เปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (MCATT) @ สยามพารากอน เช็กสภาพจิตใจเหตุกราดยิง

เปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (MCATT) @ สยามพารากอน เช็กสภาพจิตใจเหตุกราดยิง

สธ.เปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (MCATT) ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจเหตุกราดยิง เผย 2 นาที รู้ผลผลประเมินแล้วเสร็จ ชวนคนไทย-ต่างชาติ เข้าตรวจประเมิน เร่งทำงานเชิงรุกดูแลสภาพจิตใจเด็ก ฝากสื่อ-โซเซียล นำเสนอรายละเอียดผู้ก่อเหตุลงลึก หวั่นเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ

Keypoint:

  • ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (MCATT) @ พารากอน พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่วันนี้ -10 ต.ค.2566 ช่วยดูแลสภาพจิตใจผู้ได้รับกระทบเหตุกราดยิง เช่น ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง พนักงานห้างร้าน คนทำงานในห้าง ณ บริเวณย่านปทุมวัน Care D+Space
  • ทีมสหวิชาชีพ MCATT จากกรมสุขภาพจิตร่วมกับกรุงเทพมหานคร ดูแลเยียวยาจิตใจ ตั้งแต่การประเมินเบื้องต้น การแบ่งแยกระดับความรุนแรง การตรวจวัดระดับความเครียด  ตรวจจากสภาพร่างกายและจิตใจ ใช้เวลาเพียง 2 นาที 
  • ฝากสื่อ-โซเซียลมีเดีย ลงรายละเอียดผู้ก่อเหตุ อาจส่งผลพฤติกรรมลอกเลียนแบบ ควรนำเสนอการป้องกัน และแนวทางดูแลจิตใจ

จากกรณี เกิดเหตุยิงภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา วันนี้ (5 ต.ค.2566) ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.)  พร้อมด้วยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ,พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ,ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารศูนย์การค้าสยามพารากอน

ร่วมพิธีเปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT)  เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางจิตใจจากเหตุที่เกิดขึ้น เช่น ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง พนักงานห้างร้าน คนทำงานในห้าง ณ บริเวณย่านปทุมวัน Care D+Space ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 10 ต.ค.นี้

โดยทางสธ. มอบหมายกรมสุขภาพจิต จัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต MCATT จากสหวิชาชีพที่ให้การช่วยเหลือ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาการสาธารณสุข และทีมสุขภาพจิตสำนักงานอนามัย กทม. ร่วมลงปฏิบัติการเชิงรุกเข้าเยี่ยมดูแลประชาชนในสถานพยาบาลพื้นที่เกิดเหตุ พื้นที่ชุมชนใกล้เคียง และสถานศึกษาที่ผู้ก่อเหตุกราดยิง 

เปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (MCATT) @ สยามพารากอน เช็กสภาพจิตใจเหตุกราดยิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

10 กลุ่มโรคจิตเวชในเด็ก ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

 

เปิดศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ@ สยามพารากอน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่าหลังจากเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น สธ.ได้ให้การสนับสนุนดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ด้วยนโยบายการดูแลสุขภาพใจในทุกที่ (Mental Health Anywhere) เบื้องต้นได้เข้าไปเยี่ยมดูแลอาการผู้บาดเจ็บและญาติผู้สูญเสีย พร้อมทั้งได้มีการเปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ณ บริเวณศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งมีทีมสหวิชาชีพด้านสุขภาพจิต คอยให้บริการและคำปรึกษาแก่ผู้มาใช้บริการ

สยามพารากอน มีผู้มาใช้บริการกว่า 1 แสนคนต่อวัน พบว่า จากการประเมินสุขภาพจิตและให้คำปรึกษาเบื้องต้น ตั้งแต่ 15.00 - 20.00 น. วันที่ 4 ตุลาคม 2566 มีผู้เข้ารับการประเมินแล้ว  23 ราย มีความเสี่ยงสูง 9 ราย มีความเสี่ยงปานกลาง 11 ราย และมีความเสี่ยงต่ำ 1 ราย ซึ่งทุกท่านได้รับคำแนะนำให้คำปรึกษาการดูแลเยียวยาจิตใจ หรือการปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้นและการติดตามดูแลต่อเนื่อง

“การเปิดศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ ที่สยามพารากอนครั้งนี้ เป็นเหมือนคลินิกประเมินร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่ศูนย์ประเมินผู้ป่วยบำบัดทางจิต ดังนั้น  ผู้ที่อยู่ในย่านนี้ พนักงาน หรือผู้ที่ต้องการคำปรึกษา ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ย่านปทุมวัน หรือ Care D+ Space (แคร์ ดี พลัส สเปส) ไม่ว่าจะเป็นคนไทย หรือชาวต่างชาติสามารถเข้ารับบริการได้ โดยศูนย์ดังกล่าวจะเปิดให้บริการ อย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยจะมีทีมสหวิชาชีพจากหน่วยงานในสังกัดกรมสุขภาพจิตร่วมกับกรุงเทพมหานคร ดูแลเยียวยาจิตใจ”นพ.ชลน่าน กล่าว

เปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (MCATT) @ สยามพารากอน เช็กสภาพจิตใจเหตุกราดยิง

 

