เทรนด์อาชีพปี 2566 ทุกอาชีพมาแรงได้...ต้องมี Data Analytics  

เทรนด์อาชีพปี 2566 ทุกอาชีพมาแรงได้...ต้องมี Data Analytics  

แนวโน้มการทำงานในปี 2566 จะพบว่า “สายงานดิจิทัล” ยังคงเป็นงานที่ต้องการในทุกธุรกิจ โดยทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบสรรหาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยและเพิ่มโอกาสการแข่งขันเอาชนะใจผู้หางานยุคใหม่

พนักงานที่มีทักษะดิจิทัลยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดจ้างงาน และเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลตอบแทนที่น่าจูงใจจากบริษัทต่าง ๆ อีกทั้ง นายจ้างต้องปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการให้แข่งขันได้ เพื่อรักษาการจ้างงานในกลุ่มพนักงานที่มีจำนวนน้อยเหล่านี้ไว้ให้ได้

รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกๆ อาชีพที่หลายคนมักจะมองหาอาชีพรุ่งและอาชีพร่วง ซึ่งในความเป็นจริง ทุกอาชีพสามารถรุ่งได้หมด เพียงแต่ต้องอาชีพที่เกี่ยวกับดิจิทัลและ Data Analytics  หรือการวิเคราะห์ข้อมูล  เพราะหากยังทำงานแบบดั่งเดิม ไม่ได้มีการบวกเรื่องของดิจิทัล และData Analytics เข้าไปก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้

เช่น นักบัญชีไม่ใช่เป็นเพียงการกรอกข้อมูล  แต่ต้องเป็นการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ พัฒนา และเป็นกลยุทธ์ได้  หรือ เดียวกัน ถ้าเป็นนักวิศวกร ซึ่งเป็นอาชีพที่ยอดนิยม ต้องมีการเรียนรู้และเข้าใจการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมด้วย เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เทรนด์งานใหม่ ปี 2023 ที่ไม่ควรพลาด เตรียมทักษะไม่ตกงาน

เมื่อเทรนด์จ้างงานเปลี่ยนไป “เด็กจบใหม่” กำลังมีโอกาสสดใสใน "ตลาดแรงงาน"

เผยเทรนด์งาน ปี 66 งาน ‘ดิจิทัล’ มาแรง พนง.หวังผลตอบแทนเพิ่มสู้ 'เงินเฟ้อ'

ไม่แฮปปี้ แต่ไม่ลาออก "ทำงานส่ง ๆ" เทรนด์ใหม่วัยทำงาน ที่อันตรายกว่า "Quiet Quitting"

ทุกอาชีพรุ่งได้ หากเติมทักษะData Analytics

การทำงานในยุคดิจิทัล ทุกคนต้องสามารถรู้จักข้อมูลของลูกค้าได้เป็นอย่างดี และทุกๆ อาชีพ ต้องนำเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี AI แอปพลิเคชั่นเป็นตัวเสริม และใช้คนเป็นตัวหลัก  ไม่อยากให้มีการเจาะจงว่าอาชีพไหนรุ่ง หรืออาชีพไหนร่วง 

"อาชีพที่ร่วง คืออาชีพที่สามารถทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยี  อาชีพที่มีคุณค่าประโยชน์ด้วยฟังก์ชั่นด้านการใช้สอย เช่น การตรวจความถูกต้อง แม่นยำ อาชีพเหล่านี้ไม่สามารถอยู่รอดได้แน่นอน ขณะที่ อาชีพรุ่งต้องมีทักษะความฉลาดในการพัฒนาข้อมูลและรู้เท่าทัน อาชีพที่ AI ไม่สามารถทดแทนได้ เป็นอาชีพที่คนฉลาดเหนือ AI  ต้องเข้าใจเทรนด์ของลูกค้า อ่านวิเคราะห์ข้อมูลได้"รศ.ดร.วิเลิศ กล่าว

เมื่อโลกการทำงานเปลี่ยนไป ระบบการศึกษาในการผลิตบุคลากรต้องปรับเปลี่ยนด้วย ทุกวิชาระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยต้องมีการนำเรื่องเทคโนโลยี และ Data Analytics คือ การวิเคราะห์ข้อมูลเข้ามามีส่วนร่วม และการงานไม่ใช่เพียงChatGPT  แต่ต้องวิเคราะห์ข้อมูล ความต้องการของผู้คนได้ 

คณะพาณิชยการและการบัญชี จุฬาฯ เป็นคณะที่ไม่ใช่สอนเพียงศาสตร์บริหารธุรกิจ แต่มีการสอนเรื่องสถิติและการจัดการข้อมูล เพื่อทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ บูรณาการศาสตร์ทางบริหารธุรกิจ การวิเคราะห์การจัดการข้อมูลร่วมด้วย

 

