ทั่วโลกเดินหน้า ห้าม! 'บุหรี่ไฟฟ้า'มากขึ้น

ทั่วโลกเดินหน้า ห้าม! 'บุหรี่ไฟฟ้า'มากขึ้น

“หมอประกิต”เผยทั่วโลกเดินหน้า ห้ามบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น จาก 32 ประเทศ เป็น 39  ประเทศ/ ดินแดน ฝากถึงรัฐบาลใหม่ต้องรอบคอบ ขณะที่หัวหน้า WHO FCTC   หนุนไทยคงมาตรการห้ามต่อไป ลั่นเก็บภาษีได้ไม่คุ้มเสีย นิโคตินทำลายสมองเด็ก

     เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข  นายอนุทิน  ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.เอเดรียน่า แบลนโค มาร์กิโซ (Dr. Adriana Blanco Marquizo) หัวหน้าสำนักเลขาธิการกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก(WHO) และศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว การประเมินความจำเป็น (Needs Assessment) เกี่ยวกับการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทย
ไทย

       นายอนุทิน กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งเป็นพันธกรณีระหว่างประเทศที่รัฐภาคีต้องปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาฯ อย่างเคร่งครัด โดยที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ออกนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าว
       รวมถึงตรากฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ควบคุมและคุ้มครองสุขภาพประชาชนให้ปลอดจากโทษ พิษภัย และผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมความเข้มแข็งศักยภาพการดำเนินงานควบคุมยาสูบให้เกิดประสิทธิภาพ นำไปสู่การจัดการปัญหาโรคไม่ติดต่ออย่างยั่งยืน

ทั่วโลกเดินหน้า ห้าม! \'บุหรี่ไฟฟ้า\'มากขึ้น

      การโฆษณาความเชื่อต่างๆ ว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป มีประโยชน์มากกว่าบุหรี่ทั่วไป สามารถทำให้เลิกสูบบุหรี่นั้น ดร.เอเดรียน่ายืนยันในที่ประชุมว่า ข้อมูลเหล่านี้ไม่เป็นความจริงทั้งหมด ซึ่ง สธ.ยืนยันว่า การบริโภคยาสูบไม่ว่าชนิดใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นใบยาหรือบุหรี่ไฟฟ้า กรมควบคุมโรคและ สธ.ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ไม่สามารถให้การสนับสนุนหรือเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการใช้บุหรี่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม 
       ยืนยันในเจตนารมณ์นี้ เพราะจากข้อมูลต่างๆ ที่เรามี เมื่อเทียบกับโทษที่ประชาชนจะได้รับจากบุหรี่ไฟฟ้า จึงยังไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือปรับปรุงได้ โดยแนวทางของ สธ.สอดคล้องกับ WHO ซึ่งรับผิดชอบดูแลสุขภาพประชากรโลก ที่ยังเชื่อมั่นว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นอันตราย

     "ที่พูดถึงเรื่องภาษีสรรพสามิต ก็ไม่ได้ทำให้เกิดภาษีใดๆ มากขึ้น รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดนี้ที่จะหมดวาระลงไป หรือรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามา ทุกรัฐบาลคงต้องคำนึงถึงสุขภาพของพี่น้องประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ส่วนการเก็บภาษีก็คงเป็นเรื่องลำดับรอง" นายอนุทินกล่าว

  หนุนไทยคงการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า

       ด้าน ดร.เอเดรียน่า แบลนโค มาร์กิโซ  กล่าวว่า สนับสนุนให้ประเทศไทยคงมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการติดนิโคติน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจยาสูบ ในการพยายามล่อลวงให้เด็กและเยาวชนเริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้า ด้วยวิธีการสร้างภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ให้มีความเย้ายวน น่าสนใจและสร้างกลิ่น รสชาติที่มีความจูงใจ และกล่าวอ้างว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่าสำหรับผู้สูบบุหรี่

