'นอนกัดฟัน' เรื่องเล็กๆ ที่น่ารำคาญ ส่งผลเสียต่อสุขภาพปากและฟัน

'นอนกัดฟัน' เรื่องเล็กๆ ที่น่ารำคาญ ส่งผลเสียต่อสุขภาพปากและฟัน

ใครกำลังประสบปัญหา ตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการเสียวฟันอยู่บ้าง ทั้งที่ก่อนนอนหรือตลอดทั้งวันก็ไม่มีอาการดังกล่าว ...'การนอนกัดฟัน' แม้จะไม่รุนแรงเท่ากับคนที่นอนกรน แต่ก็ถือเป็นการรบกวนเพื่อนที่นอนด้วยกัน แถมมีผลเสียกับสุขภาพของช่องปากและฟันอย่างมาก

Keypoint:

  • การนอนกัดฟัน (Bruxism) เป็นความผิดปกติในขณะนอนหลับอย่างหนึ่ง เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวอาหารมีการหดตัวผิดปกติ จึงเกิดการกัดฟันขึ้น ผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันมักจะไม่ทราบพฤติกรรมนอนกัดฟันด้วยตนเองคล้ายกับผู้ที่มีอาการนอนกรน 
  • ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดว่าการนอนกัดฟัน เกิดจากอะไร แต่มีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากความเครียด การกินยาบางชนิด ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น
  • การป้องกันการนอนกัดฟันที่ดีวิธีหนึ่ง คือ การสังเกตการเปลี่ยนแปลงในปาก เมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายในขณะที่สบฟัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการนอนกัดฟันได้ ก็ควรหาทางกำจัดความไม่สบายนั้นโดยเร็ว โดยไปพบทันตแพทย์ตรวจจุดที่สบฟันผิดปกติ

 

ขณะนอนหลับเมื่อเกิดปัญหา 'การนอนกัดฟัน' ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเกิดขึ้นหลังจากหลับไปแล้ว แต่มีข้อสันนิษฐานได้หลายสาเหตุด้วยกัน ตั้งแต่เกิดจากแนวโน้มกับความสัมพันธ์ของความเครียดในชีวิตประจำวัน หรือบางคนอาจมีปัญหาทางด้านร่างกาย  บางคนอาจมีปัญหาเพราะยาที่รับประทาน แต่จะพบในเปอร์เซ็นต์ที่น้อย รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ก็สามารถทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันได้  

ว่ากันว่า 'นอนกัดฟัน' เป็นการขบเคี้ยวฟันที่ไม่ใช่การทำงานตามหน้าที่ที่ถูกต้อง อาจเกิดขึ้นในขณะนอนหลับ หรืออาจเกิดขึ้นได้ในเวลากลางวัน ขณะที่นั่งทำงานเผลอๆ หรือในขณะที่มีความเครียด การนอนกัดฟันมักจะเกิดขณะที่นอนหลับไม่ลึก หรือหลับไม่สนิท การใช้ฟันขบเขี้ยวเคี้ยวกันในเวลาที่ไม่ได้กินอาหาร เชื่อว่าเป็นการทำงานที่ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น และไม่เกิดผลดีใดๆ

 

ผลเสียของการนอนกัดฟันมีดังนี้

  • กล้ามเนื้อทำงานมากกว่าปกติ
  • ฟันสึก
  • ทำให้ปวดที่ข้อต่อขากรรไกรได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รู้ได้อย่างไร?ว่าเรานอนกัดฟัน

ศ.คลินิก ทพญ.ณัฏยา อัศววรฤทธิ์ ภาควิชาวิทยาระบบบดเคี้ยว คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่านอนกัดฟัน เป็นอาการทำงานของฟัน นอกหน้าที่ของระบบบดเคี้ยวในขณะนอนหลับ ที่ทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยวหดตัวผิดปกติ จึงเกิดการกัดฟัน จัดเป็นความผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่ง (Sleep disorders)

สังเกตตนเองว่านอนกัดฟันได้ ดังนี้

  • ส่วนมากคนที่นอนด้วยเขาจะบอกเราได้ แต่บางทีหรือบางคนถ้ากัดฟันแบบกัดแน่น ไม่ไถฟันไปมา ก็ไม่ได้ยินเสียง
  • อาจสังเกตตัวเองว่าตื่นนอนแล้วรู้สึกเมื่อยหรือเจ็บตึงที่บริเวณแก้ม หน้าหู หรือมีข้อต่อขากรรไกรขยับลำบาก ติดๆ ขัดๆ
  • ถ้าให้ทันตแพทย์ตรวจจะพบมีฟันสึกผิดปกติ ไม่สมกับอายุ ดูบริเวณแก้มด้านในและที่ขอบลิ้น มีรอยหยักตามแนวสบฟันชัดเจน แต่ต้องดูประกอบกันหลายอย่าง และอาจใช้เครื่องมือที่ช่วยทดสอบว่านอนกัดฟัน

