'เจนนี่ BLACKPINK' ป่วย 'เหนื่อยล้าสะสม' เรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนมีความเสี่ยง

'เจนนี่ BLACKPINK' ป่วย 'เหนื่อยล้าสะสม' เรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนมีความเสี่ยง

จากกรณี "เจนนี่ BLACKPINK" ลงจากเวทีคอนเสิร์ตกะทันหันที่เมืองเมลเบิร์น ซึ่งต้นสังกัด YG แถลงว่าเกิดจากปัญหาสุขภาพ ขณะที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเจนนี่อาจ "เหนื่อยล้าสะสม" ชวนวัยทำงานเช็กอาการที่เข้าข่ายนี้ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดได้กับทุกคน

ทำเอาแฟนเพลงชาว BLINK เป็นห่วงกันทั้งโลก เมื่อเกิดเหตุการณ์ "เจนนี่ BLACKPINK" เดินลงจากเวทีคอนเสิร์ตกะทันหันในคอนเสิร์ต BLACKPINK World Tour Born Pink in Melbourne ที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา ขณะที่ต้นสังกัด YG Entertainment ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า เกิดจากปัญหาด้านสุขภาพที่แย่ลงของเจนนี่ ทางต้นสังกัดกล่าวขอโทษจากใจจริงต่อแฟนๆ ทุกคนที่สนับสนุน BLACKPINK และขอความเข้าใจจากทุกท่านถึงสถานการณ์นี้ด้วย

ด้านเพื่อนสมาชิกในวงอย่าง ลิซ่า จีซู และโรเซ่ ต่างชี้แจงในเบื้องต้นว่า เนื่องจากปัญหาสุขภาพทำให้ เจนนี่ ไม่สามารถร่วมแสดงต่อจนจบได้ และในรอบซาวด์เช็คนั้น เจนนี่ก็ไม่ได้ขึ้นเวทีด้วย เพราะไม่สบายและกำลังพักผ่อนเพื่อให้มีแรงขึ้นแสดงในรอบแสดงจริงได้ ขณะที่แฟนคลับหลายฝ่ายก็แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์นี้ว่า  เนื่องจากช่วงนี้วง BLACKPINK มีตารางทัวร์คอนเสิร์ตค่อนข้างแน่น จึงอาจเป็นสาเหตุให้มีสมาชิกวงป่วยกะทันหันได้ โดยอาจมาจากร่างกายเหนื่อยล้าสะสม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

\'เจนนี่ BLACKPINK\' ป่วย \'เหนื่อยล้าสะสม\' เรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนมีความเสี่ยง

\'เจนนี่ BLACKPINK\' ป่วย \'เหนื่อยล้าสะสม\' เรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนมีความเสี่ยง

ทั้งนี้ อาการเหนื่อยสะสม หรือ ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง สามารถเกิดขึ้นได้กับวัยทำงานทุกคน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ตามก็ล้วนมีความเสี่ยงที่จะป่วยจากอาการเหล่านี้ได้ "กรุงเทพธุรกิจ" ชวนเจาะลึกสาเหตุและอาการที่เข้าข่ายภาวะดังกล่าว เพื่อที่วัยทำงานจะได้รู้เท่าทันและสามารถดูแลตัวเองให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ 

 

  • เหนื่อยล้าสะสม-ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง เกิดจากอะไร?

“ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง” มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Chronic Fatigue Syndrome” หรือ CFS ไม่ได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมความขี้เกียจเฉพาะบุคคล แต่เกิดจากการทำงานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอจนเกิดความเหนื่อยล้าสะสมจากการทำงาน ทั้งยังอาจมีสาเหตุมาจากสุขภาพบกพร่อง เช่น การติดเชื้อไวรัส ปัญหาระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ปัญหาเรื่องฮอร์โมนแปรปรวน ไปจนถึงเรื่องของสุขภาพจิต

สำหรับภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังเป็นกลุ่มอาการของความผิดปกติในระบบร่างกาย ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน รวมทั้งทางด้านจิตใจ ผู้ที่ประสบกับภาวะนี้จะมีอาการเหนื่อยล้าอย่างรุนแรง และคงอยู่เป็นระยะเวลานานในแต่ละวันโดยที่ไม่สามารถหาคำอธิบายได้ชัดเจน แม้จะพักผ่อนแล้วก็ยังไม่หาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

 

  • เช็ก 7 สัญญาณบ่งบอกว่ากำลังตกอยู่ใน “ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง”

สำหรับผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน โดยที่ไม่สามารถหาสาเหตุของความเจ็บป่วยได้นั้นอาจกำลังเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังซึ่งจะมีอาการดังต่อไปนี้

1. รู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนเพลียตลอดเวลา

2. เริ่มมีการสูญเสียความทรงจำเล็กน้อย รวมไปถึงไม่ค่อยมีสมาธิ

3. ปวดศีรษะ เจ็บคอ 

4. ต่อมน้ำเหลือง บริเวณคอหรือใต้รักแร้โต

5. มีอาการปวดกล้ามเนื้อโดยไม่มีสาเหตุ หรือปวดข้อต่อต่างๆ โดยความเจ็บปวดย้ายจากข้อบริเวณหนึ่ง ไปยังข้ออีกบริเวณหนึ่ง แต่ไม่บวมหรือแดง

6. นอนหลับไม่เต็มอิ่ม แม้จะนอนหลับได้อย่างเพียงพอ 7-8 ชั่วโมง

7. อ่อนเพลียแบบรุนแรงเป็นเวลามากกว่า 24 ชั่วโมง หลังจากใช้งานร่างกายหนักหน่วงเกินไป หรือใช้สมองคิดงานติดต่อกันนานๆ แบบไม่ได้พัก

\'เจนนี่ BLACKPINK\' ป่วย \'เหนื่อยล้าสะสม\' เรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนมีความเสี่ยง

 

  • สาเหตุ "เหนื่อยล้าสะสม" ที่อาจไม่ได้มาจากการทำงานหนัก

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า “ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง” นั้น ไม่ได้เกิดจากการทำงานหนักเกินไปเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเอ็ปสไตน์ บาร์ (Epstein-Barr virus) ไวรัสฮิวแมนเฮอร์ปีส์ชนิดที่ 6 (human herpes virus 6) ไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวในหนู (mouse leukemia viruses) ซึ่งอาจเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ

รวมถึงอาจเกิดจากภูมิคุ้มกันตก เพราะพักผ่อนไม่มีคุณภาพ (อาจ Deep Sleep ไม่เพียงพอ) มีข้อสันนิษฐานว่าความบกพร่องเล็กน้อยในระบบภูมิคุ้มกันอาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้ หรืออาจเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกายที่ทำงานผิดปกติ หรืออาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น 

ทั้งนี้ หากวัยทำงานมีอาการเข้าข่าย "ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง" หรือมีอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ก็ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาให้ตรงจุด โดยทั่วไปแพทย์จะใช้วิธีให้ยาตามอาการ เช่น ยาต้านเศร้า หรือ ยานอนหลับ ไปจนถึงวิธีการบำบัดในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสมของอาการ นอกจากนี้ยังมีวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ง่ายๆ เช่นกัน โดยมีคำแนะนำดังนี้

1. ปรับจังหวะในการใช้ชีวิต : ควบคุมให้กิจกรรมในชีวิตประจำวันอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ควรหักโหมทำงานมากเกินไปในวันที่ร่างกายหรือจิตใจไม่พร้อม

2. ลดความเครียด : หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดความเครียด ไม่ควรหักโหมออกกำลังกายมากเกินไป เปลี่ยนมาทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายมากขึ้น

3. ฝึกวินัยในการนอน : เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาในทุกวัน ลดการงีบหลับระหว่างวัน หลีกเลี่ยงคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และนิโคติน เป็นต้น

--------------------------------------
อ้างอิง : รพ.ศิครินทร์, รพ.สมิติเวช, Hello คุณหมอ, BDMS