เทรนด์งานใหม่ ปี 2023 ที่ไม่ควรพลาด เตรียมทักษะไม่ตกงาน

เทรนด์งานใหม่ ปี 2023 ที่ไม่ควรพลาด เตรียมทักษะไม่ตกงาน

เมื่อโลกเปลี่ยน ธุรกิจปรับตัวไปจากเดิมส่งผลให้ “เทรนด์งานใหม่ๆ ปี 2566” มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คน

ผนวกกับโลกกระโดดสู่ยุคดิจิทัล ทุกภาคธุรกิจต้องปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป รวมถึงการพัฒนาบุคลากร การผลิตกำลังคนรองรับสายงานใหม่ๆ

“จ๊อบส์ดีบี (JobsDB)” เปิดเผยถึงแนวโน้มการทำงานในปี 2566 พบว่า งานสายดิจิตอลยังคงเป็นงานที่ต้องการในทุกธุรกิจ โดยทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบสรรหาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยและเพิ่มโอกาสการแข่งขันเอาชนะใจผู้หางานยุคใหม่

ขณะเดียวกัน พนักงานที่มีทักษะดิจิทัลยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดจ้างงาน และเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลตอบแทนที่น่าจูงใจจากบริษัทต่าง ๆ อีกทั้ง นายจ้างต้องปรับค่าตอบแทนและสวัสดิการให้แข่งขันได้ เพื่อรักษาการจ้างงานในกลุ่มพนักงานที่มีจำนวนน้อยเหล่านี้ไว้ให้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เผยเทรนด์งาน ปี 66 งาน ‘ดิจิทัล’ มาแรง พนง.หวังผลตอบแทนเพิ่มสู้ 'เงินเฟ้อ'

4 เทรนด์ สำคัญที่ธุรกิจงานบริการด้านอสังหาฯ ที่ต้องจับตามอง

เปิด ‘12 เมกะเทรนด์’ พลิกโฉมอีคอมเมิร์ซ ปี 2566

เมื่อเทรนด์จ้างงานเปลี่ยนไป “เด็กจบใหม่” กำลังมีโอกาสสดใสใน "ตลาดแรงงาน"

 

“ดิจิทัล สุขภาพ” สายงานที่เติบโตมากสุด

“ดวงพร พรหมอ่อน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าสายงานที่จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยังเป็น สายงานด้านดิจิทัล ไอที แพราะในทุกกลุ่มธุรกิจจะต้องการกำลังคนด้านนี้ เพื่อยกระดับองค์กรสู่องค์กรดิจิทัล นอกจากนั้น งานสายสุขภาพ สายความยั่งยืน สายสิ่งแวดล้อม เป็นอีกกลุ่มสายงานที่กำลังนิยม ต้องการของตลาดงาน

ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีหลังจากนี้ สายงานดิจิทัล สายไอที เป็นสายงานที่บูมและได้ค่าตอบแทนที่มากขึ้น เพราะการใช้ชีวิตของผู้คน การทำงานของธุรกิจต่างๆ ล้วนต้องมีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมเข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนองค์กร ขณะที่ การพัฒนาคนด้านนี้มีจำนวนจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ขณะที่ สายสุขภาพ เป็น 1 ใน 4 ของสายงานที่เติบโตมากที่สุด เนื่องจากผู้คนให้ความสนใจในการดูแลสุภขาพ มากขึ้น ต้องการยาและอาหารเสริมที่ปลอดภัย เน้นการป้องกันโรคมากกว่าเป็นโรค นอกจากนั้น ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2566 และการแพทย์ของไทยได้รับความนิยมทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้ความต้องการกำลังสายสุขภาพยิ่งสูงขึ้น

ความต้องการกำลังคนสายสุขภาพ ไม่ใช่เพียงบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขเท่านั้น แต่รวมถึงคนที่ทำงานด้านเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมด้านการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ กลุ่มผลิตยาและอาหารเสริม ด้านสมุนไพร ซึ่งปี2566 สมุนไพรอาจจะไม่บูมเท่ากับปี2565 แต่ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง และจะมีการเพิ่มเติมการดูแลสุขภาพทางเลือก แนวใหม่ๆ อย่าง กลุ่มชะลอวัย ศัลยกรรม จะต้องการคนด้านนี้มากขึ้น โดยจะต้องการผู้เชี่ยวชาญ และผู้ให้บริการทางการแพทย์” ดวงพร กล่าว

 

เทรนด์ใหม่ที่น่าจับตา “งานด้านความยั่งยืน”