\'นอนกัดฟัน\' เรื่องเล็กๆ ที่น่ารำคาญ ส่งผลเสียต่อสุขภาพปากและฟัน

สาเหตุของการนอนกัดฟัน

  • ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด พบว่าอาจมีบางอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม ความเครียด วิตกกังวล
  • การรับประทานยาที่ช่วยปรับสารในสมอง
  • โรคบางอย่าง เช่น Parkinson ที่ทำให้กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ
  • ความผิดปกติของการนอนหลับอื่นๆ (Sleep disorders)
  • กล้ามเนื้อ ถ้าเป็นน้อยก็อาจมีอาการเมื่อยๆ บริเวณแก้ม หน้าหู ตอนตื่นนอน
  • ฟัน ฟันสึก แตก หรือร้าว ซึ่งอาจถึงขั้นต้องถอน
  • ข้อต่อขากรรไกร  ถ้าเป็นมากอาจจะเจ็บจนอ้าปากไม่ออก ขยับขากรรไกรลำบากจนถึงขั้นข้อต่อขากรรไกรเสื่อม
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือกาแฟมากกว่า 6 แก้วต่อวัน
  • การสูบบุหรี่
  • ผู้ที่สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์จะมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการกัดฟันมากกว่าคนอื่นถึง 2 เท่า

การกัดฟัน เป็นได้ทั้งตอนนอนและตอนตื่น

ทพญ. ณัฐกานต์ ฮ้อศิริลักษณ์ ทันตแพทย์ผู้ชำนาญการด้านความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร โรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่า

ประเภทของอาการกัดฟันนั้น มีดังต่อไปนี้

การกัดฟันขณะที่ตื่นอยู่ : จะเกิดขึ้นในช่วงกลางวันและมักเกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านอารมณ์ เช่นความเครียด ความโกรธ และความวิตกกังวล อาการกัดฟันประเภทนี้มักไม่ต้องได้รับการรักษา ผู้ป่วยเพียงแค่หมั่นสังเกตตัวเองและหยุดกัดฟัน การจัดการกับความเครียดสามารถช่วยลดของอาการกัดฟันได้

การนอนกัดฟัน : เป็นอาการที่ผู้ป่วยกัดฟันขณะนอนหลับ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตัวเองนอนกัดฟัน แต่อาจทราบจากคนที่นอนด้วยหรือรู้สึกปวดกรามและฟันเมื่อตื่นนอน จนทำให้ปวดศรีษะได้

\'นอนกัดฟัน\' เรื่องเล็กๆ ที่น่ารำคาญ ส่งผลเสียต่อสุขภาพปากและฟัน

 

ผลเสียของการนอนกัดฟัน 

ผลเสียที่ชัดเจนก็คือ การรบกวนเพื่อนที่นอนด้วยกัน ซึ่งแม้จะไม่รุนแรงเท่ากับคนที่ นอนกรน แต่เสียงกัดฟันก็น่ารำคาญไม่น้อยทีเดียว ผลเสียโดยตรงต่อฟัน คือ ฟันจะสึกกร่อนในด้านบดเคี้ยว ความรุนแรงนี้ขึ้นอยู่กับความถี่บ่อยของการนอนกัดฟัน ลองนึกถึงการบดเคี้ยวอาหารของเราซึ่งเกิดจากการกัดฟัน เพื่อให้สามารถตัด ฉีก บดขยี้อาหารให้ละเอียด กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า จะต้องเกร็งตัวหนักมาก โดยเฉพาะเมื่อเคี้ยวอาหารเหนียว หรือแข็งมาก ๆ

การนอนกัดฟันก็เช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่กัดฟัน กล้ามเนื้อที่ใบหน้า จะออกแรงมากพร้อมกับการบดขยี้ของฟันที่กระทบกัน แต่เมื่อไม่มีอาหารมาคั่นกลางระหว่างฟันบนและล่างที่บดเคี้ยวอยู่ ก็เท่ากับการบดขยี้ฟันโดยตรง ทำให้ฟันสึกลงไปได้ ไม่ว่าเคลือบฟันฟันนั้นแข็งแกร่งหนักหนาเพียงใดก็ตาม เช่นเดียวกับการสึกกร่อนของหิน ซึ่งแม้จะแข็งปานใด เมื่อมีแรงกระทบบ่อย ๆ ก็สึกลงได้เช่นกัน

