ไม่แฮปปี้ แต่ไม่ลาออก "ทำงานส่ง ๆ" เทรนด์ใหม่วัยทำงาน ที่อันตรายกว่า "Quiet Quitting"

ไม่แฮปปี้ แต่ไม่ลาออก "ทำงานส่ง ๆ" เทรนด์ใหม่วัยทำงาน ที่อันตรายกว่า "Quiet Quitting"

ชวนรู้จัก “Resenteeism” เทรนด์ใหม่วัยทำงาน แม้จะไม่มีความสุข ไม่อยากทำงานแล้ว แต่ก็ลาออกไม่ได้ ไม่พร้อมตกงาน เลยขอทำงานไปแบบส่ง ๆ ซึ่งน่ากังวลมากกว่า “Quiet Quitting”

ในปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจไม่เป็นใจ ไหนจะของแพง แต่ค่าแรงไม่ค่อยจะขึ้น แถมยังมีข่าวการเลิกจ้างในบริษัทใหญ่ทั่วโลกรวมถึงในไทย ทำให้ผู้คนจำนวนมากอยู่ในภาวะจำยอม ไม่กล้าลาออกจากงาน แม้ว่าจะไม่มีความสุขในการทำงานก็ตาม ปรากฏการณ์ดังกล่าว นำไปสู่เทรนด์ใหม่ในวงการแรงงานที่เรียกว่า “Resenteeism

  • “Resenteeism” เบื่องานแต่ออกไม่ได้

“Resenteeism” เป็นภาวะที่มีความร้ายแรงและต่อเนื่องมาจาก “Quiet Quitting” ใช้อธิบายภาวะที่ไม่พึงพอใจต่องานที่ทำอยู่ แต่ไม่สามารถหางานที่ดีกว่าได้ หรือเกิดจากความกลัวว่าจะไม่มั่นคงในงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน จนแสดงความไม่พึงพอใจออกมาอย่างชัดเจน ไม่ปกปิดอารมณ์เหล่านี้อีกต่อไป

แพม ฮินดส์ หัวหน้าฝ่ายบุคคลของ SaaS RotaCloud บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ อธิบายกับ นิตยสาร Glamour ถึงเทรนด์ดังกล่าวไว้ว่า “พนักงานที่รู้สึกว่าตนเองถูกบริษัทประเมินค่าต่ำไปจากบริษัท ทำให้พวกเขากังวลว่าต่อไปจะไม่มีความสุขในการทำงาน ความกังวลและรู้สึกต่อต้านกำลังก่อตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก”

คำจำกัดความดังกล่าว จึงมีความคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ Quiet Quitting ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปีที่ผ่านมากับกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นการทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ไม่ได้อุทิศชีวิตให้แก่การทำงาน และไม่หวังความก้าวหน้าใด ๆ 

เหตุผลสำคัญ คือ หลังการระบาดของโควิด-19 เหล่าพนักงานได้มีเวลาทบทวนความสำคัญ และบทบาทของตนเอง ซึ่งพวกเขาตระหนักได้ว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต” ไม่ใช่หน้าที่การงาน

  • อันตรายกว่าปรากฏการณ์อื่น ๆ 

Resenteeism เป็นแนวคิดที่แตกออกมาจาก Presenteeism ซึ่งเป็นภาวะที่พนักงานทำงานได้แย่ลงเพราะอาการป่วย แต่ไม่ยอมหยุดพักงาน จนทำงานผิดพลาดบ่อยขึ้น หรือขาดแรงจูงใจในการทำงาน

แต่สิ่งที่ทำให้ Resenteeism นั้นแย่กว่า Quiet Quitting และ Presenteeism คือ พนักงานที่มีภาวะ Resenteeism จะแสดงออกชัดเจนว่า กำลังไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ อาจจะสะท้อนผ่านการทำงานอย่างส่ง ๆ ชุ่ย ๆ จนถึงส่งผ่านความรู้สึกลบไปยังพนักงานคนอื่น ทำให้บรรยากาศในบริษัทนั้นเปลี่ยนไปในทางที่ไม่ดี แต่ก็ไม่เลือกที่จะลาออกไป ทั้งที่ไม่มีใจอยู่แล้ว เพราะยังหางานใหม่ไม่ได้ หรือ กลัวไม่มีงานทำ โดยประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาจะลดลง และสร้างความขัดแย้งในองค์กรมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ Quiet Quitting จะหมายถึงพนักงานที่ไม่ได้ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ แต่ก็ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งเป็นการเยียวยาตนเองไม่ให้ตกอยู่ในสภาวะหมดไฟในการทำงาน

