GISTDA เปรียบเทียบพื้นที่ "น้ำท่วม" ไทยช่วง ก.ย. 2554, 2564 ,2565 ต่างกัน 3 เท่า

GISTDA เปรียบเทียบพื้นที่ "น้ำท่วม" ไทยช่วง ก.ย. 2554, 2564 ,2565 ต่างกัน 3 เท่า

GISTDA เปรียบเทียบพื้นที่ "น้ำท่วม" ไทยช่วงเดือนกันยายน 2554, 2564 และ 2565 พบว่าปริมาณน้ำท่วมขังในปัจจุบันยังห่างอยู่ 3 เท่าตัว

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA เปิดเผยข้อมูลภาพจากดาวเทียมแสดงสถานการณ์ "น้ำท่วม" ของเดือนกันยายน ปี 2554, 2564 และ 2565 พบว่าปี 2554 มีปริมาณ "น้ำท่วมขัง" ทั่วประเทศ จำนวน 15,996,150 ไร่, ปี 2564 จำนวน 5,648,252 ไร่ และในปี 2565 (ล่าสุด) พบพื้นที่น้ำท่วมขังจำนวน 5,331,739 ไร่ ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 พบว่าปริมาณน้ำท่วมขังในปัจจุบันยังห่างอยู่ 3 เท่าตัว

สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน หลายคนเป็นกังวลอย่างยิ่งว่าจะท่วมหนักเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อนหรือไม่ เพราะด้วยปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ขาดสายทำให้เกิดน้ำสะสมในหลายพื้นที่ ประกอบกับพายุโนรูที่เพิ่งแผลงฤทธิ์ไปสดๆ ร้อนๆ ส่งผลให้เกิดความเสียหาย และน้ำท่วมในหลายพื้นที่

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

อีกทั้งปริมาณน้ำในลำน้ำ และอ่างเก็บน้ำหลายแห่งเริ่มล้นแล้ว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบทุกหย่อมหญ้าสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลที่มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงมากขึ้น น้ำระบายไม่ทัน รอการระบาย สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ ปริมาณฝนที่ตกลงมาเพิ่มเติมในพื้นที่  ที่จะส่งผลให้น้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

หากมองย้อนกลับไปในช่วงของปี 2554 และปี 2564 ของเดือนกันยายน จะเห็นได้ว่าปี 2554 ประเทศไทยมีพื้นที่ "น้ำท่วมขัง" มากกว่าปี 2565 แต่ทั้งนี้ปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นส่งผลให้ฝนมาเร็วกว่าปี 2564

ส่องมวลน้ำรายภูมิภาค เปรียบเทียบระหว่างปีมหาอุทกภัย 2554 กับปีปัจจุบัน 2565

กันยายน 2554

  • ภาคเหนือ 350,015 ไร่
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,412,704 ไร่
  • ภาคกลาง 9,702,429 ไร่
  • ภาคตะวันออก 1,207,294 ไร่
  • ภาคตะวันตก 258,127 ไร่
  • ภาคใต้ 65,581 ไร่

กันยายน 2565

  • ภาคเหนือ 154,456 ไร่
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,955,311 ไร่
  • ภาคกลาง 2,814,646 ไร่
  • ภาคตะวันออก 147,844 ไร่
  • ภาคตะวันตก 259,481 ไร่
  • ภาคใต้ 0 ไร่

 

สิ่งสำคัญที่สุด ทุกภาคส่วน หน่วยงานด้านน้ำ ร่วมกันติดตามสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้น ในส่วนของ GISTDA ได้วางแผน และปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียมมากกว่า 1 ดวง เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง โดยท่านสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์