‘SIIT ธรรมศาสตร์’ เปิดโอกาสเรียนรู้ ‘วิศวะฯ-เทคโนโลยี’ต่อยอดสู่ผู้บริหาร

‘SIIT ธรรมศาสตร์’ เปิดโอกาสเรียนรู้ ‘วิศวะฯ-เทคโนโลยี’ต่อยอดสู่ผู้บริหาร

วิสัยทัศน์ ‘SIIT ธรรมศาสตร์’ ประกาศมอบทุน OSP กว่า 100 ทุน เปิดโอกาสเรียนรู้ ‘วิศวะฯ-เทคโนโลยี’ ต่อยอดทักษะสู่การเป็น ‘ผู้บริหารชั้นนำ’

ศ.ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ทุนมนุษย์เป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ และมีงานวิจัยที่ยืนยันว่า ‘การลงทุนในเรื่องของการศึกษา’ นับเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ และยังสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันมีผู้ที่ลงทุนด้านการศึกษาอยู่หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่ต้องลงทุนกับระบบการศึกษาของประเทศ ครอบครัวและผู้ปกครองที่ลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลาน ในขณะที่สถาบันการศึกษาก็ลงทุนในบริการด้านการศึกษา ให้กับนักศึกษาของตัวเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

‘ธรรมศาสตร์’ จับมือ 25 องค์กร ยกระดับ EECmd มุ่งสู่ศูนย์กลางการแพทย์ระดับโลก

แก่ไม่แก่ ก็เสี่ยงได้..'โรคกระดูกสันหลังเสื่อม' ผลร้ายจากพฤติกรรม

เฝ้าระวัง!! ฝีดาษลิงระบาดหนัก เผยติดเชื้อทางน้ำลาย และละอองฝอยได้

 

SIITลงทุนกับการศึกษาทั้งเทคโนโลยีและทุนการศึกษา

สำหรับ SIIT ให้ความสำคัญและลงทุนกับการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก  

  • ส่วนแรก ได้แก่ การลงทุนกับเครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนการสอน บุคลากร อาจารย์ ตลอดจนอาคาร สถานที่ ห้องเรียนที่ทันสมัย โดยเฉพาะหลังโควิด-19 ที่ได้ปรับปรุงห้องเรียนให้พร้อมสำหรับการเรียนการสอนแบบใหม่ สอดรับกับรูปแบบ Active Learning ปรับปรุงห้องสมุดสู่ Co-working Space ตลอดจนการลงทุนสร้างอาคารปฏิบัติการ เป็นต้น
  • ส่วนที่สองคือ การลงทุนผ่านการให้ ‘ทุนการศึกษา’ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสนับสนุนนักเรียนที่มีศักยภาพ โดย SIIT ให้ทุนในหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือโครงการสอบชิงทุนสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศ หรือ Outstanding Student Program (OSP) ที่มีกว่า 100 ทุนเป็นประจำทุกปี ช่วยให้นักเรียนที่เรียนดีได้มีโอกาสเข้ามาพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีอันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานในโลกอุตสาหกรรมยุคอนาคต

‘SIIT ธรรมศาสตร์’ เปิดโอกาสเรียนรู้ ‘วิศวะฯ-เทคโนโลยี’ต่อยอดสู่ผู้บริหาร

“หากเราสังเกตผู้บริหารในตำแหน่งสูงๆ ที่อยู่ตามองค์กรขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ มีการจบการศึกษาในสายนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งคิดว่าเหตุผลหนึ่งคือผู้ที่เรียนจบด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี จะได้รับทักษะในด้านการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และการคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) ฝังติดตัวไปด้วย นั่นทำให้เมื่อเผชิญกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เขาสามารถคิดหาทางแก้ไขได้อย่างเป็นระบบ ส่งผลให้มีโอกาสเจริญเติบโตก้าวหน้าตามไปด้วย” ศ.ดร.พฤทธา กล่าว

 