2 นาที อ่านผลประเมินภาวะทางจิตใจ

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่าศูนย์เยียวยาทางด้านจิตใจ เป็นการช่วยดูแลสภาพจิตใจ  และเป็นการให้กำลังใจ แก่พี่น้องที่ประสบเหตุ  หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่การประเมินเบื้องต้น การแบ่งแยกระดับความรุนแรง การตรวจวัดระดับความเครียด  ตรวจจากสภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 นาที ก็สามารถแสดงผลจากระดับสารในร่างกาย ลักษณะของเส้นเลือด และอื่นๆ พร้อมทั้งให้คำปรึกษา  และถ้ามีความจำเป็นที่ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญ จะมีจิตแพทย์ที่ปรึกษาทางระบบTelemedicine (การแพทย์ทางไกล) รวมถึงมีการให้ยารักษาอาการเบื้องต้น และการส่งต่อไปยังสถานบริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ในกรณีที่ผู้ประสบเหตุมีภาวะอาการทางจิตเร่งด่วนฉุกเฉินรุนแรง

“การตรวจค้นสภาวะทางจิตใจ ไม่ว่าจะมีบาดแผลมากหรือน้อย แต่หากได้รับการตรวจค้นโดยเร็ว ให้คำปรึกษา และรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งการประเมินดังกล่าวมีความแม่นมากกว่าหมอดู  อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมประเมินตรวจสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต สุขภาพปัญญา  และสุขภาพสังคม เพราะถ้าทั้ง 4 มิติด้านสุขภาพสอดคล้องกันไม่มีปัญหา ก็จะเกิดสุขภาวะที่ดีต่อทุกคนและสังคม  ยิ่งในยุคนี้ ผลจากสุขภาพทางปัญญา นั่นคือความรอบรู้ ความเข้าใจ การตอบสนองต่อเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ได้ส่งผลสะท้อนกลับมาสู่สุขภาพสังคมจำนวนมาก อย่าง กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นตัวอย่าง” นพ.ชลน่าน กล่าว

เปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (MCATT) @ สยามพารากอน เช็กสภาพจิตใจเหตุกราดยิง

ทำงานเชิกรุก เช็กดูแลสุขภาพจิตใจเด็ก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลสุขภาพของคนไทย ซึ่งสธ.ได้ออกแบบนโยบายการดูแลสุขภาพ ที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาพจิตใจ การแก้ปัญหายาเสพติด ความรุนแรง และพฤติกรรมลอกเลียนแบบต่างๆ  ต่อจากนี้คนไทยหากต้องการตรวจสุขภาพตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ สติปัญญา จะต้องสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ การได้รับคำปรึกษาทุกช่องทาง

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า นอกจากคนในสังคมแล้ว สธ.ได้มอบหมายให้ทางกรมสุขภาพจิตประสานไปกับโรงเรียน มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อดูแล ศึกษาสภาพจิตใจของเด็ก และช่วยให้เด็กได้ตรวจเช็กสภาพกาย และจิตใจของพวกเขา เพราะการดูแลสุขภาพจิตใจของเด็กมีความสำคัญอย่างมาก

ด้าน  พญ.อัมพร กล่าวว่าตามนโยบายของรมว.สธ. ทางกรมสุขภาพจิต ได้มีการทำงานเชิกรุก ลงไปในพื้นที่สถานศึกษา โรงเรียนต่างๆ เพื่อทำการคัดกรอง ให้คำปรึกษา และส่งต่อที่เหมาะสม  รวมถึงเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกายและจิตใจของตนเอง วิธีการรับมือเมื่อเจอสภาวะความเครียด กดดัน รวมทั้งมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

เปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (MCATT) @ สยามพารากอน เช็กสภาพจิตใจเหตุกราดยิง

“ติดเกม” เป็นปัญหาทางสุขภาพจิตไม่ใช่จิตเภท

พญ.อัมพร  กล่าวต่อว่าสำหรับส่วนปัญหาการติดเกมนั้น จากกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่เป็นพฤติกรรมส่วนหนึ่งที่จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก ซึ่งถือเป็นงานสำคัญของกรมสุขภาพจิต เพราะเมื่อใดก็ตามที่เด็กติดเกม จนเกิดความหมกมุ่นกระทบต่อชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน หรือความสัมพันธ์ในครอบครัว คนรอบตัว ตัดขาดจากสังคม สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัญหาสุขภาพจิตเช่นกันแม้จะไม่ใช่โรคจิตเภทก็ตาม

"พฤติกรรมความรุนแรง  เป็นสิ่งที่องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องจับสารให้ทัน และกำจัดออกไปจากสังคมให้รวดเร็วที่สุด เช่นเดียวกันยาเสพติด  และพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ อยากจะฝากสื่อ หรือการแชร์ข้อมูลทางโซเซียลมีเดีย ที่หากลงรายละเอียดลึกจนเกิดไป คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ อาจจะจดจำและเลียนแบบได้ เพราะที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ก็มักจะเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น  ไม่ควรนำเสนอให้ผู้ก่อเหตุมีบทบาทในสื่อ หรือโซเซียลมีเดีย แต่ควรนำเสนอในเรื่องของการป้องกัน และการดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ"พญ.อัมพร กล่าว

เปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (MCATT) @ สยามพารากอน เช็กสภาพจิตใจเหตุกราดยิง

ทั้งนี้  Care D+ Space @ SIAM PARAGON พร้อมให้บริการคัดกรองสุขภาพจิตผ่านช่องทางดิจิทัล การให้บริการประเมินด้วยเครื่อง Biofeedback เพื่อฝึกให้สามารถควบคุมร่างกายของตนเองลดภาวะเครียด และการให้คำปรึกษาแนะนำดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้น และหากพบว่าผู้รับการประเมินมีความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตจะมีเจ้าหน้าที่โทรติดตามประเมินอาการและให้คำแนะนำเข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป พร้อมกันนี้ กรมสุขภาพจิตเปิดบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ 1667 เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

เปิด ‘ศูนย์ดูแลเยียวยาจิตใจ’ (MCATT) @ สยามพารากอน เช็กสภาพจิตใจเหตุกราดยิง