เช็ก 6 อาการ 'บ้านหมุน' เวียนศีรษะ แบบไหนไม่ควรมองข้าม

เช็ก 6 อาการ 'บ้านหมุน' เวียนศีรษะ แบบไหนไม่ควรมองข้าม

เช็ก 6 อาการ เวียนศีรษะบ้านหมุน ความผิดปกติของอวัยวะรับการทรงตัวของหูชั้นใน ที่คอยดูแลสมดุลของร่างกาย ส่งผลให้เสียการทรงตัว เสี่ยงต่อการล้ม และอุบัติเหตุ

Key Point :

  • เวียนศีรษะบ้านหมุน เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะรับการทรงตัวของหูชั้นใน ที่คอยดูแลสมดุลของร่างกาย
  • เมื่อมีอาการ จะรู้สึกว่าหมุน ไหล ทั้งๆ ที่รอบๆ อยู่นิ่ง เช่น รู้สึกเหมือนแผ่นดินไหว ของรอบตัวขยับเขยื้อน
  • เวียนศีรษะบ้านหมุน เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น หินปูนชั้นในหลุด น้ำในหูไม่เท่ากัน ไมเกรน เป็นต้น หากพบความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์

 

อาการเวียนศีรษะ โดยทั่วไปมีลักษณะตั้งแต่ มึน งง โคลงเคลง ไม่มั่นใจ หวิวๆ โหวงๆ ยืน เดิน ทรงตัวไม่ดี มักมีสาเหตุมาจากสภาวะต่างๆ ที่ไม่เฉพาะเจาะจง ต่างจาก อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ที่จะรู้สึกสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน หรือตนเองกำลังหมุนไป ทั้งๆ ที่อยู่กับที่ หรือรู้สึกโคลงเคลงทั้งๆ ที่อยู่กับที่ ไม่มีการเคลื่อนไหว

 

เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะรับการทรงตัวของหูชั้นใน ที่คอยดูแลสมดุลของร่างกาย หากมีอาการรุนแรงจะมีอาการอื่นร่วมด้วย อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ มีเสียงในหู และความน่ากลัวคือ เมื่อเวียนศีรษะบ้านหมุน จะเสียการทรงตัว เสี่ยงต่อการล้ม อุบัติเหตุต่างๆ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วเพื่อให้ทราบสาเหตุและรักษาได้อย่างถูกวิธี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

อาการบ้านหมุนเกิดจากอะไร

นพ.กฤตนัย ธีรธรรมธาดา ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวใน รายการลัดคิวหมอรามาฯ ผ่านช่องทาง รามาแชนแนล Rama Channel โดยอธิบายว่า ส่วนใหญ่เวลาคนไข้ที่มาโรงพยาบาลจะมาด้วยอาการเวียนศีรษะ แต่เวียนศีรษะอาจจะไม่จำเป็นต้องหมุนตลอดเวลา แต่หากอาการ ‘บ้านหมุน’ คือ สิ่งที่เราเห็น สภาพแวดล้อม หรือภายในตัวเรา รู้สึกว่าหมุน ไหล ทั้งๆ ที่รอบๆ อยู่นิ่ง เช่น รู้สึกเหมือนแผ่นดินไหว ของรอบตัวขยับเขยื้อน หากอาการน้อยๆ อาจจะรู้สึกแค่โยกเยกไปมา โคลง แต่หากอาการเยอะ คนไข้จะรู้สึกว่ารอบตัวหมุนเป็นวงกลม

 

6 อาการบ้านหมุน

  1. อาจมีหูอื้อ เสียงดังในหู
  2. คลื่นไส้ อาเจียน
  3. สูญเสียการทรงตั
  4. มึนงง เวียนศีรษะ
  5. เดินเซ ทรงตัวผิดปกติ
  6. รู้สึกสภาพแวดล้อมไหลหรือเลื่อนได้ ทั้งๆ ที่อยู่เฉยๆ

 

 

สังเกตตากระตุก

อ. นพ.กฤตนัย อธิบายต่อไปว่า คนไข้ที่เกิดอาการบ้านหมุน ส่วนใหญ่จะมีอาการลูกตากระตุกด้วย พลิกไปพลิกมา ทำให้ภาพที่เราเห็นโยกไปมาตามความหมุนของลูกตา แต่บางคนรู้สึกว่าหลับตาแล้วยังไม่หยุดหมุน เพราะสาเหตุหลักๆ มาจากหูชั้นใน มีการติดต่อผ่านสมอง และออกที่ลูกตา เป็นวงจรการทำงานของสมอง หากหูชั้นในมีปัญหา ก็สะท้อนออกมาลูกตาที่ผิดปกติ ซึ่งสามารถนำมาวินิจฉัยได้ หรือญาติที่สังเกตอาการ เปิดตาดูจะรู้ว่ากระตุก

 