การสึกกร่อนของชั้นเคลือบฟัน (enamel) ซึ่งเป็นไปอย่างช้า ๆ และยังไม่มีอาการ แต่ถ้าการนอนกัดฟันยังดำเนินต่อไปเป็นเวลานาน ๆ และฟันสึกเข้าไปถึงชั้นเนื้อฟัน (dentine) ซึ่งมีส่วนประกอบทางเคมี และคุณสมบัติต่างกับเคลือบฟัน ก็จะสึกกร่อนได้เร็วกว่า และเนื่องจากในชั้นเนื้อนี้มีเซลล์หล่อเลี้ยง จึงสามารถรับความรู้สึกได้ด้วยและมีผลให้การสึกกร่อนบนชั้นนี้มีอาการเสียวฟันตามมาด้วย 

\'นอนกัดฟัน\' เรื่องเล็กๆ ที่น่ารำคาญ ส่งผลเสียต่อสุขภาพปากและฟัน

ดังนั้น ในผู้สูงอายุที่นอนกัดฟัน จึงมีอาการเสียวฟัน ควบคู่ไปกับการสึกของฟันบนด้านบดเคียว ซึ่งโดยธรรมชาติ ฟันที่ทำหน้าที่บดเคี้ยวได้ดี เช่น ฟันกรามจะต้องมีส่วนนูน เว้า และร่องฟันทั้งฟันบนและฟันล่างที่พอเหมาะและสอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถรับการบดเคี้ยวจากฟันด้านตรงข้ามได้ดี แต่ฟันที่สึกกร่อนจากการนอนกัดฟันเป็นเวลานาน ๆ ด้านบดเคี้ยวของฟันกรามจะสึก เรียบ ทำให้การบดเคี้ยวอาหารไม่ได้ดีเท่าที่ควร เพราะขาดส่วนนูนส่วนเว้าที่ช่วยรองรับอาหารในระหว่างการบดเคี้ยวด้วย จึงเท่ากับการลดประสิทธิภาพของการใช้งานของฟันที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง

ในบางกรณีของการนอนกัดฟัน อาจเป็นได้ว่าเกิดเฉพาะบางบริเวณในปากและเป็นกับฟันบางซี่เท่านั้น ในกรณีนี้ ฟันที่ถูกกระแทกแรง ๆ บ่อย ๆ นี้ อาจมีผลเสียต่อตัวฟันโดยตรง ทำให้ฟันตาย และอาจเกิดอาการอักเสบของเยื่อปริทันต์ และเหงือกรอบฟันนั้นได้ด้วย ผลเสียร้ายแรงของการนอนกัดฟันคือ เมื่อฟันสึกกร่อนมาก ๆ จะมีผลตามต่อมา โดยไปมีผลต่อ ข้อต่อขากรรไกร ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงและการสึกกร่อน เพื่อให้สอดคล้องกับการสึกของฟัน และมีอาการเจ็บปวดที่บริเวณขากรรไกร โดยเฉพาะในขณะบดเคี้ยวอาหาร

 

การวินิจฉัยและรักษาอาการนอนกัดฟัน

การวินิจฉัยอาการนอนกัดฟัน จะดำเนินการดังนี้ 

1. จากประวัติอาการ

2. พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสภาพการทำงานของฟันขณะบดเคี้ยว

3. ในผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันทั้งหมด จะมีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่จะทำให้เกิดเสียงที่สามารถได้ยินได้ ดังนั้นการที่จะให้การวินิจฉัยว่าตัวเองนอนกัดฟันนั้น จึงจำเป็นที่ต้องอาศัยการตรวจอย่างละเอียดโดยทันตแพทย์ โดยทันตแพทย์จะพิจารณาองค์ประกอบอีกหลายๆ อย่าง อาทิเช่น ลักษณะการสึกของฟัน ลักษณะของกล้ามเนี้อ และอื่นๆ โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อขากรรไกรเมื่อตื่นนอนขึ้นมา มักจะเป็นลักษณะที่พบมากในคนที่นอนกัดฟัน