ปัจจุบันพบว่า ความไม่พอใจในการทำงานก่อตัวขึ้นในหมู่คนทำงานรุ่นใหม่มากอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจของ MetLife ในปี 2565 ระบุว่า พนักงานเจน Z ราว 43% และ 34% ชาวมิลเลนเนียลไม่พอใจในงานที่ทำอยู่ สอดคล้องกับการศึกษาเมื่อเดือนพ.ย. 2565 ของ บริษัทซอฟต์แวร์ UKG ที่พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของแรงงานชาวอเมริกันกล่าวว่าพวกเขาเกลียดงานที่ทำอยู่มาก 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทรนด์ Resenteeism เป็นผลพวงจาก การลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) ที่เกิดขึ้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะพนักงานที่เหลืออยู่ต้องทำงานอย่างหนัก ทดแทนหน้าที่ของพนักงานที่ลาออกไป หรือถูกเลิกจ้าง ทำให้เกิดความไม่พอใจแก่พนักงานที่เหลืออยู่ และเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

สถานการณ์ยังคงแย่ต่อไปอีก เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเข้าปกคลุมทุกพื้นที่ในโลก ทำให้หลายบริษัทเลิกจ้างพนักงานจำนวนไม่น้อย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด ยิ่งทำให้พนักงานต้องรักษาตำแหน่งงานขของตนเองไว้ แม้จะไม่ได้เต็มใจอยู่ก็ตาม เพราะการสูญเสียงานในช่วงนี้ ไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่ สำหรับโลกที่ต้องใช้ชีวิตรอดด้วย “เงิน” ส่งผลให้อัตราการว่างงานทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และการปลดพนักงานลดลงจากจุดสูงสุดในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด

 

  • ทางออกสำหรับพนักงานและนายจ้าง

ฮินดส์ ให้คำแนะนำสำหรับพนักงานที่เริ่มรู้สึกไม่พอใจอย่างมากกับที่ทำงาน หรือ งานที่ทำอยู่ว่า ให้แจ้งกับฝ่ายบุคคล ระบุสิ่งที่ต้องการจากการทำงาน เพื่อความรู้สึกเติมเต็ม สร้างทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน และมีแรงบันดาลใจในการทำงานต่อไป รวมถึงต้องอย่าลืมว่า เรามักจะมองสิ่งที่คนอื่นมี นั้นดีกว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่เสมอ ทั้งที่จริงแล้วหลาย ๆ องค์กรอยู่ในสภาวะ “คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า”

อย่างไรก็ตาม หากแจ้งกับฝ่ายบุคคลหรือหัวหน้างานแล้วพบว่าไม่มีอะไรดีขึ้น และคุณไม่มีอะไรจะเสียแล้ว การลาออกก็อาจจะเป็นวิธีที่ดีสำหรับคุณ แต่ทางที่ดีควรจะได้งานที่ต้องการก่อนแล้วค่อยออกจากงานเดิม ด้วยวิธีการ “สมัครงานล้างแค้น” (Rage Applying) ที่เป็นการยื่นใบสมัครงานไว้หลาย ๆ ที่ เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่คนรุ่นใหม่ใช้ฮีลใจจากความอัดอั้นในการทำงาน แถมถ้าได้งานที่ถูกใจด้วยก็ยิ่งดีไปกันใหญ่

สำหรับฝ่ายนายจ้างนั้น ฮินดส์ ระบุว่า ควรสร้างวิธีการสื่อสารอย่างเปิดเผยกับพนักงาน ให้พนักงานทุกคนรับรู้ว่าพวกเขามีสิทธิที่จะหยุดงาน และเสนอโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพทุกครั้งที่ทำได้ ทั้งการเลื่อนตำแหน่ง หรือฝึกอบรมเพิ่มเติม

จะเห็นได้ว่า เทรนด์การทำงานในระยะหลังนั้นมาจากเหล่าพนักงานรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับใช้ชีวิตมากกว่าการทำงาน อะไรที่ขัดแย้งต่อก็ความคิดหรือเห็นว่าไม่เหมาะสม พวกเขาก็จะต่อต้าน แต่ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจทำให้พวกเขาต้อง “จำยอม” ทนต่อไป แม้ว่าจะไม่เต็มใจก็ตาม


ที่มา: FortuneGlamourInsiderYahoo