อัพระบบบริการสุขภาพ แบ่งระบบโรงพยาบาลแบบ SAP สู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ

อัพระบบบริการสุขภาพ แบ่งระบบโรงพยาบาลแบบ SAP สู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ

สธ.ยกระดับศักยภาพบริการสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ ย้ำแบ่งระบบโรงพยาบาลแบบใหม่ SAP ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน 

Keypoint:

  • สธ.ขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน เพื่อลดอัตราป่วย ตาย ภาวะแทรกซ้อน ลดแออัด และลดเวลารอคอย
  • โรงพยาบาลในสังกัดเป็นโรงพยาบาลของประชาชน ที่ต้องการการบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา และมีประสิทธิภาพ 
  • แบ่งโรงพยาบาลแบบใหม่ SAP ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน 

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)โดยกองบริหารบริการสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ(Service Plan) ภายใต้หลักการ เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ เริ่มดำเนินการในปี 2555 ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญ

โดยเป้าหมายของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทันท่วงที ลดอัตราป่วย ลดอัตราตาย ลดภาวะแทรกซ้อน ลดแออัด และลดเวลารอคอย  มีการพัฒนาต่อยอดมาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมี 19 สาขา แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเร่งรัดพัฒนาเพื่อเข้าถึงบริการ กลุ่มขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฎิบัติ  กลุ่มพัฒนาต่อยอดเพื่อความเป็นเลิศ และกลุ่มขับเคลื่อนการพัฒนา รวมถึงดำเนินการนโยบายปฎิรูประบบสุขภาพ มีผลงานที่ประจักษ์

อาทิ การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ในปี 2563-2565 สามารถสวนหัวใจได้มากกว่า 40,000 ราย ผ่าตัดหัวใจมากกว่า 17,291 ราย การรักษาผู้ป่วยด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือดสมอง 687 ราย ให้บริการ 24 ชม.ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ  และมีบริการหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ อัตราตายลดลงเหลือร้อยละ 8.13 พัฒนาระบบ AOC ได้ครบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ มีระบบแพทย์ทางไกล เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยอย่างปลอดภัย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สปสช. แจง ตรวจยีนมะเร็งเต้านม ในผู้ป่วยเสี่ยงสูง ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา

‘SIIT ธรรมศาสตร์’ เปิดโอกาสเรียนรู้ ‘วิศวะฯ-เทคโนโลยี’ต่อยอดสู่ผู้บริหาร

ตลาดอุตสาหกรรมเสริมอาหารพุ่ง 8.7 หมื่นล้านบาท ชวนชมบูธMaydi International

 

โรงพยาบาลสังกัดสธ. เป็นโรงพยาบาลของประชาชน

ขณะที่ทารกที่มีภาวะวิกฤต ทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวน้อย มีเตียง NICU 1:321 สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก พัฒนา ANC คุณภาพ เพื่อลดอัตราคลอดก่อนกำหนด และลดการเกิดผู้ป่วยธาลัสซีเมียรายใหม่  การรักษาที่ได้มาตรฐาน นอกจากนั้น มีการเปิดศูนย์ถ่ายไต 11 แห่ง ศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา 22 แห่ง เป็นต้น

การประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ภายใต้ ‘ทศวรรษที่ 2 ยกระดับศักยภาพบริการสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ’ ระหว่างวันที่ 24 – 25 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เป็นพิธีกล่าวเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ ‘ยกระดับศักยภาพบริการสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ’ ว่า โจทย์สำคัญของวันนี้คือ One Service One Hospital ซึ่งคำนี้เป็นเพียงพิธีการ แต่เป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้นจริงๆ คือ อยากให้ทุกคนมองว่าโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นโรงพยาบาลของประชาชน

ส่วนใหญ่ทุกคนมักจะมองว่าตนเองสังกัดโรงพยาบาลไหน โรงพยาบาลนั้นก็จะเป็นของตน อยากให้ปรับความคิดว่าโรงพยาบาลไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ของหมอ ของพยาบาล และจะทำอย่างไรให้โรงพยาบาลเป็นของประชาชนจริงๆ ซึ่งต้องเข้าถึงความต้องการของประชาชน ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

 

