'กมธ.นิรโทษกรรม' เสียงแตก ปมจำแนกคดีเข้าข่าย-ตั้งกก.กลั่นกรอง

'กมธ.นิรโทษกรรม' เสียงแตก ปมจำแนกคดีเข้าข่าย-ตั้งกก.กลั่นกรอง

"เพื่อไทย-ก้าวไกล" เสียงแตกปมนิรโทษกรรม อ้างมติกมธ.เห็นชอบหลักการจำแนกคดีในรายงาน ด้าน "ชัยธวัช" หนุนตั้งกก.กลั่นกรองคดี

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายช่ือ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกมธ.

ทั้งนี้ภายหลังการประชุมเมื่อเวลา 15.30 น. นายชูศักดิ์ แถลงผลการพิจารณาว่ากมธ.มีมติเห็นชอบร่วมกันต่อการนิรโทษกรรมการกระทำการแสดงออกทางการเมืองที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ที่กมธ.ส่งรายงานต่อสภาฯ ทั้งนี้ประเภทคดีที่จะกำหนดไว้ในร่างกฎหมายนั้นอนุกมธ. จะเป็นผู้พิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ดีในการพิจารณาจะรวมถึงคดีหลักที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองและคดีรอง ที่เป็นความผิดร่วม เช่น ผิดกฎหมายจราจร, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ความผิดการนำเข้าข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น  อย่างไรก็ดีรายงานของกมธ. เตรียมจะเสนอให้สภาฯพิจารณาในเดือน ก.ค. นี้และขณะนี้กมธ.ขอขยายเวลาพิจารณาออกไปอีก 60 วัน

“การนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี2548 นั้นจะพิจารณาเป็นรายคดี โดยยึดเหตุการณ์ทางการเมืองแต่ละช่วง ซึ่งคดีที่เป็นคดีรองจะพิจารณานิรโทษกรรมให้ อย่างไรก็ดีการพิจารณาคดีที่จะนิรโทษกรรมนั้น ยืนยันไม่มีการแลกเปลี่ยนการนิรโทษกรรมระหว่างสีเสื้อ เพราะจะนิรโทษกรรมให้ไม่ว่าเสื้อสีอะไร” นายชูศักดิ์ กล่าว

นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการนิรโทษกรรมคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น เป็นกรณีที่ละเอียดอ่อน ดังนั้นจะแยกเป็นอีกกรณีหนึ่ง ทั้งนี้มีความเห็นไม่ตรงกัน จึงคิดว่าจะแยกเพื่อพิจารณาในมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่  โดยจะไม่พิจารณาร่วมกับเรื่องที่เราหารือกันไปแล้ว

ต่อจากนั้นนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะกมธ. ในซีกฝ่ายค้าน แถลงต่อว่า กมธ.จะใช้แนวทางตั้งคณะกรรมการพิจารณาคดีที่เข้าข่ายการนิรโทษกรรม แทนการออกกฎหมายกำหนดฐานความผิด ซึ่งรูปแบบของกรรมการนั้นจะพิจารณาอีกครั้งในรูปแบบที่มา และอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้รูปแบบของกรรมการฯ นั้นเคยมีตัวอย่างเกิดแล้ว ในช่วงพ.ศ.2489 และปี 2499

“กระบวนการพิจารณาของกรรมการฯ นั้นพรรคก้าวไกลได้เสนอไว้ในร่างกฎหมาย เพราะมองว่าการนิรโทษกรรมใดๆนั้นมีรายละเอียดที่พิจารณา แยกกรณีในคดีต่างๆ อย่างไรก็ดีข้อเสนอเรื่องตั้งกรรมการฯ นั้นไม่ใช่โยนเรื่องให้องค์กรนอกสภาฯ เพราะสามารถกำหนดที่มาของกรรมการโดยยึดโยงกับสภาฯ ได้ อีกทั้งกรณีดังกล่าวไม่ใช่เพื่อทำให้เข้าทางพรรคก้าวไกล แต่เป็นข้อเสนอที่พิจารณาจากข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับสถานการณ์มากกว่า” นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช ยังกล่าวเรียกร้องส่วนตัวว่า ในระหว่างที่ไม่มีกฎหมายนิรโทษกรรม ขอให้รัฐบาลใช้กลไกของฝ่ายบริหารเพื่อให้สถานการณ์ความขัดแย้งดีขึ้น เช่น มีนโยบายที่ชัดเจน ไปยังฝ่ายตำรวจไม่ให้ฟ้องคดีกับประชาชนที่แสดงออกทางกรเมือง และให้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ใช่อำนาจนอกกฎหมายฟ้องร้อง หรือใช้กฎหมายที่เคร่งครัดจนตึงเกินไป  รวมถึงใช้นโยบายคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง ใช้กลไกของอัยการไม่สั่งฟ้องคดี เป็นต้น.