กัดฟันสู้โค้งสุดท้าย"ส่งออก"ไทยดันตัวเลขบวก

กัดฟันสู้โค้งสุดท้าย"ส่งออก"ไทยดันตัวเลขบวก

จับสัญญาณส่งออกไทยหลังเดือนส.ค.บวก 2.6 % ในรอบ 10 เดือน หวังไตรมาส 4 เป็นบวกได้ ด้านเอกชน ฟันธงปี 66 ส่งออกไทยติดลบ หลังเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง

การส่งออกไทยติดลบต่อเนื่องมาแล้วมาตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 แต่เดือนส.ค.66 พลิกกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยขยายตัว 2.6 % มูลค่า  24,279.6 ล้านดอลลาร์  ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการส่งออกไทยท่ามกลางปัจจัยลบโดยเฉพาะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลง  

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยเดือน ส.ค.2566 ที่กลับมาเป็นบวกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าไทยทำได้ดี โดยอินเดีย ลบ 6.9% ไต้หวัน ลบ 7.3% เกาหลีใต้ ลบ 8.3% จีน ลบ 8.8% สิงคโปร์ ลบ 12.6% มาเลเซีย ลบ 21.2% และอินโดนีเซีย ลบ 21.2% เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การส่งออกไทยกลับมาเป็นบวกเพราะได้รับแรงหนุนจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลกที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า แม้ว่าจะยังอยู่ระดับต่ำกว่าปกติ การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่อง

รวมทั้งการส่งเสริมนโยบายพลังงานสะอาดและความต้องการสินค้าเทคโนโลยีทำให้หมวดสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทในระดับที่เหมาะสมส่งผลดีต่อการส่งออก ตลาดคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลียซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้

  กัดฟันสู้โค้งสุดท้าย\"ส่งออก\"ไทยดันตัวเลขบวก

โดยการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตร 4.2% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 4 เดือน สินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 2.5% เป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ขณะที่ตลาดสำคัญส่วนใหญ่กลับมาขยายตัวอีกครั้งซึ่งสอดคล้องกับสัญญาการปรับดีขึ้นของการผลิตภาคอุสาหกรรมของโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยขยายตัว 21.7 % เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน ส่วนตลาดจีนกลับมาขยายตัว 1.9 %  ครั้งแรกหลังติดลบหลายเดือน ตลาดญี่ปุ่นก็กลับมาขยายตัว 15.7 % เช่นกัน 

กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าทั้งปีที่ 1-2%  และมีนโยบายเร่งขยับตัวเลขการส่งออก เปลี่ยนจากติดลบให้เป็นบวกให้ได้โดยจะร่วมทำงานภาคเอกชนอย่างหนัก เพื่อผลักดันให้ขยายตัวตามเป้าหมาย โดยมีกิจกรรมสำคัญที่จะดำเนินการในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้อีก 44 โครงการ เน้นการบุกเจาะตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา เอเชียใต้ อาเซียน และจีน มีทั้งจัดคณะผู้แทนการค้า จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำคัญๆ เช่น งานแสดงสินค้าจีน-อาเซียน (CAEXPO 2023) ที่หนานหนิงเดือน ก.พ. งานแสดงสินค้านำเข้านานาชาติ (CIIE 2023) ที่เซี่ยงไฮ้ งานแสดงสินค้าอาหาร Anuga ที่เยอรมนี 

“กีรติ รัชโน “ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า  การส่งออกในช่วงที่เหลือของปี จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนส์ด้านพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีดิจิทัลมีทิศทางที่ขยายตัวได้ดี ส่วนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าศักยภาพของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งในช่วงปลายปีมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทศกาลเฉลิมฉลองในประเทศคู่ค้า 

กัดฟันสู้โค้งสุดท้าย\"ส่งออก\"ไทยดันตัวเลขบวก

ขณะที่ “ชัยชาญ เจริญสุข” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)กล่าวว่า ภาคเอกชนมองว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จะกลับมาเป็นบวกได้ และในช่วงที่เหลืออีก 4 เดือน หากจะให้การส่งออกพลิกกลับมาขยายตัว 0% การส่งออกแต่ละเดือนต้องทำให้ได้มูลค่า 24,960 ล้านดอลลาร์ และถ้าติดลบ 1% จะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ย 24,200 ล้านดอลลาร์ แต่ถ้าจะให้ฟันธง ทั้งปีน่าจะติดลบ 1%

สอดคล้องกับความเห็นของนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เห็นว่า  การส่งออกที่ชะลอตัวหลายเดือนและมีสัญญาณกลับมาเป็นบวกในเดือนส.ค. ถือเป็นสัญญาณที่ดีโดยหอการค้าฯ มองว่าหลังจากนี้ในไตรมาส 4 สถานการณ์น่าจะกลับมาเป็นบวกได้ และทำให้ภาพส่งออกปีนี้อาจไม่ติดลบหรือติดลบน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนเห็นว่า เครื่องมือสำคัญในการสร้างแต้มต่อทางการค้าคือการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศหรือเอฟทีเอ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ให้ความสำคัญ ซึ่งส่วนนี้จะช่วยสนับสนุนให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวได้เนื่อง ซึ่งเอกชนเชื่อว่ารัฐบาลจะเดินหน้าสานต่อข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่ไทยได้เริ่มดำเนินการกับหลายประเทศ เพื่อเร่งขยายตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะ FTA ไทย - EU และอีกหลายฉบับ

ภาคการส่งออกถือเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่ปีนี้คงต้องยอมรับว่า การส่งออกไทยเจอปัจจัยรุมเร้ามากมากมายทั้ง ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงยาวนานที่จะชะลอการผลิตและการบริโภคสินค้าโดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น ภาวะภัยแล้งที่อาจจะกระทบต่อผลผลิตเพื่อการส่งออก และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกแทบทั้งสิ้น

 โดยภาพรวมส่งออก 8 เดือน คือตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. มูลค่า 187,593.1 ล้านดอลลาร์ ลด 4.5%  ซึ่งช่วงเวลาที่เหลือ 4 เดือน แม้ว่าการส่งออกไทยจะเป็นบวกได้ แต่ภาพรวมการส่งออกปี 66 ดีที่สุดคือขยายตัว 0%  หรือติดลบ 0-2 %