‘คางทูม’ ไวรัสจากคนสู่คน พฤติกรรมแบบไหน เสี่ยงติดเชื้อ

‘คางทูม’ ไวรัสจากคนสู่คน พฤติกรรมแบบไหน เสี่ยงติดเชื้อ

โรคคางทูม เกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติที่สังเกตได้ คือ ต่อมน้ำลายบริเวณข้างหูเจ็บและบวมอย่างเห็นได้ชัด และปรากฏอาการเบื้องต้น อาทิ ไข้ ปากแห้ง เบื่ออาหาร ฯลฯ แล้วพฤติกรรมแบบไหน ที่ทำให้เราเสี่ยงติดเชื้อได้ ?

Key Point : 

  • โรคคางทูม เกิดจากไวรัส สามารถติดต่อจากผู้ป่วยไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางละอองฝอย สารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นการไอ จาม น้ำลาย
  • การใช้อุปกรณ์ เช่น หลอด ช้อน ร่วมกับผู้ที่เป็นโรคคางทูม มีโอกาสรับเชื้อได้
  • เด็กแรกเกิด จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน 2 เข็ม เป็นวัคซีนบังคับที่เด็กทุกคนในประเทศไทยจะต้องได้รับ

 

คางทูม (Mumps) เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ที่ติดเชื้อไวรัสจากคนสู่คน โดยสัมผัสละอองน้ำลายของผู้ที่ติดเชื้อได้จากการไอหรือจาม ไวรัสจะเคลื่อนจากระบบทางเดินหายใจไปยังต่อมน้ำลายบริเวณข้างหู เมื่อต่อมนี้เกิดการอักเสบจะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและบวมแดง

 

นอกจากนี้ ถ้าไวรัสแพร่กระจายเข้าสู่น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังแล้ว ก็อาจจะแพร่ไปที่อื่นในร่างกายส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระบบสืบพันธุ์

 

อาการของโรคคางทูม

โรคคางทูม จะมีอาการผิดปกติที่สังเกตได้คือ ต่อมน้ำลายบริเวณข้างหูเจ็บและบวมอย่างเห็นได้ชัด และปรากฏอาการเบื้องต้นของโรค ดังนี้

  • มีไข้สูง (38 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงกว่า)
  • ปากแห้ง
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดตามข้อ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

'ยาแก้แพ้' กินแล้วทำไมง่วงซึม เลือกใช้อย่างไรให้ถูกวิธี

ภาวะตากระตุก ลางร้าย ? หรือสัญญาณเตือนสุขภาพ

ชอบกัดเล็บตัวเอง ต้องรู้ ! อาการแบบไหน เข้าข่ายโรคจิตเวช

 

 

ใช้หลอดเดียวกับผู้ป่วย คางทูม ติดโรคได้จริงหรือ

รศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบาย ผ่านช่องทาง Rama Channel ว่า โรคคางทูม เกิดจากไวรัส ชนิดหนึ่ง สามารถติดต่อจากผู้ป่วยไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางละอองฝอย เชื้อไวรัสจะออกมาจากสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นการไอ จาม น้ำลาย หากน้ำลายอยู่ที่หลอด และมีอีกคนมาใช้หลอดร่วมกัน มีโอกาสรับเชื้อได้

 

อาการของโรคคางทูม จะมีลักษณะของคางที่โตขึ้น เนื่องจากต่อมน้ำลายอักเสบ หลายครั้งเป็นครั้งเดียวหรือสองข้าง และการติดเชื้อชนิดนี้ ทำให้มีอาการข้างเคียงอื่นๆ เกิดขึ้นได้ เช่น อาการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้ มึน สับ สับสน

 

นอกจากนี้ ยังทำให้อัณฑะอักเสบได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมาในลักษณะอัณฑะโตขึ้น บวม แดง ร้อน หากเป็นในกลุ่มผู้หญิงจะมีในลักษณะท่อนำรังไข่อักเสบ ทำให้ปวดท้อง

 

การดูแล รักษา 

คางทูม ในปัจจุบัน ยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะไวรัสคางทูม โดยทั่วไป จะรักษาตามอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการที่ดีขึ้นได้ใน 1-2 สัปดาห์

 

อย่างไรก็ตาม คางทูม มีวัคซีน ซึ่งอยู่ในรูปแบบวัคซีนป้องกัน 3 ชนิด ในหนึ่งเข็ม ได้แก่ หัด หัดเยอรมัน และ คางทูม เด็กทุกคนในประเทศไทย ตอนเกิดจะได้รับการฉีด 2 เข็ม เป็นวัคซีนบังคับที่เด็กทุกคนในประเทศไทยจะได้รับการฉีดตั้งแต่เด็ก

 

"วิธีการป้องกันโรคคางทูม คือ ลดการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น เชื้อเหล่านี้สามารถส่งผ่านทางละอองฝอย น้ำลาย หากใช้ช้อน หลอด ร่วมกัน จะทำให้รับเชื้อได้ รวมถึง สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายโดยการฉีดวัคซีน"

 

 

การป้องกัน โรคคางทูม

ข้อมูลจาก กรมควบคุมโรค อธิบายว่า การป้องกันโรคคางทูมสามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีน MMR (Measles-Mumps-Rubella Vaccine) เป็นการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 0.5 มิลลิลิตร บริเวณกึ่งกลางต้นขาด้านหน้าในเด็กหรือต้นแขนในผู้ใหญ่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 95% การรับวัคซีนจะเกิดขึ้นทั้งหมด 2 ครั้ง คือ

  • ครั้งแรก ในเด็กอายุ 9-12 เดือน
  • ครั้งที่ 2 ในเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง หรือ 4-6 ปี

 

ในปี พ.ศ. 2556 กระทรวงสาธารณะสุข ประเทศไทย มีการแนะนำให้เปลี่ยนการฉีดวัคซีน MMR ครั้งที่ 2 จากเด็กอายุ 4-6 ปี เลื่อนเข้ามาเป็นอายุ 2 ปีครึ่ง เพื่อเร่งการสร้างภูมิคุ้มกันในเด็กที่ได้รับวัคซีนครั้งแรกในอายุ 9 เดือนแล้วไม่ได้ผล

 

ส่วนในภาคเอกชน สำหรับเด็กที่รับวัคซีน MMR ครั้งแรกที่อายุ 12 เดือน อาจรับวัคซีนครั้งที่ 2 ที่อายุ 2 ปีครึ่ง หรือ 4-6 ปีตามปกติก็ได้

 

ลดการแพร่กระจายของโรคคางทูม

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยการฟอกสบู่
  • ใช้ทิชชู่ปิดปากเวลาไอหรือจามและทิ้งลงในถังขยะให้เรียบร้อย
  • เมื่อเริ่มสังเกตได้ว่ามีอาการของโรคคางทูม ควรหยุดพักอยู่ที่บ้านอย่างน้อย 5 วัน
  • หลีกเลี่ยงการไปโรงเรียน ที่ทำงาน หรือสถานที่สาธารณะ

 

อ้างอิง : Rama Channel , กรมควบคุมโรค