ยกระดับการบริการสุขภาพ แบ่งโรงพยาบาลแบบใหม่ SAP 

“ผมทำงานมาทั้งรพ.ชุมชน รพ.ทั่วไป และรพ.ศูนย์ เห็นความต้องการของประชาชนปี 2533 กว่ามาถึงปี 2566  ไม่เหมือนกัน เราจะยึดภาพเดิมๆ ไม่ได้ และต้องพัฒนายกระดับการบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่อง  Service Plan  เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2555 เห็นปัญหาการให้บริการหลายส่วนทั้งเรื่องอุบัติเหตุ การดูแลผู้ป่วยเด็กแรกเกิด เป็นเสมือนระบบพี่ช่วยน้องและน้องช่วยพี่ เป็นการนำคนที่มีความรู้ในเชิงลึกแบบเดียวกัน มาสร้างเครือข่าย เพื่อให้เกิดการบริการที่ดี มีคุณภาพแก่ประชาชน โดย Pain Point ของประชาชน ต้องการการบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา และมีประสิทธิภาพ ขณะที่ Pain Point ผู้ให้บริการ ต้องการค่าตอบแทน สวัสดิการ ภาระงานและความก้าวหน้า” นพ.โอภาส กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในระบบสาธารณสุขของโลกโดยความท้าทายของระบบสาธารณสุขไทย คือการเปลี่ยนแปลงของโลกจาก VUCA World สู่BANI World ซึ่งโลกในยุค BANI World จะเป็นโลกที่ Brittle เปราะบาง มาเร็วไปเร็ว ช่วงอายุสิ่งต่างๆ จะสั้นลงและพังทลายได้ง่าย Anxious สร้างความกังวล สับสนจากข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย Nonlinear คาดเดายาก  ไม่สามารถทำนายได้ง่าย เพราะไม่เป็นสมการชัดเจนและอดีตไม่อาจเป็นเครื่องชี้อนาคตได้เสมอไป และ Incomprehensible ความไม่เข้าใจ ยากที่จะทำความเข้าใจ ข้อมูลมีจำนวนมาก ซับซ้อน ละเอียดมากขึ้น ข้อมูลท่วมหัวเอาตัวไม่รอด

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่าขณะนี้ประเทศไทยพึ่งผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไทยเสียชีวิตน้อยกว่าประเทศมหาอำนาจมากมาย ต่อจากนี้ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของโรคใหม่ๆ โดยต้องมีกลไกการจัดการ  ทำอย่างไรให้โรงงานวัคซีนมีประสิทธิภาพ และต้องพร้อมรับมือความขัดแย้งในระดับโลกที่จะเกิดขึ้น  เพราะไม่ว่าจะเกิดสงครามที่ไหน ล้วนส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ต้องมาทบทวนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ระบบสาธารณสุขมีการพัฒนามาแล้ว 105 ปี ซึ่งโรคยุคใหม่ สังคมยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไป  เมื่อก่อนคนจะอยู่ในชนบทแต่ตอนนี้คนในชนบท หรือในเมือง คุณภาพชีวิตไม่ได้แตกต่างกันมาก การยกระดับบริการการแพทย์และสาธารณสุขสู่ระบบดิจิตอลนั้น เป็นการใช้ระบบการแพทย์ทางไกล เพื่อลดการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายแก่ประเทศ พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ เพิ่ม Cyber security  และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ ได้มีการจัดแบ่งระดับของโรงพยาบาล(รพ.) ตามกฎหมายในการสื่อสารภายนอกจะเป็น รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน และมี รพ.สต. แต่การแบ่งระดับเพื่อสื่อสารกันภายในกระทรวงฯ เดิมเราจะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ F : Fundamental , M : Middle , S : Standard และ A : Advance ซึ่งเราปรับระดับตามจำนวนเตียงและศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย แต่เมื่อไปดูตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไม่ได้ขาดมาก

อย่าง F แบ่งเป็น F3 F2 F1 โดย F3 หากพัฒนาก็ต้องขยับไปเป็น F2 สักขั้นหนึ่ง ก็เลยเกิดแนวคิดใหม่ว่าเรามาปรับระดับ รพ.เราใหม่ เราไม่เอา F M S A แล้ว เพราะเข้าใจยาก ก็เลยเป็นไปได้ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้กำหนดกติกาใหม่  เรียกว่า SAP แปลว่าอร่อย หรือสุดยอด

โดย ระดับ รพ.แบบใหม่ SAP ประกอบด้วย

S : Standard

รพ.แบบมาตรฐาน โดยทุก รพ.ต้องมีมาตรฐานก่อน ซึ่งจะมีมาตรฐานกลางก่อนคืออะไร รพ.ชุมชนก็ต้องมีมาตรฐานแบบ รพ.ชุมชน ส่วน รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปก็ต้องมีมาตรฐานแบบ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป อีกแบบหนึ่ง

