได้ หรืออีกกลุ่มที่ไปดูคอนเสิร์ต จะได้ยินเสียงดังในระยะเวลาหนึ่ง และสักพักจะกลับมาเป็นปกติ กรณีนี้จะโชคดี เพราะส่วนใหญ่จะกลับมาปกติได้

 

“แต่หากได้ยินเสียงดังเป็นเวลานานๆ ในโรงงาน หรือ ได้ยินเสียงดังมากๆ เช่น ปืน ระเบิด บางทีประสาทรับเสียงอาจจะไม่กลับมาเลย”

 

การแก้ไข

หากมีเสียงดังรบกวนในหู ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจดูการได้ยินเพิ่มเติม คนที่ทำงานในสถานที่เสียงดังๆ บ่อยๆ ควรระมัดระวัง เพราะหากหูเสื่อมไปแล้วจะเอากลับมาไม่ได้ แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามในการวิจัยในการรักษา แต่ยังอยู่ในระยะทดลอง ดังนั้น การใส่เครื่องมือป้องกันจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

 

น้ำเข้าหู ทำอย่างไร 

การที่น้ำเข้าหู ส่วนใหญ่หูจะอื้อจากการที่น้ำขังในหูชั้นนอก ดังนั้น สามารถทำความสะอาดภายนอก ส่วนภายในอาจใช้ไดร์เป่าผม หรือปล่อยให้แห้งเอง หากปล่อยให้แห้งแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์

 

ท้ายนี้ นพ.กฤตนัย  กล่าวว่า คนไข้ร้อยละ 80 เป็นการอักเสบของหูชั้นนอก จากการปั่น หรือ แคะ ส่วนหูชั้นกลางส่วนใหญ่จะป้องกันไม่ได้ เด็กที่มีอาการคัดจมูก หูอื้อ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อรักษา เมื่อโตขึ้นอายุราว 10 ขวบ ท่อปรับความดันจะยาวขึ้นและทำงานได้ดี ดังนั้น เรื่องหูอื้อตอนว่ายน้ำ ตอนเป็นหวัด ก็มักจะดีขึ้นไปด้วย ส่วนคนที่ทำงานในสถานที่ดังๆ แนะนำให้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน