‘หลังค่อม’ ภัยเงียบกระดูกสันหลัง สังเกตอย่างไร แค่ไหนถึงเรียกว่า ‘ค่อม’

‘หลังค่อม’ ภัยเงียบกระดูกสันหลัง สังเกตอย่างไร แค่ไหนถึงเรียกว่า ‘ค่อม’

เราอาจจะเคยเห็นว่า บางคนกระดูกสันหลัง โค้งงอ ตัวเอนไปข้างหน้า หรือที่เรียกว่า 'หลังค่อม' ซึ่งเกิดได้ทุกวัย ไม่ว่าจะผุ้สูงอายุ ที่มีความเสื่อมของกระดูก ขณะที่ วัยเด็กและวัยรุ่น ซึ่งมีการพัฒนากระดูกอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ผู้ปกครองไม่ควรละเลย

Key Point :

  • หลังค่อม เกิดจากการพัฒนาที่ผิดปกติของกระดูกสันหลัง ท่าทาง หรือ อิริยาบทที่ไม่ถูกต้อง หรือความเสื่อมตามวัย
  • พบได้ในเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ เรียกว่าเกิดขึ้นได้ทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็ก หรือ วัยรุ่น เป็นช่วงที่มีการพัฒนากระดูกอย่างรวดเร็ว
  • ในบางคนที่กระดูกสันหลังค่อมเยอะมากๆ หรือ บดเบียนเส้นประสาทได้ อาจมีอาการขาชา อ่อนแรงได้

 

 

หลังค่อม คือ อาการที่กระดูกสันหลัง โค้งนูนมากผิดปกติ ในบางรายอาจสังเกตได้ด้วยตาเปล่าและอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกปวด หรือ ตึง บริเวณหลัง เจ็บที่กระดูกสันหลัง ในผู้ที่มีอาการหลังค่อมมาก อาจลำบากเวลารับประทานอาหาร หรือ หายใจ 

 

สาเหตุเกิดจากการพัฒนาที่ผิดปกติของกระดูกสันหลังของทารกในครรภ์มารดา หรือการทำลายสุขภาพกระดูกสันหลังด้วยการอยู่ในท่าทาง หรือ อิริยาบทที่ไม่ถูกต้อง หรือเกิดจากความเสื่อมตามวัย พบได้ในเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ เรียกว่าเกิดขึ้นได้ทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็ก หรือ วัยรุ่น เป็นช่วงที่มีการพัฒนากระดูกอย่างรวดเร็ว ถ้าพบว่าบุตรหลานมีกระดูกสันหลังตอนบนที่โค้งนูนผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ 
 

 

‘หลังค่อม’ ภัยเงียบกระดูกสันหลัง สังเกตอย่างไร แค่ไหนถึงเรียกว่า ‘ค่อม’ ที่มา : ลัดคิวหมอรามาฯ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

แค่ไหน ถึงเรียกว่า ‘หลังค่อม’  

ผศ.นพ.ปิลันธน์ ใจปัญญา ศัลยกรรมกระดูกและข้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ให้ความรู้ในรายการ ลัดคิวหมอรามาฯ ผ่านช่องทาง รามาแชนแนล Rama Channel ว่า หลังค่อม หากเกิน 40-45 องศาขึ้นไป ถือว่าเป็นโรค แต่หากดูง่ายๆ ตามบาลานซ์ของสันหลัง เมื่อมองด้านข้างลำตัวตามสรีระที่ดี แนวของหู ไหล่ และลำตัวด้านข้าง จะอยู่ในระนาบเดียวกัน หากคนที่หลังค่อมมาก ทำให้บาลานซ์ของร่างกายโน้มตัวไปข้างหน้า ถือว่า หลังค่อม ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุและหลายความรุนแรง


บางคนไม่ได้มีสาเหตุทางโครงสร้างที่ชัดเจน แต่เป็นบุคลิกภาพ บางคนชอบนั่งก้มตัวมาข้างหน้าเยอะ หรือ บางคนเกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณหลังด้านบน หรือบริเวณสะบักไม่แข็งแรง กล้ามเนื้อที่ช่วยดึงบาลานซ์ไปด้านหลังไม่ค่อยดี ทำให้กล้ามเนื้อด้านหน้ามีบาลานซ์ที่แข็งแรงมากกว่า จึงไหล่ห่อและตัวค่อมได้

 

"ทั้งนี้ หากสาเหตุในเชิงบุคลิกภาพ หรือ กล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง ส่วนใหญ่ไม่ส่งผลต่อการใช้งาน อาจจะเป็นเรื่องของรูปลักษณ์และบุคลิกภาพมากกว่า”

 

ขณะที่ ในเด็กบางคนที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ ทำให้กระดูกสันหลังค่อมมาก พอเวลาค่อมมากๆ ทำให้บาลานซ์ร่างกายค่อมไปด้านหน้า และส่งผลต่อการมองเห็นที่ผิดปกติ มองไม่เห็นทางได้ดี ถัดมา คือ พอหลังค่อมเยอะทำให้ทรวงอกขยายไม่เต็มที่ เหมือนถูกกดไว้ การหายใจอาจจะไม่สะดวก หรือทานข้าวแล้วแน่นท้องได้ง่าย

 

สาเหตุหลังค่อม

  • พฤติกรรม การนั่งท่าที่ไม่เหมาะสม เป็นระยะเวลานาน
  • ความผิดปกติ กระบวนการเจริญเติบโตของกระดูกสันหลังมีปัญหา
  • อุบัติเหตุ เกิดการทรุดตัวของกระดูกสันหลัง
  • ความเสื่อม เกิดจากการเสื่อมตามอายุ

 

‘หลังค่อม’ ภัยเงียบกระดูกสันหลัง สังเกตอย่างไร แค่ไหนถึงเรียกว่า ‘ค่อม’

 

 

ผศ.นพ.ปิลันธน์ กล่าวต่อไปว่า 2 สาเหตุหลักที่เจอบ่อย คือ กลุ่มที่เกิดจากบุคลิกภาพ กล้ามเนื้อ การใช้ชีวิตทั่วไป และ กลุ่มที่เกิดหลังอุบัติเหตุ กระดูกสันหลังคนเรามีรูปทรงสี่เหลี่ยม อุบัติเหตุทำให้ชิ้นกระดูกสันหลังยุบตัว ทำให้หลังค่อมโค้ลงมา หากในคนที่อายุไม่เยอะ กล้ามเนื้อแข็งแรง จะสามารถปรับสมดุลขึ้นมาได้

 

“และอีกกลุ่มที่พบว่า กระดูกสันหลังยุบเยอะ คือ ผู้สูงอายุ ที่มีปัญหากระดูกพรุน กระดูกทรุดตัวโดยที่ไม่มีอุบัติเหตุรุนแรง พอทรุดหลายข้อมากทำให้ตัวโดยรวมค่อมลงมา และเนื่องจากคุณภาพกล้ามเนื้อถดถอย ไม่มีกล้ามเนื้อที่ดีมาช่วยพยุง ทำให้หลังค่อมได้”

 

นั่งนานๆ แล้วหลังค่อม ?

ขณะเดียวกัน การนั่งนานๆ เช่น การเล่นคอมพิวเตอร์ ทำให้อยู่ในท่าเดิมนานๆ กล้ามเนื้อเกิดความเมื่อยล้า เราจึงพยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อและปล่อยตัวให้ค่อมลงมา ส่วนใหญ่จะไม่ได้เกิดจากปัญหาทางโครงสร้าง ดังนั้น ไม่ได้เป็นถาวร หากเราไม่ได้ทำแบบนี้บ่อย หรือไม่ได้อยู่ในท่าที่ผิดปกติมากๆ ก็ไม่ได้ทำให้โครงสร้างภายในได้รับการบาดเจ็บ

 

