เมื่อเทรนด์จ้างงานเปลี่ยนไป “เด็กจบใหม่” กำลังมีโอกาสสดใสใน "ตลาดแรงงาน"

เมื่อเทรนด์จ้างงานเปลี่ยนไป  “เด็กจบใหม่” กำลังมีโอกาสสดใสใน "ตลาดแรงงาน"

ใครว่าเด็กจบใหม่หางานยาก? มองผลดีของการจ้าง "เด็กจบใหม่" ที่กำลังเป็นกลุ่มคนทำงานที่ดูสดใสใน "ตลาดแรงงาน" ผ่านผลสำรวจของ "จ๊อบส์ดีบี" ถึงแนวโน้มการจ้างงาน ผลตอบแทน และสวัสดิการ ปี 2565-2566

เศรษฐกิจทุกวันนี้ไม่ค่อยดี, จบไปแล้วจะหางานได้ไหม, ไม่มีประสบการณ์จะไปสู้เขาได้ไง และอีก ฯลฯ คือคำพูดที่ส่งผลด้านลบต่อความมั่นใจของเด็กจบใหม่ที่เตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงานมาทุกยุคทุกสมัย

ในอดีตเรามักคิดว่าเด็กจบใหม่หางานได้ยาก ต้องเตะฝุ่นสักระยะถึงจะหางานได้ ซึ่งสาเหตุหลักๆของความเชื่อนี้ก็หนีไม่พ้นความคิดที่ว่า องค์กรส่วนใหญ่มักเลือกพนักงานจากประสบการณ์ และการเคยผ่านงานมาบ้างก็น่าจะเป็นแต้มต่อหากต้องแข่งขันในตลาดแรงงานใหม่

ถึงเช่นนั้น ความคิดแบบที่ว่าก็ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป เพราะแนวโน้มของทักษะที่ตลาดแรงงานต้องการเปลี่ยนไปตลอดเวลา และล่าสุด “จ๊อบส์ดีบี” (JobsDB) แพลตฟอร์ม หางานที่หลายคนคุ้นเคยได้สำรวจความคิดเห็นบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กในประเทศไทยจำนวน 429 บริษัท แนวโน้มการจ้างงาน ผลตอบแทน และสวัสดิการ ปี 2565-2566 ซึ่งพบอินไซด์ของการจ้างงาน ที่เปลี่ยนมุมมองสำหรับ “เด็กจบใหม่”

ผลสำรวจ JobsDB  ระบุว่า เมื่อโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องใหม่ ผู้คนจึงกลับมาใช้ชีวิตปกติ และทำให้สถานการณ์การจ้างงานของผู้ประกอบการเริ่มกลับมาคึกคักขึ้น โดยปัจจุบันนี้ 48% ขององค์กรขนาดใหญ่ซึ่งมีพนักงานมากกว่า 160 คน เริ่มกลับมาจ้างงาน และต้องการจ้างงานพนักงานแบบเต็มเวลามากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19 ซึ่งในช่วงนั้น องค์กรต่างๆ ปรับกลยุทธ์การจ้างงานมาเป็นแบบการจ้างพนักงานชั่วคราวเพื่อลดภาระในด้านสวัสดิการ

ที่ชัดเจนคือ ข้อมูลการจ้างงานในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า 45% ของบริษัทที่ทำการสำรวจ แสดงความต้องการจ้างพนักงานจบใหม่โดยเฉพาะ โดยในจำนวนนี้มีถึง 7 ใน 10 ที่มีการจ้างพนักงานจบใหม่ และมากกว่าครึ่งของบริษัทขนาดใหญ่จ้างนักศึกษาฝึกงานเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว

ทำไมบัณฑิตจบใหม่ถึงกลายเป็นที่นิยมในตลาดแรงงาน?  นั่นก็วิเคราะห์ได้ไม่ยากว่า เป็นเพราะเด็กจบใหม่มีค่าจ้างที่ต่ำกว่าพนักงานที่มีประสบการณ์ ซึ่งเมื่อเป้าหมายหลักของธุรกิจส่วนใหญ่คือการทำกำไร การประหยัดเงินเดือนของพนักงานจึงเป็นประโยชน์ทางการเงินแก่บริษัท ขณะที่เมื่อพิจารณารายละเอียดเฉพาะตัวก็จะพบว่า ผู้จบการศึกษาใหม่มักมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ไม่มาก มีความคล่องตัวสูง ซึ่งองค์กรมองว่าเป็นจุดดีมากกว่าหนักงานที่มีประสบการณ์

