'เมดพาร์ค'รพ.เพื่อความยั่งยืน รักษา-อบรม-วิจัย สร้างแพทย์รุ่นใหม่

'เมดพาร์ค'รพ.เพื่อความยั่งยืน  รักษา-อบรม-วิจัย สร้างแพทย์รุ่นใหม่

รายการ SUITS Sustainability เปลี่ยนโลกธุรกิจ ของ 'กรุงเทพธุรกิจ' สัมภาษณ์พิเศษ 'นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ต (MedPark)' เจาะลึกสูตรบริหารโรงพยาบาลเอกชน ผลักดันให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการลดโลกร้อน

Keypoint:

  • เมดพาร์ด โรงพยาบาลรักษาโรคยากและซับซ้อน ด้วยความสามารถ ศักยภาพของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดี เก่งและเทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถแข่งขันได้
  • ไม่ได้ทำหน้าที่เพียงรักษา ดูแล ป้องกันโรคให้แก่คนไข้ แต่เป็นศูนย์อบรมและวิจัย วางรากฐานให้เกิดการวิจัย สร้างแพทย์รุ่นใหม่และมีแพทย์ทำงานต่อเนื่อง
  • โรงพยาบาลที่ให้ความสำคัญกับการลดปัญหาโลกร้อนเริ่มตั้งแต่สร้างอาคารประหยัดพลังงาน และนำนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยกำจัดขยะทางการแพทย์ เลือกใช้อุปกรณ์ที่ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ไอที และแอปพลิเคชั่นต่างๆ เข้ามาในขั้นตอนการทำงานอย่างต่อเนื่อง

'นพ.พงษ์พัฒน์'จากศัลยแพทย์สู่การบริหารโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งมากว่า 30 ปี ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค ตั้งอยู่ทำเลทอง ใจกลางกรุงเทพฯ บนถนนพระราม 4 เป็นโรงพยาบาลเครือโรงพยาบาลมหาชัย ที่มีหุ้นส่วนหลายคนเป็นแพทย์มืออาชีพชื่อดัง

จุดเริ่มต้น 'เมดพาร์ค' จากการเป็นโรงพยาบาลที่รับการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเครือ'มหาชัย' ทั้งหมด 6 แห่ง ที่มีศักยภาพสูงในการรักษา ลดช่องว่างระหว่างโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องออกมาจากระบบของภาครัฐ

\'เมดพาร์ค\'รพ.เพื่อความยั่งยืน  รักษา-อบรม-วิจัย สร้างแพทย์รุ่นใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ยิ่งอายุมาก ยิ่งนอนยาก 'Art of Sleep' การนอนแบบให้ได้คุณภาพ

'รพ.เมดพาร์ค' รักษ์โลก ตั้งเป้า Net Zero Carbon Healthcare

 

2มิติผลักดัน'เฮลท์แคร์'

นพ.พงษ์พัฒน์  ระบุว่าภาพรวมของประเทศไทยที่จะสามารถเป็นเฮลท์แคร์ได้ จะมีอยู่ 2 มิติ คือ มิติที่ 1 ความสามารถ ศักยภาพของแพทย์และเทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งไม่แพ้ตะวันตก เพราะแพทย์ไทยส่วนหนึ่งจะไปเรียนต่อประเทศสหรัฐอเมริกา ฉะนั้น แนวคิดวิธีการรักษาคนไข้ วิธีการวิจัยจะคล้ายๆ กัน มาตรฐานของแพทย์ไทยจึงไม่แพ้ต่างชาติ

 ส่วนมิติที่ 2 กระจายการรักษาสัดส่วนของแพทย์ต่อผู้ป่วย ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรไม่สูง ในช่วงโควิด-19 ไทยจึงไม่สามารถใช้วิธีการตะลุยกับโควิดแบบให้ติดเชื้อจำนวนมากๆ เพื่อจะมีภูมิคุ้มกันได้เหมือนต่างประเทศ เนื่องจากมีแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จำนวนต่ำ ประเทศไทยมีสัดส่วนแพทย์ 5 คน ต่อคนไข้ 1 หมื่นคน ขณะที่ประเทศทางตะวันตก มีแพทย์ 30 คน ต่อคนไข้ 1 หมื่นคน ดังนั้น จึงต้องใช้วิธีล็อกดาวน์ หยุดการติดเชื้อ ห้ามเชื้อชั่วคราว ส่งผลให้ประเทศมีภูมิคุ้มกันช้ากว่าประเทศตะวันตก

\'เมดพาร์ค\'รพ.เพื่อความยั่งยืน  รักษา-อบรม-วิจัย สร้างแพทย์รุ่นใหม่

“เมื่อไทยมีสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรน้อย ต้องใช้การบริหารจัดการคนให้มีสุขภาพดี แต่ระบบของประเทศไทย ดีไซน์โดยระบบหลักประกันสุขภาพ ที่เรียกว่า 30 บาท ,ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ใช้ระบบเฉลี่ย เพราะอยากให้คนไทยมีสวัสดิการทางการแพทย์ รักษาฟรี แต่ถ้าแพทย์มีน้อย การเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็มีปริมาณจำกัด ยิ่งงบประมาณที่มีน้อย ยา และเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์จะน้อยลงไปด้วย การกระจายการรักษาบริการทางการแพทย์ของภาครัฐไม่ทั่วถึง”

 

หนุน'เมดิคัลฮับ (Medical Hub)'

โรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีอยู่ประมาณ 20-30 % ออกมาจากระบบของรัฐ มาอยู่ในระบบที่ประชาชนต้องจ่ายเงินเอง และเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชน คนที่มีรายได้ มีกำลังทรัพย์ที่ไม่ใช้บริการของภาครัฐ หรือมีความเร่งด่วนที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล จะมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งจะสามารถช่วยผลักดันให้ประเทศเกิด“เมดิคัลฮับ (Medical Hub)” หรือ 'ศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ' ได้