ทักษะSkillset ที่บัณฑิตจบใหม่ต้องมี

ทักษะและคุณสมบัติ เมื่อนิสิตจบออกไปแล้วต้องมี คือ ทักษะ Skillset  อาทิ ทักษะความคิดร่วมยอด ทักษะฉลาดเข้าใจและรู้เท่าทันโลก เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วมาก

"ต่อไปมีงานหลายงานที่ฟังก์ชั่น AI สามารถทำได้ การศึกษาต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว ให้นิสิต บัณฑิตทุกคนสามารถทำงานเรียนรู้ผ่านฟังก์ชั่น AI โดยการเรียนในชั้นเรียน อาจารย์ผู้สอนไม่ใช่เป็นผู้ให้ความรู้ แต่ต้องเป็นการเติมทักษะการคิดวิเคราะห์ เข้าใจ การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ต่อยอดในความคิดเป็นการศึกษาดิจิทัล"รศ.ดร.วิเลิศ กล่าว

ขณะที่ บุคลากรของคณะ อาจารย์ที่มีประสบการณ์การทำงาน เป็นที่ปรึกษาในบริษัทชั้นนำ เคยทำงานจริง และมีความสามารถในการถ่ายทอด เพราะต่อให้อาจารย์บางคนไม่เคยเป็นซีอีโอ แต่พวกเขาสามารถสอน ถ่ายทอดได้ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน  

เด็กในแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ  แต่การเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะโลกกลายเป็นหนึ่งเดียว เด็กไปเห็นการเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอก เห็นแบบเรียลไทม์ จึงทำให้เด็กรุ่นนี้ต่างจากเด็กรุ่นเก่าอย่างมาก และทำให้เกิดช่องว่างห่างมากขึ้น อีกทั้งคนรุ่นพ่อแม่ รุ่นป้าลุง รุ่นปู่ย่าตายาย ตอนนี้ก็ทำได้เพียงนั่นเล่นไลน์ ส่งสติ๊กเกอร์ประจำวัน แต่เด็กรุ่นใหม่เขาเห็นอีกโลก ส่งผลให้ประสบการณ์แตกต่างกัน

"เมื่อประสบการณ์ไม่เหมือนกัน ทำให้ช่องว่างระหว่างประสบการณ์แตกต่างกัน  และการที่ทุกคนอายุมากกว่า ไม่ใช่ว่ามีความรู้มากกว่าในทุกด้าน ซึ่งกว่าวัยผู้ใหญ่ สูงวัยได้ใช้มือถือก็อาจจะช้า หรือพร้อมๆ กับเด็ก  ดังนั้น สิ่งที่ผู้ใหญ่เห็นในอดีต เป็นสิ่งที่เด็กไม่ได้เห็นและอาจเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ไปแล้ว การอาบน้ำร้อนมาก่อน อาจไม่ได้ช่วยอะไรในยุคสมัยนี้  การเรียนรู้จาก Generation ใหม่ คนใหม่เป็นสิ่งสำคัญ" รศ.ดร.วิเลิศ  กล่าวด้วยว่า

 

ช่องว่างระหว่างประสบการณ์ ต้องเริ่มจากเข้าใจผู้อื่น

รศ.ดร.วิเลิศ กล่าวต่อว่า SkillSet บัณฑิตและคนวัยทำงานต้องมีจะเป็นเรื่องของการเข้าใจโลก เข้าใจคนอื่น เสมือนการเรียนงานวิชาการตลาด จะสอนให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า เช่นเดียวกันเมื่อไปทำงานก็ต้องเข้าใจความต้องการของเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน และองค์กร 

"มายเซตที่ว่าทุกคน คือ ลูกค้า สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกงาน ทุกความสัมพันธ์ เพราะนั้นเป็นการเข้าใจถึงมุมมองความคิด ซึ่งการตลาดสอนให้เข้าใจลูกค้า ในการใช้ชีวิตสามารถนำมาประยุกต์ให้เข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ เข้าใจผู้อื่น หากทุกคนเริ่มการทำงานโดยเข้าใจผู้อื่น การทำงานก็จะไม่นำไปสู่ความขัดแย้งกัน ช่องว่างระหว่างประสบการณ์จะลดลง"รศ.ดร.วิเลิศ กล่าว

ส่วนองค์กรจะต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะฝ่าย HR ไม่ใช่เพียงรับคนมาและจ่ายค่าจ้าง แต่ต้องมีหน้าที่ประสานความเข้าใจ ทำการตลาดภายในต้องเข้าใจพนักงาน เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ต้องมีหน้าที่ในการเติมช่องว่างระหว่างคนแต่ละเจนเนเรชั่น ไม่ใช่เพียงบ่นและไม่ได้แก้ปัญหา โดยต้องหากลยุทธ์ในการลดปัญหาดังกล่าว