A : Academy

คือการสอนคนอื่นได้ เนื่องจาก รพ.ของ สธ.หลายแห่ง โดยเฉพาะ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปมีนักศึกษาแพทย์ มีแพทย์มาฝึกเป็นแพทย์เฉพาะทาง มีพยาบาลมาฝึก ถือเป็นอีกภารกิจของกระทรวงฯ เนื่องจากเวลากระทรวงฯ ฝึกบุคลากรก็เหมาะกับการมาใช้งานของเรา เดิมมหาวิทยาลัยผลิตก็ไม่ได้ตรงกับความต้องการ

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เอา รพ.ของ สธ.เป็นแหล่งผลิตนักศึกษาแพทย์และพยาบาลของเขาด้วยซ้ำ ทำไมเราไม่พัฒนาของเรา เวลาเราสอนคนมันก็เพิ่มศักยภาพ ดังนั้น เมื่อมี Standard แล้ว หากมีสอนคนอื่นด้วยก็แสดงว่าศักยภาพคุณต้องเพิ่มขึ้น ก็เปลี่ยนเป็นระดับ Academy

P : Premium/Professional

จะเป็นระดับสุดยอด ต้องเทียบเท่ากับ รพ.มหาวิทยาลัย ซึ่งหลายที่มีศักยภาพแบบนั้น เช่น รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.ศูนย์ระดับใหญ่ที่รับนักศึกษาแพทย์ได้เยอะ เป็นต้น ซึ่งแม้แต่ รพ.ชุมชนก็สามารถพัฒนาเป็นระดับ Premium ได้หากทุกอย่างดเข้าเกณฑ์

“สิ่งที่จะยกระดับสธ.ต่อไป ต้องเป็นแหล่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้โรงเรียนแพทย์มีจำนวนมาก แต่หลายแห่งผลิตบุคลากรไม่ตรงกับความต้องการของสาธารณสุข ดังนั้น การบริหารจัดการกำลังคน สธ.มีศักยภาพในการพัฒนาบุคลากรในอนาคต  โดยมีแนวทางพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เชื่อมโยงกำลังคนด้านสุขภาพในทุกระดับบริการ การมีส่วนร่วมด้านบุคลากรของภาคเครือข่ายสุขภาพจากทุกภาคส่วน ใช้เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพ และพัฒนาระบบจัดหากำลังคน ส่งเสริมความก้าวหน้าแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข”นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่าถ้ามีศักยภาพพร้อมทั้งเรื่องคน ความรู้ เงิน จะช่วยยกระดับความพร้อมในการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน เพื่อทำให้คนไทยมีชีวิตยืนยาว สุขภาพที่ดี คนไทยเสียชีวิตจาก 3 เรื่องหลักๆ คือ

1. อุบัติเหตุ  

2.โรคหลอดเลือดและหัวใจ รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง ต้องได้รับการช่วยเหลือดูแล ระบบการรักษาอย่างทันท่วงที

3.โรคมะเร็ง ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตของคนไทย ต้องมีการจัดบริการรักษามะเร็ง แต่สิ่งที่อยากฝากไว้ คือ โรคมะเร็ง ที่ผ่านมาเน้นเรื่องการรักษา แต่ระบบใหม่ควรเน้นเรื่องป้องกัน การคัดกรองแต่เบื้องต้น และการรักษาให้มีความเชื่อมโยงกัน  ดังนั้น Service Plan  ต้องเป็นระบบแบบบูรณาการที่เป็นรูปธรรม

“ในรอบ 5 ปี มีแพทย์เพิ่มขึ้น 1,000 คน ต่อปี จาก 7400 คน เป็น 10000 กว่าคน เราไม่ได้ขาดแคลนแต่เราต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้น และต้องดูแลบุคลากรทั้ง เรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้า และเรื่องภาระงาน เพราะบุคลากรถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบบริการ อย่างไรก็ตาม การยกระดับบริการสาธารณสุขไทย โรงพยาบาลของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เพิ่มศักยภาพการบริการตามความต้องการของประชาชน บริบท ศักยภาพ และความพร้อมของพื้นที่ โดยมุ่งเรื่องความเท่าเทียม เป็นธรรม สิทธิมนุษยชน ประสิทธิภาพ และความมั่นคงทางสุขภาพ” นพ.โอภาส กล่าว