“แต่หากบางคนนั่งตัวไถล ก้มตัวนานๆ ทำให้การรับน้ำหนักของลำตัวเริ่มผิดปกติ อาจมีเรื่องของหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพตามมาได้ บุคลิกแบบนี้หลายปีต่อกันทำให้หมอนรองกระดูกเริ่มเสื่อมและเป็นปัญหาถาวรได้”

 

ภัยเงียบกระดูกสันหลัง ที่ควรระวัง

ผศ.นพ.ปิลันธน์ อธิบายต่อไปว่า หลังค่อม ส่วนใหญ่เป็นภัยเงียบ เพราะไม่ค่อยมีอาการ แม้ในผู้สูงอายุ ถึงจะหลังค่อม แต่การใช้งานไม่เยอะมาก แต่ในทางกลับกัน ผู้สูงอายุบางคนยังมีกิจกรรมที่แอคทีฟอยู่ ในกลุ่มนี่อาจจะมีอาการค่อนข้างเยอะ เมื่อเราใช้งาน เราจะมีการเกร็งเพื่อดึงไม่ให้ลำตัวค่อม หรือล้มไปทางด้านหน้า ทำให้มีอาการได้จากกล้ามเนื้อที่เมื่อยล้า

 

“ในบางคนที่กระดูกสันหลังค่อมเยอะมากๆ หรือ บดเบียนเส้นประสาทได้ บางคนอาจมีขาชา อ่อนแรงได้ แต่เจอได้เป็นส่วนน้อย ขณะเดียวกัน เราอาจเคยเห็นผู้สูงอายุที่หลังค่อมมาก เกิดจากกระดูกพรุนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้กระดูกโดยรวมของทั้งตัวไม่ดี ข้อหนึ่งยุบ มีความเสี่ยงที่ข้ออื่นๆ จะยุบหรือทรุดต่อไป ทำให้ตัวโน้มไปด้านหน้า และต้องใช้ไม้เท้า”

 

คนที่หลังค่อม นอนหงายได้หรือไม่ ?

คนที่หลังค่อม สามารถนอนได้ แต่อาจจะลำบาก ขึ้นอยู่กับว่าค่อมลักษณะใด หากการค่อมเกิดจากกระดูกที่ยุบไม่เยอะแต่หลายๆ ข้อก็สามารถนอนได้ แต่หากค่อมเยอะๆ ข้อใดข้อหนึ่ง เป็นหักมุม อาจจะนอนลำบาก เพราะเหมือนเป็นมุมแหลมที่หลัง นอนแล้วอาจทำให้เกิดเป็นแผลกดทับได้

 

หลังค่อม รักษาได้หรือไม่

การแก้ปัญหา ‘หลังค่อม’ ต้องดูที่สาเหตุ หากค่อมแต่ไม่มาก ส่วนใหญ่จะสามารถทำให้แอ่นขึ้นมาได้บ้าง แต่หากค่อม ทรุดลงไป เป็นมานาน การที่ตัวโรคเป็นเยอะทำให้ข้อต่อต่างๆ มีการยึดติด การไปดัดรุนแรงก็อาจจะไม่ทำให้กลับมาตรง และอาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ทำให้เกิดกระดูกแตกเพิ่มเติมได้ เพราะโครงสร้างเขามีการปรับตัวให้อยู่ในท่าค่อมไปแล้ว

 

“ส่วนใหญ่คนไข้ที่มาพบแพทย์ จะมีตั้งตบุคลิกภาพ หรือ บางคนไม่ทราบว่าตัวเองหลังค่อม กระดูกยุบ แต่มาตตรวจสุขภาพประจำปี หรือบางคนมาด้วยอาการปวดหลัง นั่งได้ไม่นาน เดินได้ไม่นาน รู้สึกว่าหลัง ทำให้เมื่อยล้าได้ง่าย หรืออีกกลุ่มที่มาด้วยอาการของระบบประสาท ขาชา อ่อนแรง เกร็ง กลั่นฉี่ กลั้นอึ ไม่ค่อยได้ เป็นผลกระทบที่ตามมา”