เรียนวิศวะ เทคโนโลยี ก้าวสู่การเป็นผู้บริหารชั้นนำ

ศ.ดร.พฤทธา กล่าวว่า สำหรับการเรียนการสอนในรั้ว SIIT จะมีองค์ประกอบอย่างน้อย 2 เรื่อง หนึ่งคือ ‘วิชาความรู้’ ซึ่งแน่นอนว่าทาง SIIT จะต้องมอบความรู้ที่ใหม่ล่าสุด ณ วันนั้นให้กับนักศึกษา แต่แน่นอนว่า เมื่อถึงวันหนึ่งความรู้เหล่านั้นก็อาจหมดอายุ ฉะนั้นจึงนำไปสู่องค์ประกอบสำคัญถัดมา นั่นคือการมอบ ‘ทักษะความสามารถในการแก้ไขปัญหา’ ฝึกฝนให้นักศึกษาเคยชินกับการแสวงหาความรู้ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ดี

“นักศึกษาที่เข้ามาเรียน SIIT จะมีโอกาสต่างๆ มากมายนอกเหนือไปจากประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติ เพราะเรายังเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกับบริษัทและมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ จึงมีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำกิจกรรม ตลอดจนร่วมแสดงศักยภาพในเวทีต่างๆ และเครือข่ายที่มีเหล่านี้ก็ยังส่งผลไปถึงอนาคตของนักศึกษา ที่มีทั้งช่องทางการเรียนต่อ รวมไปถึงการทำงาน ซึ่งตัวเลขสถิติที่สะท้อนออกมาก็แสดงให้เห็นว่านักศึกษาของเรา มีอัตราการได้งาน อัตราเงินเดือน รวมถึงระดับความพึงพอใจจากนายจ้าง มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ” ศ.ดร.พฤทธา กล่าว

ด้าน รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ภานุวัฒน์วนิชย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายรับเข้าศึกษาและประชาสัมพันธ์ SIIT กล่าวว่า โครงการสอบชิงทุน OSP ในปีการศึกษา 2567 นี้ จะมีทั้งสิ้นกว่า 100 ทุนการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. ทุนเต็มจำนวน 2. ทุนครึ่งจำนวน และ 3. ทุนบางส่วน โดยนักเรียนที่สนใจสามารถสมัครได้ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม - 30 กันยายน 2566 ส่วนการสอบจะมีขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สงขลา และอุดรธานี

‘SIIT ธรรมศาสตร์’ เปิดโอกาสเรียนรู้ ‘วิศวะฯ-เทคโนโลยี’ต่อยอดสู่ผู้บริหาร

ในส่วนของเกณฑ์การสอบชิงทุนยังคงเหมือนกับปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการปรับลด GPA ลงจาก 2.75 เหลือ 2.5 อันจะช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนเข้ามาสอบชิงทุนได้มากขึ้น ในขณะที่ยังคงได้นักเรียนเก่งเข้ามาในระบบ โดยโครงการสอบชิงทุนดังกล่าวนั้นจะยังเป็นการช่วยส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความสามารถ ได้รับโอกาสการต่อยอดที่มากขึ้น สะท้อนจากการแข่งขันในหลากหลายเวที รวมไปถึงการสอบชิงทุนศึกษาต่อต่างประเทศต่างๆ เช่น ของรัฐบาลญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ฯลฯ ที่พบว่ามีนักศึกษาจากโครงการสอบชิงทุนดังกล่าวได้รับการคัดเลือกเป็นจำนวนมาก

“ที่ผ่านมาโครงการสอบชิงทุน OSP ได้ช่วยดึงนักเรียนที่เรียนดีให้ได้รับโอกาสเข้ามาในรั้ว SIIT ไม่เพียงในแง่ของทักษะความรู้เท่านั้น แต่ยังมาพร้อมวินัยในการเรียน การใช้ชีวิต ที่เข้ามาช่วยหล่อหลอมให้ภาพรวมของ SIIT เกิดวัฒนธรรมของความเป็นเลิศ หรือ Culture of Excellence ทั้งในแง่การเรียน การทำงาน ส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาทั้งหมด” รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว 

รองผู้อำนวยการ SIIT กล่าวต่อไปว่า เนื่องด้วยเกณฑ์การใช้คะแนน GPA ที่ไม่สูง รวมถึงการสมัครสอบที่ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด จึงอยากเชิญชวนให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าสมัครสอบ ท้าทายตนเอง ซึ่งหากมีความตั้งใจศึกษาและเตรียมตัวที่ดี ก็มีสิทธิที่จะได้รับทุน หรือมีสิทธิเข้าศึกษาต่อ รวมถึงโอกาสในการต่อยอดในอนาคต โดยนักเรียนที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์  https://admissions.siit.tu.ac.th