สาเหตุเวียนศีรษะบ้านหมุน

1. โรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน

  • โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด
  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
  • หูชั้นในอักเสบ
  • โรคเส้นประสาทการทรวงตัวอักเสบ
  • เวียนศีรษะจากไมเกรน
  • โรคทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เส้นเลือดสมองขาดเลือด

2. ยา

  • การได้รับยาบางชนิด

 

ความแตกต่างอาการบ้านหมุน ของแต่ละโรค

ผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจะมาจากสาเหตุ หินปูนชั้นในหลุด ราว 70% เพราะฉะนั้น คนไข้จะรู้ตั้งแต่อยู่บนเตียง ตื่นขึ้นมาตะแคงซ้ายขวาก็จะรู้สึกว่าบ้านหมุน หรือลุกขึ้นตอนเช้า จะรู้สึกมีอาการบ้านโคลง จะใช้เวลาเป็นวินาที - นาที และจะกลับปกติ เมื่อหินปูนกลับเข้าที่ปกติก็จะหยุดหมุน อาจจะมีโคลงเคลงเล็กน้อย ส่วนใหญ่มี 20% ที่หายเองได้ใน 1 เดือน

 

"อย่างไรก็ตาม คนไข้ส่วนใหญ่มักจะถามว่าหายขาดหรือไม่ คำตอบ คือ หายได้ แต่คล้ายหวัด เป็นแล้วก็เป็นใหม่ได้ เพราะหินปูนที่เคยหลุดแล้ว แปลว่ามีความผิดปกติที่หูชั้นในที่ทำให้มันหลุดออกมาได้ เพราะฉะนั้น ราว 20% จะหลุดซ้ำใน 1 ปี หรือหากโชคดีหน่อยจะอยู่ที่ราว 5-10 ปีเป็น 1 ครั้ง บางคนหินปูนหลุด รักษาหายสนิท ผ่านไป 3-6 เดือน เป็นใหม่ได้เช่นกัน"

 

โรคที่น้ำในหูไม่เท่ากัน จะมีอาการหูอื้อนำมาก่อน บางคนจะเริ่มรู้สึกว่าแน่นหู หูอื้อ และสักพักจะมีอาการบ้านหมุนตามมา ดังนั้น เวลามีอาการหูอื้อแปลกๆ ต้องระวัง บางครั้งเกิดขึ้นขณะ ทานข้าว ขับรถ และระยะเวลาในการหมุนจะนานกว่า ราว 15 นาที – 12 ชั่วโมง คนไข้กลุ่มนี้จะไม่กล้าทำอะไร คุณภาพชีวิตจะแย่

 

หรือในกลุ่มที่มี อาการไมเกรน ก็จะชัดเจน หากช่วงไหนมีความเสี่ยงที่จะเกิดไมเกรน เช่น ผู้หญิงช่วงก่อนมีประจำเดือน เครียด นอนน้อย ไม่สบาย ก็จะรู้สึกหูอื้อๆ และเริ่มหมุน

 

การรักษา อาการบ้านหมุน

นพ.กฤตนัย อธิบายว่า ส่วนใหญ่รักษาให้อาการคงที่อยู่ได้ ไม่กลับมากำเริบใหม่ อย่างที่ทราบ คือ น้ำในหูไม่เท่ากัน อาจจะสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารเค็ม เชื่อว่าโซเดียมมีผลต่อการดูดซึมน้ำในหูชั้นใน หากทานอาหารที่เค็มมาก มีโซเดียมมาก เช่น ขนมซอง อาจทำให้น้ำในหูชั้นในพองขึ้น หรือบางครั้ง คนปกติที่ทานอาหารเค็มมากก็จะรู้สึกเวียนศีรษะ หูอื้อได้

 

"การลดทานอาหารเค็ม เป็นวิธีแก้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วน ต้องมาพบแพทย์ เพราะอาการน้ำในหูนอกจากอาการเวียนศีรษะแล้ว ยังมีปัญหาการได้ยิน หากเรื้อรัง เซลล์รับการได้ยินในหูชั้นในจะลดลง ทำให้การได้ยินแย่ลง ควรป้องกันไม่ให้เกิด และหากเป็นแล้ว ควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจการได้ยิน รักษาโดยการให้ยา หรือฉีดยาเข้าหูชั้นใน" 

 

บรรเทาอาการบ้านหมุนเบื้องต้น

  • เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ
  • ค่อยๆ นั่ง ย่อตัวลง
  • นอนพักผ่อน ยกศีรษะสูงขึ้นเล็กน้อย
  • พักเฉยๆ จนกว่าจะดีขึ้น
  • หรือมาพบแพทย์จะดีที่สุด

 

ระวังบ้านหมุนในสูงวัย

ส่วนใหญ่โรคเหล่านี้จะเป็นเรื้อรังและรบกวนชีวิตประจำวันมาก และส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุ ส่งผลต่อการขยับ และล้มมากขึ้น พอผู้สูงอายุล้ม เกิดอุบัติเหตุจะทำให้มีภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างเยอะ ดังนั้น หากใครมีอาการควรมาพบแพทย์