ในบางสายงานที่ต้องการพลังงานขับเคลื่อนสูง เช่น ฝ่ายขาย งานโปรดักส์ชั่น งานสร้างสรรค์ เด็กจบใหม่ยังมีไฟในการทำงานเต็มเปี่ยม มีความ Active ที่อยากจะทำงาน อยากเรียนรู้ อยากพัฒนาตัวเอง และเมื่อมีการมอบหมายงาน คนกลุ่มนี้จะทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองนั้นมีความสามารถมากพอ

  • จุดเด่นของ First Jobber

จุดแข็งของกลุ่มคนเริ่มทำงาน หรือ First Jobber ในปัจจุบัน คือการที่ส่วนใหญ่อยู่ในเจเนอเรชั่น  Z (พ.ศ. 2540 – 2555) โดยคนเจนฯ นี้ เกิดและเติบโตมาในยุคดิจิทัล มาพร้อมกับเทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ต พวกเขากล้าแสดงออกและกล้าตั้งคำถาม แม้กับผู้ที่อาวุโสกว่า ซึ่งการเอาความคิดของคนกลุ่มนี้มาเป็นพลังงานใหม่ๆในองค์กรย่อมช่วยสร้างความสมดุลในการทำงาน และแม้อุปนิสัยของเจนฯ Z จะมีบางอย่างที่คนเจนฯ X หรือ เจนฯ Y ไม่ถูกใจบ้าง แต่คนกลุ่มนี้มีความเข้าใจพฤติกรรมของยุคสมัย ทำให้เห็นข้อบกพร่องของบริษัท ซึ่งคนที่ทำงานอยู่เดิมไม่เคยเห็นมาก่อน (หรือเห็นแล้วแต่ไม่กล้าพูด)

ยิ่งเมื่อมองในเรื่องทักษะทางเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่าหลังโควิด-19 นี้ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแทบจะเป็นไฟต์บังคับของการทำงาน การที่มีบัณฑิตจบใหม่จึงเปรียบเสมือนการนำบุคลากร ที่เป็น Digital Native เข้ามาเป็นส่วนผสม พนักงานกลุ่มนี้สามารถทำงานออนไลน์ได้ทั้งกระบวนการ มีตรรกะและวิธีคิดที่ถูกปรับให้เข้ากับสังคมดิจิทัลโดยธารรมชาติ แตกต่างจากคนจากเจนฯ ก่อนหน้า ที่เป็น Digital Immigrant ซึ่งแม้จะเรียนรู้พื้นฐานการใช้เทคโนโลยี แต่ก็อาจมีพื้นฐานวิธีคิดที่ยังไม่พ้นจากโลกใบเดิม

ถึงตรงนี้ แม้เนื้อหาจะบอกว่า ทิศทางของตลาดแรงงานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่มีแนวโน้มสดใส แต่ก็เป็นเฉพาะผู้จบใหม่ที่เตรียมพร้อมแล้วเท่านั้น เพราะผลสำรวจข้างต้นได้ระบุว่า เมื่อนักศึกษาจบใหม่มีประสบการณ์ทํางานน้อยหรือไม่มีเลย บริษัทจึงมุ่งเน้นไปที่การสัมภาษณ์เพื่อให้เห็นถึงทัศนคติ ศักยภาพ และความตรงต่อเวลา  โดยหลักเกณฑ์ที่บริษัทพิจารณามากที่สุด 3 อันดับแรกในการรับเด็กจบใหม่คือการสัมภาษณ์ 52% ,ทัศนคติ ความตรงต่อเวลา 50% , สาขาที่จบ 42% ซึ่งไม่ต่างจากปัจจัยทั่วไปในการรับบุคคลเข้าทำงานซึ่งองค์กรจะพิจารณาจาก ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง 69%, คุณสมบัติสำหรับตำแหน่งงาน 55%, บุคลิกภาพ  33%

อันหมายความว่า ผู้ที่ทัศนคติดี บุคลิกภาพเหมาะสม พูดจารู้เรื่อง มีโอกาสถูกจ้างงานได้มากกว่านี่เอง