"อย่าเพียงมองเห็นช่องว่างระหว่างวัย แล้วบอกว่านั่นคือปัญหา แต่ต้องมีกลยุทธ์ในการจัดการความแตกต่าง ทั้งระหว่างคน ระหว่างวัย และต้องพยายามทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน  เช่น มีกิจกรรม มีการเทรนนิ่ง ให้คนในองค์กรได้มีปฎิสัมพันธ์ร่วมกัน รู้จักกัน สื่อสารร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ซึ่งองค์กรจะต้องลงทุนในการสร้างกิจกรรรมเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันภายในองค์กร และลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น"รศ.ดร.วิเลิศ กล่าว

เลิกตีตราว่าตัวเองเป็นรุ่นไหน หมดยุคกำหนดGen

หลายๆ ธุรกิจ มีปัญหาเรื่องคนจำนวนมาก เพราะบางธุรกิจแม้จะมีกลยุทธ์ชัดเจนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องคนได้ เนื่องจากคนละคนต่างมีประสบการณ์ มีการดำเนินชีวิต มีแนวคิดทีแตกต่างกัน ยิ่งคนอายุมากกว่าจะปรับเปลี่ยนได้ต้องใช้เวลา ต้องมี Turning Point จุดที่ทำให้ธุรกิจได้ไปต่อ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ผสมผสานของเก่าที่มีคุณค่าอยู่แล้ว เพิ่มเติมของใหม่ที่ตรงกับความต้องการของยุคปัจจุบัน ต้องมีจุดคิดว่าเราจะทำแบบนี้ต่อไปไม่ได้

"อย่าให้คำจัดความตัวเองว่าเป็นคนรุ่นไหน อย่าบอกว่าตัวเองเป็นคนรุ่นพ่อแม่ คนรุ่นเก่า หรือคนรุ่นใหม่ แต่ขอให้ทุกคนมองว่าตอนนี้ไม่มีGeneration เปิดใจให้กว้าง และอย่าให้ใครมาใส่ฉลากว่าคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้  พยายามให้เราเป็นคนของทุกGeneration เข้าใจและไปได้กับคนทุกGeneration เพราะเราไม่ใช่เขา การที่เขาทำ ไม่ได้แปลว่าผิด การที่เราทำก็ไม่ได้แปลว่าถูก อย่ามาตั้งป้อมว่าตัวเองเป็นคนGeneration ไหน ต้องมีความเข้าใจว่าเราเป็นคนอื่นที่ต้องเข้าใจผู้อื่น เพื่อการทำงานเป็นทีม ให้เอาเป้าหมายเป็นตัวตั้ง ให้องค์กรมุ่งไปสู่ทิศทางเดียว" รศ.ดร.วิเลิศ กล่าว

ปัญหาของคน คือ อัตตา ยึดแต่ตัวตนของตัวเอง เราต้องปล่อยวางความเป็นตัวเอง เราไม่มีรุ่น เพียงแต่เป็นข้อเสนอแลกเปลี่ยนกัน ไม่ต้องใช้คำว่าสมัยนี้หรือสมัยไหน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องก้าวล้ำโลกไม่ใช่ก้าวทันโลก เยาวชนชอบการเรียนรู้ที่สามารถเรียนได้ทุกที่ การเรียนรู้ในห้องเรียนต้องเชื่อมโยงกับการเรียนรู้นอกห้องเรียน ต้องเรียนแบบ Lifeline Learning สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่

"มหาวิทยาลัยต้องสร้างให้เด็กมีความหลงใหล มีความคิดอยากเรียนรู้ทุกที่ทุกแห่ง รวมถึงต้องมีความรู้สึกรับผิดชอบสังคมดิจิตอล  เทรนด์ในอนาคตจะเป็นเรื่องการเรียนรู้ที่ทำงานจริง หรือเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เช่น ขายของทางออนไลน์ได้ เด็กรุ่นใหม่จะหาโอกาสในการทำธุรกิจสมัยใหม่รูปแบบดิจิตอลเสมอ และต้องมีหลักการทำงาน"รศ.ดร.วิเลิศ กล่าว

การเรียนรู้ในห้องเรียน ต้องคอยบอกว่าการเรียนรู้ในออนไลน์ ทำได้หรือไม่ได้ และต้องมีหลักการในการทำงาน เพราะไม่ว่าโลก กฎระเบียบ รูปแบบ สังคมจะเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าทุกคนมีหลักการในการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนก็จะอยู่ได้

ปัจจุบันเรื่องเล็กๆ น้อยก็สามารถเป็นอาชีพได้ บัณฑิตต้องสรรหาว่าตนเองเก่งสุดด้านไหน ต้องไปด้านนั้น และต้องมองว่าโลกกว้าง เราอยู่จุดไหนของโลกและเราเก่งอย่างไร วันนี้มหาวิทยาลัย คณะอาจจะไม่ได้ผลิตนักบัญชี หรือนักการตลาด แต่ผลิต นักธุรกิจ และนักการใช้ชีวิต สามารถดำรงตนประกอบอาชีพได้ แสวงหาความรู้ และรู้ถึงบทบาททางสังคม