\'นอนกัดฟัน\' เรื่องเล็กๆ ที่น่ารำคาญ ส่งผลเสียต่อสุขภาพปากและฟัน

การรักษาอาการนอนกัดฟัน จะดำเนินการดังนี้ 

1. เมื่อทันตแพทย์ปรับการสบของฟันให้ถูกต้องแล้ว การนอนกัดฟันอาจจะลดน้อยลงหรือหายไป หรือทันตแพทย์จะต้องแก้ไขโรค ปริทันต์ พื้นผิวของริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ที่มีการระคายเคืองออกให้หมด จะช่วยลดการนอนกัดฟันได้

2. แก้ไขสาเหตุของความ เครียด แต่ในขณะที่ยังแก้สาเหตุความเครียดไม่ได้ ให้พบทันตแพทย์เพื่อทำเครื่องมือไปใช้ใส่ขณะนอน เพื่อป้องกันไม่ให้กัดลงบนฟันแต่ให้กัดลงบนเครื่องมือแทน ฟันจะได้ไม่สึก

3. การใส่เครื่องมือนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยหรือความเคยชินในการขบเขี้ยวเคี้ยวลักษณะเดิมได้ ซึ่งต่อไปสักระยะหนึ่งจะทำให้เลิกนอนกัดฟันได้

4. การทำสมาธิเพื่อให้นอนหลับสนิท รวมถึงการกินยานอนหลับและยาคลายกล้ามเนื้อก่อนนอนคงทำให้อาการลดน้อยลง

5. การใส่เฝือกฟันบนและ/หรือฟันล่างตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ใส่นอนไปชั่วระยะเวลาหนึ่งอาการจะดีขึ้น การทำเฝือกฟันนั้นไม่ยาก เพียงไปพบทันตแพทย์ ทันตแพทย์จะพิมพ์แบบและทำเฝือกฟันเฉพาะบุคคลซึ่งมีลักษณะคล้ายกับยางกันฟันของนักมวยหรือนักกีฬา

6. ราคาการทำเฝือกฟันโดยประมาณ 300-500 บาท หรืออาจมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเฝือกฟัน

 

ป้องกันไม่ให้นอนกัดฟัน ต้องทำอย่างไร?

เนื่องจากยังหาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ทำให้อาการนอนกัดฟันหายไป เราจึงต้องรักษาตามอาการและป้องกันการเสียหายที่จะเกิดขึ้น เช่น

1.ใส่เฝือกสบฟัน

  • เพื่อป้องกันฟันสึก ฟันแตก ฟันหัก
  • ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรลดความเกร็ง ความตึง

 

2.ฝึกการผ่อนคลาย

  • เช่น การฟังเพลงเบาๆ การทำสมาธิ การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลาย จะทำอย่างไรก็ได้ตามที่ชอบและสบายใจ แต่ไม่ใช่นั่งเล่นเกมส์ หรือใช้สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นเวลานาน ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อบางส่วนเกร็ง ไม่ใช่การพักผ่อนที่แท้จริง

 

3.กายภาพบําบัด

  • บำบัดทางความคิดและพฤติกรรม

 

4.การปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต

  • การเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถช่วยลดอาการกัดฟันได้ เช่น
  • หลีกเลี่ยงอุปนิสัยที่ทำให้ฟันสึก เช่น การขบเน้นฟัน (clenching)
  • ลดการบริโภคคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
  • เลิกสูบบุหรี่

 

5.การตรวจสุขภาพฟันเป็นประจําอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

  • ทำให้ทันตแพทย์ได้ตรวจสุขภาพปากเพื่อหาร่องรอยของอาการกัดฟันตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายในระยะยาวได้

\'นอนกัดฟัน\' เรื่องเล็กๆ ที่น่ารำคาญ ส่งผลเสียต่อสุขภาพปากและฟัน

การป้องกันการนอนกัดฟันที่ดีวิธีหนึ่ง คือการสังเกต การเปลี่ยนแปลงในปาก เมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายในขณะที่สบฟัน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการนอนกัดฟันได้ ก็ควรหาทางกำจัดความไม่สบายนั้นโดยเร็ว โดยไปพบทันตแพทย์ตรวจจุดที่สบฟันผิดปกติ และแก้ไขโดยการกรอฟันให้พอเหมาะ ซึ่งวิธีการกรอฟันนี้เป็นวิชาการที่ละเอียดอ่อน เพราะถ้ากรอมากเกินไป อาจไปทำให้เกิดจุดกระแทกใหม่เกิดขึ้น เป็นลูกโซ่ต่อ ๆ ไปทำให้เกิดผลเสียมากมายตามมาได้

 

อ้างอิง : คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ,โรงพยาบาลเมดพาร์ค ,โรงพยาบาลเพชรเวช ,สสส.