เลือดไม่กี่หยด ก็ตรวจหา “มะเร็ง” ได้! ด้วยเทคโนโลยี “SDM”

เลือดไม่กี่หยด ก็ตรวจหา “มะเร็ง” ได้! ด้วยเทคโนโลยี “SDM”

การตรวจหา “มะเร็ง” นั้นขึ้นชื่อว่ายุ่งยากและต้องรอผลตรวจค่อนข้างนานแต่ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่อย่าง “SMD” ที่ใช้เพียงเลือดไม่กี่หยดก็สามารถตรวจหามะเร็งได้

Key Points : 

  • ปัจจุบันการตรวจหามะเร็งนั้นยังคงใช้เวลานานด้วยการตรวจจากชิ้นเนื้อและจำเป็นต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นทำให้บางครั้งกว่าผู้ป่วยจะรู้ว่าตนเองเป็นมะเร็งก็เลยระยะเริ่มต้นไปแล้ว
  • จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งซิดนีย์ ทำให้พบว่าการตรวจหามะเร็งด้วยเลือดไม่กี่หยดนั้นสามารถทำได้และย่นระยะเวลาการวินิจฉัยโรคลงด้วยเทคโนโลยี SDM

ขึ้นชื่อว่า “มะเร็ง” กว่าจะยืนยันโรคได้ชัดเจนนั้นแพทย์ต้องตรวจ วิเคราะห์ และวินิจฉัยในหลายขั้นตอนด้วยความระมัดระวังและละเอียดถี่ถ้วน เนื่องจากเป็นโรคที่สร้างผลกระทบด้านลบต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก แต่ส่วนใหญ่กว่าที่ผู้ป่วยจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งก็สายเกินไปเพราะตัวโรคไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น เมื่อไปพบแพทย์ในช่วงที่ร่างกายแสดงอาการของโรค ผู้ป่วยก็มักพบว่าตนเองเป็นมะเร็งในระยะที่สองหรือสามแล้ว ทำให้มะเร็งลามไปยังอวัยวะส่วนอื่นได้อย่างรวดเร็วจนอาจตั้งตัวไม่ทัน!

จะดีกว่าไหม? หากมีนวัตกรรมที่สามารถตรวจหามะเร็งได้ง่าย รวดเร็ว แถมยังมีความแม่นยำสูง 

ล่าสุด.. สื่อนอกรายงานว่าทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งซิดนีย์ หรือ University of Technology, Sydney (UTS) ประเทศออสเตรเลีย ได้เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ที่สามารถตรวจหาเซลล์มะเร็ง ได้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้ตัวอย่างเลือดในปริมาณเพียงน้อยนิดเท่านั้น ซึ่งหลักการสำคัญที่นำมาออกแบบเครื่องมือตรวจหาเซลล์มะเร็งดังกล่าว มีมานานนับ 100 ปีแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ยุคนี้เพิ่งจะทำให้มันเกิดขึ้นได้จริง!

ความจริงแล้วหลักการดังกล่าวถูกค้นพบมาตั้งแต่ปี 1920 โดย ออตโต วอร์บวร์ก แพทย์ชาวเยอรมัน ที่เคยระบุไว้ว่า เซลล์เนื้องอกที่เป็นสัญญาณของโรคมะเร็งจะมีการดึงกลูโคส (อนุพันธ์ย่อยของน้ำตาล) ไปใช้งาน และผลิตกรดแลคติกออกมา  โดยกรดดังกล่าวที่เป็นกรดชนิดเดียวกันกับสารที่ทำให้ร่างกายรู้สึกปวดเมื่อยเมื่อออกกำลังกายหนัก แต่เซลล์เนื้องอกนั้นอาจจะพบเจอเพียงเซลล์เดียวจากเซลล์เลือดนับล้านๆ เซลล์ที่อยู่ในเลือดตัวอย่าง จึงทำให้ตรวจสอบและยืนยันโรคได้ยาก

ดังนั้น วิธีตรวจหาเซลล์มะเร็งที่ยืนยันผลได้แม่นยำ แพทย์จึงมักใช้วิธีการตัดชิ้นส่วนเนื้อเยื่อที่คาดว่าเป็นมะเร็งเอามาตรวจสอบแทน แต่วิธีนี้ก็ใช้เวลานาน มีราคาแพง และต้องใช้ผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะสูง ซึ่งเป็นข้อจำกัดหากนำมาใช้งานในสถานพยาบาลทั่วไป (ต้องไปตรวจในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือพร้อมมากกว่า)

แต่ในที่สุดวงการแพทย์ก็มีข่าวดี เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมนักวิจัยจาก UTS ได้พัฒนาอุปกรณ์ที่นำความรู้จากเมื่อประมาณร้อยปีก่อนกลับมาใช้ใหม่ และนำมาออกแบบเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่เรียกว่า “Static Droplet Microfluidic” หรือ SDM เพื่อตรวจหาและรักษามะเร็งโดยการเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำเข้าไป ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถแยกเซลล์ที่เสี่ยงจะเป็นมะเร็ง ออกจากตัวอย่างหยดเลือดได้มากถึง 38,400 เซลล์ 

ด้วยการวิเคราะห์เชิงลึกของเซลล์เนื้องอกในกระแสเลือด โดยใช้การวิเคราะห์สีย้อมจากแสงฟลูออเรสเซนต์ หมายความว่า เซลล์เนื้องอกที่ปะปนมานั้นจะมีสีที่ต่างจากเซลล์อื่นๆ เนื่องจากมีกรดแลคติกผสมอยู่มากกว่าปกติ ดังนั้นต่อไปในอนาคตการเจาะเลือดก็อาจจะสามารถตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน

สำหรับความคืบหน้าของการพัฒนาเครื่องมือ SDM นั้น ล่าสุดทางทีมวิจัยได้ยื่นจดสิทธิบัตรชั่วคราวเรียบร้อยแล้ว และมีแผนการวางจำหน่ายออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ ส่วนตัวรายละเอียดงานวิจัยนั้นอยู่ในระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ

สุดท้ายแล้วแม้ว่าการตรวจยืนยันโรคมะเร็งในปัจจุบัน จะยังคงใช้วิธีการตัดชิ้น เนื้องอกไปตรวจสอบ ซึ่งมีความแม่นยำ แต่เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการรอผลตรวจ ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งยังมีโอกาสเสียชีวิตสูง รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยง (อาจเริ่มป่วยมะเร็งแต่ไม่รู้ตัวเพราะไม่มีอาการ) ก็อาจไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นการตรวจหาเซลล์มะเร็งเบื้องต้นด้วยการเจาะเลือดเพียงไม่กี่หยด อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถลดการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ เมื่องานวิจัยชิ้นนี้ประสบความสำเร็จในขั้นตอนสุดท้ายและสามารถนำ SDM มาใช้ได้กับผู้ป่วยทั่วโลก