นอกจากนั้น เรื่องของความยั่งยืน จะไม่ได้เป็นเทรนด์หรือกระแสเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นหลักในการทำธุรกิจขององค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคเอกชน ภาคการผลิตที่จะให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน การดูแลสิ่งแวดล้อม รักษ์โลกมากยิ่งขึ้น

ดวงพร กล่าวต่อว่าความยั่งยืนจะกลายเป็นหลักในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งบุคลากรด้านนี้มีจำนวนจำกัด ทำให้ประเทศไทย องค์กรธุรกิจขาดบุคลากรด้านนี้อย่างมาก เพราะคนที่ทำงานด้านนี้ส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์มากพอ หรืออยู่สายงานอื่นในองค์กรแล้วต้องมารับผิดชอบงานด้านนี้ ทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจ ในการทำงาน ดังนั้น การพัฒนาคนที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ด้านความยั่งยืน การดูแลสิ่งแวดล้อม มีความจำเป็นต่อองค์กร

“การจะเพิ่มกำลังคนด้านความยั่งยืนจะเพิ่มทันทีคงไม่สามารถทำได้ ดังนั้น องค์กรธุรกิจอาจจะต้องแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน หรืออบรมให้ความรู้แก่พนักงาน จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ผู้ที่จบสายงานด้านความยั่งยืน สิ่งแวดล้อมโดยตรง ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาบุคลากรด้านนี้ขึ้นมาทำงานได้ อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทำงานด้านนี้ หลายๆ บริษัทได้มีการพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรให้มีความรู้ความชำนาญ และพัฒนางานด้านนี้ ผ่านกิจกรรม โครงการต่างๆ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ร่วมด้วย” ดวงพร กล่าว

ทักษะที่ตลาดงานต้องการจากคนรุ่นใหม่

ด้วยรูปแบบการทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม อาทิ การทำงานแบบไฮบริดทั้ง work from home และ work from office การทำงานได้ทุกที่ อย่าง work from anywhere อาจทำให้หลายหน่วยงานต้องคัดเลือกคนที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานขององค์กรร่วมด้วย

ดวงพร กล่าวต่อว่าคนรุ่นใหม่ เด็ก Gen Z เริ่มเข้าสู่ระบบการทำงานมากขึ้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีลักษณะที่แตกต่างกับรุ่นเก่าๆ พวกเขาจะเลือกงานที่ทำให้เกิดการพัฒนาตนเอง กล้าคิดกล้าแสดงออก และทำงานที่มีความท้าทาย มีความสุข สนุกในการทำงาน บริษัทจึงต้องมีความชัดเจนว่าจะทำงานในรูปแบบไหน เพื่อให้ดึงดดูดกลุ่มตำแหน่งงานที่ต้องการ รวมถึงการกำหนดเป้าหมายงานของแต่ละคนอย่างชัดเจน

“ทักษะที่คนรุ่นใหม่ต้องมีนอกจากทักษะหลักตามตำแหน่งงานแล้ว ต้องมี Miindset ทัศนคติ ความคิดที่ดีต่องาน ต่อองค์กร เพราะในปี2565 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีการลาออกจากงานจำนวนมาก องค์กรและHR เอง ต้องมีการปรับตัวในการคัดเลือกคนที่เหมาะสมกับงานแล้ว ต้องมีการดูแลพนักงานทั้งด้านสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ รวมถึงต้องมีการจัดกิจกรรม โครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน ได้รู้จัก รู้ถึงความรู้สึก และแนวทางในการพัฒนาตนเองของพนักงานแต่ละคนร่วมด้วย” ดวงพร กล่าว

ส่วนผู้หางาน ขอให้ค้นหาตำแหน่งงานที่อยากทำและศึกษาคุณสมบัตของตำแหน่งต่างๆ ว่าเราเหมาะ มีคุณสมบัติที่สอดคล้องหรือไม่ หากยังมีทักษะไม่สอดคล้อง ขอให้ไปเรียนรู้ทักษะต่างๆ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ทิศทางของตลาดแรงงานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่มีแนวโน้มสดใสเฉพาะในกลุ่มผู้จบใหม่ที่เตรียมพร้อมแล้วเท่านั้น เพราะบริษัทจะมุ่งเน้นการสัมภาษณ์เพื่อให้เห็นถึงทัศนคติ ศักยภาพ และความตรงต่อเวลา ฉะนั้น ผู้ที่ทัศนคติดี บุคลิกภาพเหมาะสม พูดจารู้เรื่อง มีโอกาสถูกจ้างงานได้มากกว่า