 

‘หลังค่อม’ ภัยเงียบกระดูกสันหลัง สังเกตอย่างไร แค่ไหนถึงเรียกว่า ‘ค่อม’

 

การรักษา

  • กายภาพบำบัด
  • ผ่าตัด
  • อุปกรณ์ค้ำกระดูก
  • เสริมสร้างกล้ามเนื้อหลัง
  • กินยากลุ่ม NSAIDs

 

การรักษาเบื้องต้น คือ จะแนะนำให้ปรับพฤติกรรม เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่เกิดจากสรีระ บุคลิกภาพ การนั่ง การใช้งาน ดังนั้น จะให้ปรับท่านั่ง เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ให้แข็งแรง แต่หากยังมีอาการปวด จะให้ทานยาลดปวดและทำกายภาพร่วมด้วย

 

ถัดมา หากมีปัญหาของหลังค่อม เดินแล้วสมดุลตัวล้มไปด้านหน้า จะให้ใช้ไม้ค้ำยัน แต่ในกรณีที่ค่อมมากๆ มีปัญหาเรื่องเส้นประสาท และส่งผลต่อการใช้งาน ส่วนน้อยมากๆ ที่จะต้องผ่าตัด ซึ่งมีโอกาสให้หลังตรงมากขึ้น แต่ปัญหาการผ่าตัด บางคนเส้นประสาทอาจบอบช้ำจากการดัด หากจำเป็นต้องผ่าตัด จึงจะพยายามแก้ไขบางส่วนที่ปลอดภัย เพื่อให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากที่สุด

 

การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยง การสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมาก
  • ท่าทาง นั่งหรือยืนท่าทางที่ถูกต้อง หลังตรง อกผาย ไม่ห่อตัว
  • ออกกำลังกาย เพิ่มความแข็งแรงและยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ

 

ผศ.นพ.ปิลันธน์ กล่าวต่อไปว่า การที่กระดูกสันหลังจะค่อมไม่ค่อม ขึ้นอยู่กับรูปทรงของกระดูกหลายส่วน เพราะที่คอคนเราก็มีความแอ่นอยู่แล้ว บางคนหากคอเสื่อม คอก็จะก้มมาด้านหน้า ดังนั้น เราจะทำอย่างไรให้ไม่ก้มไปด้านหน้า ก็ต้องทำให้คอไม่เสื่อม โดยการป้องกัน เสริมสร้างกล้ามเนื้อที่คอและหลัง จะช่วยดึงไปด้านหลัง

 

ส่วนในช่องอก ปกติคนเราจะค่อมอยู่แล้ว แต่หากในบางคนที่เกิดปัญหาจะค่อมมากกว่าปกติ ดังนั้น วิธีป้องกันคือทำให้กล้ามเนื้อด้านหลัง สะบักแข็งแรง ต้องออกกำลังกายกล้ามเนื้อด้านหลังเพื่อให้ดึงกลับ เป็นผลจากกล้ามเนื้อหลายส่วน ต้องบริหารกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวและช่วงหลัง

 

“แนะนำว่า ให้นั่งในเก้าอี้ที่มีพนักพิง อย่านั่งเอนตัว เพราะจะทำให้หลังเสื่อมได้ง่าย และจัดอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในตำแหน่งที่ไม่ทำให้ก้ม ขณะที่ผู้สูงอายุ ผู้หญิงที่หมดประจำเดือน แนะนำให้ตรวจกระดูก เพื่อคัดกรอง บางคนกระดูกเริ่มบาง เริ่มพรุน แต่ยังไม่มีกระดูกยุบ การที่ให้ยาเพื่อป้องกันจะดีกว่าการเกิดหลังค่อมในอนาคตได้” ผศ.นพ.ปิลันธน์ กล่าว 

 

‘หลังค่อม’ ภัยเงียบกระดูกสันหลัง สังเกตอย่างไร แค่ไหนถึงเรียกว่า ‘ค่อม’