สาววัยทำงานต้องเข้าใจ 'สิวประจำเดือน' มีอะไรซ่อนไว้มากกว่าที่คิด

สาววัยทำงานต้องเข้าใจ 'สิวประจำเดือน' มีอะไรซ่อนไว้มากกว่าที่คิด

เป็น “สิว” ในวัยผู้ใหญ่ไม่แปลก โดยเฉพาะ “สิวประจำเดือน” เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ นอกจากฮอร์โมนแล้ว การมีพฤติกรรมเสี่ยงก็มีส่วน

Key Points:

  • “สิวประจำเดือน” ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยทำงาน นอกจากจะมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแล้ว ส่วนหนึ่งยังเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัว
  • สิวประจำเดือนสามารถเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง ตั้งแต่บริเวณใบหน้าไปจนถึงแผ่นหลัง ซึ่งหากบีบสิวหรือแกะสิวบ่อยๆ จะส่งผลให้เกิดแผลเป็นที่รักษายากยิ่งกว่าเดิม
  • พฤติกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดสิวประจำเดือน ได้แก่ กินอาหารที่มีความมัน นอนน้อย ล้างหน้าไม่สะอาด ไปจนถึงดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่

สำหรับสาวๆ หลายคน ที่เปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นเข้าสู่วัยทำงาน แต่ยังคงเจอกับปัญหาสิว โดยเฉพาะ “สิวประจำเดือน” ที่มักเกิดขึ้นก่อนและระหว่างมีประจำเดือน หลายคนอาจคิดว่าเกิดขึ้นเพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง แต่นั่นไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด เพราะอีกหนึ่งสาเหตุของสิ่วในวัยทำงาน มาจากพฤติกรรมของสาวๆ เองด้วย

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสาเหตุหลักของสิวประจำเดือนมาจากฮอร์โมน “เอสโตรเจน” ที่เพิ่มระดับสูงขึ้นในช่วงที่ผู้หญิงมีรอบเดือน ทำให้เกิดอาการบวมน้ำภายในเซลล์ ทำให้รูขุมขนเล็กลง ต่อมไขมันจึงอุดตันได้ง่าย จึงทำให้สาวๆ เป็นสิวได้ง่ายขึ้นในช่วงนั้นของเดือน แต่นอกจากเรื่องของฮอร์โมนแล้ว พฤติกรรมที่หลายคนทำจนเคยชินก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิด “สิวประจำเดือน” ได้เช่นกัน

  • สิวประจำเดือน แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก

สำหรับสิวประจำเดือนนั้นแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท โดยทุกประเภทสามารถเกิดได้ในหลายบริเวณ เช่น คาง แก้ม หน้าผาก และแผ่นหลัง แต่หลักๆ แล้ว แบ่งเป็นสิวอุดตัน และสิวอักเสบ

1. สิวอุดตัน ได้แก่ สิวอุดตันหัวปิด หรือ สิวหัวขาว มีลักษณะเป็นสิวที่นูนออกมาจากผิวเล็กน้อย และ สิวอุดตันหัวเปิด หรือ สิวหัวดำ มีลักษณะเป็นสิวอุดตันขนาดเล็กที่บริเวณตรงกลางของสิวจะมีสิ่งสกปรกที่เกิดการฝังตัวสะสมเป็นสีดำๆ

2. สิวอักเสบ ได้แก่ สิวหัวหนอง สิวตุ่มนูนแดง และสิวตุ่มแดงขนาดใหญ่ โดยทั้ง 3 แบบไม่ควรบีบออกมา เพราะนอกจากจะเจ็บแล้วยังส่งผลให้เกิดแผลเป็น ควรทายาแล้วรอให้หายเองจะดีที่สุด

  • ปรับพฤติกรรมประจำวัน ช่วยลดสิวประจำเดือน

สำหรับ สาเหตุของสิวประจำเดือน นอกจากเกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว พฤติกรรมบางอย่างก็เป็นตัวเร่งความเสี่ยงให้เกิดสิวมากขึ้น โดยสามารถแบ่งได้ตามปัจจัยดังนี้

1. ปัจจัยภายใน

  • ช่วงมีประจำเดือน เนื่องจากสมดุลของฮอร์โมนมีความเปลี่ยนแปลง
  • ความเครียดสะสมที่มากจนเกินไปจะส่งผลโดยตรงต่อระดับฮอร์โมนในร่างกาย
  • การตั้งครรภ์ เพราะระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก
  • ภาวะถุงน้ำในรังไข่ ซึ่งเป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ภาวะดังกล่าวจะทำให้ฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายไม่สมดุล

2. ปัจจัยภายนอก

  • กินอาหารที่มีน้ำตาล ทำให้ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินออกมามากขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากขึ้นด้วย จนส่งผลให้เกิดสิว
  • หยุดกินยาคุมกำเนิด สำหรับบางคนที่เลือกกินยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิว โดยยาคุมกำเนิดชนิดดังกล่าวจะไปปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายให้มีความสมดุล จึงทำให้สิวลดลง แต่เมื่อหยุดกินก็อาจทำให้กลับมาเป็นสิวได้อีกเพราะระดับฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง
  • พฤติกรรมอื่นๆ เช่น ถูกกระตุ้นจากรังสียูวีที่มาจากแสงแดด (โดยเฉพาะคนที่ไม่ทาครีมกันแดด) สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ล้างหน้าไม่สะอาด และ ใช้สกินแคร์ที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว เป็นต้น

ดังนั้นหากสาวๆ วัยทำงานคนไหนไม่อยากเป็นสิวประจำเดือนหรือเป็นสิวในวัยผู้ใหญ่ ควรเริ่มต้นจากการดูแลตัวเองแบบง่ายๆ เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ เลือกใช้เครื่องสำอางและสกินแคร์ที่เหมาะสมกับผิวหน้า ไม่ว่าจะเป็น ผิวแห้ง ผิวมัน หรือ ผิวผสม และที่สำคัญต้องล้างหน้าให้สะอาดทุกครั้งโดยไม่ถูกผิวหน้าแรงจนเกินไป ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นวิธีง่ายๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่หากใครที่รู้สึกว่าตัวเองมีสิวขึ้นมากผิดปกติจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันก็จำเป็นต้องปรึกษากับแพทย์ผิวหนังที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

อ้างอิงข้อมูล : SkinX, Sanook และ TPA