ทั่วโลกเดินหน้า ห้าม! \'บุหรี่ไฟฟ้า\'มากขึ้น
            ประเทศไทยควรเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการโฆษณาและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้นักสูบหน้าใหม่เข้าถึงง่าย ควบคู่กับการสร้างการรับรู้และการตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ประชาชน รวมถึงควรพัฒนาขีดความสามารถการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญา WHO FCTC ทั้งในระดับส่วนกลางและขยายลงสู่พื้นที่ ผ่านกลไกความร่วมมือเพื่อการควบคุมยาสูบของประเทศ
    ภาษีบุหรี่ไฟฟ้าได้ไม่คุ้มเสีย
        ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีการะบุว่าทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายจะเก็บภาษีเข้ารัฐได้ ดร.เอเดรียน่า กล่าวว่า  ภาษีเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะขณะนี้ผู้บริโภคบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ดังนั้น การหวังว่าจะได้ภาษีเป็นกอบเป็นกำจากส่วนนี้ จึงไม่ได้ในตอนนี้ และหากมีการเก็บภาษีมากขึ้นก็หมายความว่า ผู้บริโภคจะมากขึ้นด้วยเช่นกัน การที่มีผู้บริโภคมากขึ้นตรงนี้เป็นกำไรของบริษัทที่จำหน่าย แต่ไม่ใช่กำไรของภาครัฐ ที่ได้ภาษีมาเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ต้องเสียไปกับการดูแลสุขภาพ
      ในทางอุตสาหกรรมเรียกว่าได้คืบจะเอาศอก เพราะเมื่อเข้ามาแล้วก็จะบอกว่า ขอภาษีต่ำลง จะได้ขายได้ เป็นการเปิดตลาด กลายเป็นว่าคนสูบบุหรี่อย่างหนึ่ง ก็จะมาซื้อของเขา แม้เราจะได้ภาษีจริง แต่หักค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เป็นค่าใช้จ่ายระยะยาวแล้วถามว่าคุ้มกันหรือไม่ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยสูบเข้ามาสู่เป็นการเป็นนักสูบหน้าใหม่ และยิ่งเป็นเด็กๆ สมองก็จะถูกทำร้ายด้วยนิโคติน เป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลด้านสาธารณสุข

        “ไม่มีประเทศที่ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าแล้วกลับคืน ห้ามแล้วห้ามเลยไม่เปลี่ยนแปลง และขณะนี้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ไม่มีข้อไหนที่แนะนำว่า ควรจะให้ถูกกฎหมายหรือเป็นสิ่งดีต่อสุขภาพฉะนั้น จึงยืนยันแน่นอนว่า ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงไป คนที่จะได้รับผลกระทบ คือ เยาวชน การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบของเยาวชนจะเพิ่มมากขึ้น จะเป็นปัญหาที่สำคัญต่อไป ดังนั้น คำแนะนำคือ ห้ามแล้วต้องไม่ยกเลิก”ดร.เอดรียน่ากล่าว  

   39 ประเทศ/ดินแดนห้ามบุหรี่ไฟฟ้า
      ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า  กรอบอนุสัญญา WHO FCTC ถือเป็นเครื่องมือสำคัญของการควบคุมยาสูบซึ่งรัฐภาคีได้มีฉันทามติรับรอง และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลกถึงความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการนำมาใช้เป็นแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรอิสระ ร่วมมือกันเสนอนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ กำหนดมาตรการการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ
         การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่และการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสุขภาพของผู้เสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยประเทศไทยนำมาใช้เป็นทิศทางและขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด
บุหรี่ไฟฟ้าฝากถึงรัฐบาลใหม่
         “ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก(WHO)จากเดิมที่มี 32 ประเทศ ห้ามบุหรี่ไฟฟ้า แต่เมื่อธันวาคม 2565 เพิ่มเป็น 35 ประเทศ แต่ล่าสุดเพิ่มเป็น 37 ประเทศ ฮ่องกง ไต้หวัน รวม 39 ประเทศ/ดินแดน  เพราะเห็นว่าไม่สามารถควบคุมได้ จึงห้ามเลย ดังนั้น  ในประเทศไทย รัฐบาลใหม่ถ้าจะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าจากที่ผิดกฎหมายเป็นถูกกฎหมาย จะเป็นประเทศแรกในโลกที่เปลี่ยนจากการห้ามมาเป็นให้ใช้ได้ เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาให้รอบคอบว่าทำไมจากที่ห้ามแล้วจะเปลี่ยนไปอนุญาต”ศ.นพ.ประกิตกล่าว