สมัยก่อนระบบของประเทศ กลุ่มโรงพยาบาลที่ดูแลโรคยากและซับซ้อน จะเป็นโรงเรียนแพทย์ อย่าง โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เป็นต้น แต่พอปริมาณงานรักษาโรคทั่วไปมีจำนวนมากจากระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถปฎิเสธคนไข้ได้ ปริมาณแพทย์ไม่เพียงพอ ทำให้โรงเรียนแพทย์ดูแลผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อน ลดลง

“โรงพยาบาลเมดพาร์ค จึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสาธารณสุขในการดูแลโรคยากและซับซ้อน แต่คงไม่สามารถดูแลได้ทั้งประเทศ กลุ่มที่ใช้สิทธิ 30 บาท อาจจะเข้ามาไม่ถึงการบริการ แต่กลุ่มเงินสดสามารถมาที่เมดพาร์คได้ เพราะมีแพทย์ที่ดี มีเครื่องมือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดี มีกระบวนการรักษาที่ดี สถานที่ที่ดี เพื่อสนองตอบความต้องการในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคยากและซับซ้อน ที่สำคัญ เมดพาร์ค เป็นการรวบรวมแพทย์ที่เก่ง มีความรู้ความสามารถในทุกสาขา ทำให้ช่องว่างที่เกิดขึ้นในระบบหายไปได้”

\'เมดพาร์ค\'รพ.เพื่อความยั่งยืน  รักษา-อบรม-วิจัย สร้างแพทย์รุ่นใหม่

บุกตลาดโรคยากและซับซ้อน

การดีไซน์โรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้มีการชวนทีมแพทย์ที่เก่งกว่า 100 คน มาเป็นหุ้นส่วน ร่วมกันกำหนดโครงสร้างการทำงาน การลงทุน ร่วมกันคิด ออกแบบ วิจัย เพราะเมดพาร์ค จะไม่ใช่โรงพยาบาลที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นศูนย์อบรมและวิจัย ซึ่งเป็นการวางรากฐานให้เกิดการวิจัยอย่างต่อเนื่อง สร้างแพทย์รุ่นใหม่และมีแพทย์ทำงานต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงพยาบาลมีความยั่งยืน ตั้งแต่การดูแลรักษาพยาบาล การตรวจร่างกาย ไปจนถึงโรคยากและซับซ้อน

“ปีนี้เมดพาร์คจะร่วมกับหลายๆ โรงพยาบาลจะร่วมกัน เพื่อไปให้ถึงตลาดโรคยากและซับซ้อน ให้มีรายได้เหมือนประเทศสิงคโปร์ เพราะเรามีความสามารถไม่แพ้ใคร นี่จะเป็นทิศทางของเมดพาร์ค”

ดูแลแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา

นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวว่า ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งในเรื่องนี้ ผู้บริหารโรงพยาบาลเมดพาร์คได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยได้ทำแคมเปญ save doctor, save people, save thailand เพราะธุรกิจเฮลท์แคร์มีหน้าที่ดูแลคน หากโรงพยาบาลมีแพทย์ พยาบาล ไม่เพียงพอต่อคนไข้ และบุคลากรทางการแพทย์พักผ่อนไม่เพียงพอ อาจส่งผลประสิทธิภาพการรักษา

ทั้งนี้ เมดพาร์ค ต้องการทำให้ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงการบริการลดลง เหลือเพียงค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น กระบวนการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น ผลแล็ป การตรวจร่างกาย การรักษาต้องกระชับ ได้ผลทันที เพิ่มประสิทธิภาพของแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ให้เร็วขึ้น เพื่อลดต้นทุนของผู้ป่วย รวมถึงยังสามารถรับผู้ป่วยได้มากขึ้น ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้รวดเร็วขึ้น

\'เมดพาร์ค\'รพ.เพื่อความยั่งยืน  รักษา-อบรม-วิจัย สร้างแพทย์รุ่นใหม่

โรงพยาบาลยั่งยืน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญด้านรักษ์โลก เริ่มตั้งแต่การสร้างโรงพยาบาลให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน ใช้กระจกนิรภัย 4 ชั้น ลดแสง ลดความร้อนที่จะเข้ามาในอาคาร ได้รับการรับรองอาคารสีเขียว ระดับ Gold จาก LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก และได้รับการรับรองโดยสภาอาคารเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Green Building Council : USGBC) ปี 2020 รวมถึงได้นำนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยกำจัดขยะทางการแพทย์ เลือกใช้อุปกรณ์ที่ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ไอที และแอปพลิเคชั่นต่างๆ เข้ามาในขั้นตอนการทำงานอย่างต่อเนื่อง

“เราได้ดีไซน์อาคารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอากาศที่อยู่ในตึกทั้งหมดจะมีการกรองอุณหภูมิ ลดความชื่น ทำให้อากาศในอาคารจะมีฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในปริมาณไม่เกิน 10 % ของนอกอาคาร และในเรื่องความยั่งยืน เมดพาร์คไม่ได้ทำเพียงการรักษา แต่เราทำเรื่องการอบรม วิจัย ซึ่งมีการติดต่อกับโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกา เพื่อทำเป็นแคมปัส หากทำได้จะทำให้แพทย์ของเมดพาร์ค มีลูกศิษย์ มีแพทย์รุ่นใหม่ที่จะทำงานต่อเนื่องได้ ทั้งหมดนี่ คือความยั่งยืนของคนทำงานจะต่อเนื่อง”นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

\'เมดพาร์ค\'รพ.เพื่อความยั่งยืน  รักษา-อบรม-วิจัย สร้างแพทย์รุ่นใหม่