เด็กปฐมวัยกว่า 9 หมื่นคน ผู้ดูแลรับเงินอุดหนุนรัฐ แต่ใช้สารเสพติด

เด็กปฐมวัยกว่า 9 หมื่นคน ผู้ดูแลรับเงินอุดหนุนรัฐ แต่ใช้สารเสพติด

เด็กปฐมวัยกว่า 9 หมื่นคน ผู้ดูแลใช้สารเสพติด ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ทั้งที่รัฐให้เงินอุดหนุนแรกเกิด 600 บาท เสี่ยงเติบโตเข้าสู่วงจรยาเสพติด  วอนรัฐบาลใหม่ลงทุนเสริมภูมิต้านทานให้เด็ก ผ่านเครื่องมือEF ยกเลิกนโยบายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า -กัญชา

Keypoints :

  •   ประมาณการ ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1.9 ล้านคน เข้าบำบัดระบบสาธารณสุขเฉลี่ยปีละราว 2 แสนคน เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 15ปี – 24 ปี ราว 54,000 คน
  •   ความเสี่ยงของเด็กปฐมวัยต่อการเลี้ยงดูที่เสี่ยงต่อยาเสพติด กว่า 9 หมื่นอยู่ในการเลี้ยงดูผู้ดูแลได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ที่ใช้สารเสพติด
  • ผลการศึกษานำเครื่องมือ “EF พัฒนาทักษะสมองเพื่อการบริหารจัดการชีวิต” มาใช้พัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อเสริมภูมิต้านทาน ป้องกันยาสพติดในอนาคต

          เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2566 ที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มีการแถลงข่าว "วอนรัฐบาลใหม่เร่งสร้างภูมิต้านทานตั้งแต่ปฐมวัย เติบโตไปไม่ใช้ยาเสพติด"โดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยามหิดล  ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม

      น.ส.อารีภักดิ์ เงินบำรุง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ป.ป.ส. กล่าวว่า  การบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จะแยกเป็น ผู้ใช้ 5% ผู้เสพที่เข้ารับการบำบักฟื้นฟูระดับปฐมภูมิที่รพ.สต.หรือรพ.ชุมชน  65 % ผู้ติด 25 % และผู้ติดรุนแรงเรื้อรัง 5 % ใน 2 ส่วนหลังมีราว 15-20 % มีโรคร่วมทางจิตเวชและมีพฤติกรรมเสี่ยงก่อความรุนแรง ทั้งนี้ สถิติผู้เข้ารับการบำบัดรักษาทั่วประเทศ ระหว่างปี  2562-2564 พบว่า

  • ปี 2562 จำนวน 263,834 คน  
  • ปี2563 จำนวน 222,627 คน
  • และปี 2564  จำนวน 179,619 คน
  • สัดส่วนเป็นยาบ้า  75-80 % ไอซ์ 7-10 % 

      นอกจากนี้ มีการประมาณการ ประชากรไทยที่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 1.9 ล้านคน คิดเป็น 2.87 % ของประชากรทั้งหมดที่ 66 ล้านคน 

  • ผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติดในระบบสาธารณสุขเฉลี่ยปีละราว 2 แสนคน 0.3 % ของประชากรทั้งหมด
  • ในจำนวนนี้ประมาณการ เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 15ปี – 24 ปี ราว 54,000 คน คิดเป็น 27 % ของผู้เข้ารับการบำบัดและคิดเป็น 0.28 % ของประชากรเด็กและเยาชนทั้งหมด 19 ล้านคน และคิดเป็น 0.08 %ของประชากรทั้งประเทศ 

ปฐมวัยกว่า 9 หมื่นคน เลี้ยงดูไม่เหมาะสม

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความเสี่ยงของเด็กปฐมวัย สถาบันฯทำการศึกษาครอบครัวที่มีเด็กปฐมวัย (อายุแรกเกิดถึง 6 ปี) ในชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร 1309 ครอบครัว พบว่า

  • พ่อแม่หรือผู้ปกครองที่ดูแลเด็กแทนพ่อแม่ติดสารเสพติด  6 % หรือ 83 ครอบครัว
  • ในครัวเรือนที่ยากจนที่ปัจจุบันจะได้รับเงินอุดหนุนทารกแรกเกิด 600 บาทต่อเดือนนาน 6 ปีนั้น  พ่อแม่จะเสพยามากกว่าครอบครัวไม่ยากจนถึง 2.4 เท่า
  • และ 60% ของครอบครัวยากจนที่เสพยาจะเลี้ยงดูลูกไม่เหมาะสม ทั้งการละเลยและ/หรือการใช้ความรุนแรงกับเด็ก

      แต่ระบบข้อมูลการเสพยาและการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมของพ่อแม่ไม่มีการเชื่อมโยงบูรณาการกับข้อมูลเงินอุดหนุนทารกแรกเกิดเพื่อให้เกิดเงื่อนไขที่พ่อแม่ต้องรับการบำบัดฟื้นฟูรวมทั้งการฝึกเลี้ยงดูลูกให้เหมาะสม ทั้ง ๆ ที่ในปี 2566 ทั้งประเทศมีครอบครัวยากจนที่รัฐบาลต้องให้เงินอุดหนุนทารกแรกเกิด ถึง 2.58 ล้านคน ใช้งบประมาณ 16,321.18 ล้านบาท

คาดประมาณพ่อแม่ยากจนที่ใช้สารเสพติดและยังเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กปฐมวัยอยู่ที่ 154,800 ครอบครัว และในจำนวนนี้ มีเด็กปฐมวัย 92,880 คนที่ได้รับการเลี้ยงดูไม่เหมาะสมโดยพ่อแม่ที่ยากจนและเสพยา

 รัฐบาลใหม่หนุนEF-เลิกสารเสพติด

         รศ.นพ.อดิศักดิ์  กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลใหม่ ให้ความสำคัญกับการลงทุนในการสร้างผู้ดูแลเด็กปฐมวัยให้มีความสามารถในการใช้เครื่องมือEF ในการป้องกันยาเสพติด เพื่อให้ครูปฐมวัยทำงานเข้าถึงเด็กที่เข้ามาในระบบและนอกระบบ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในครอบครัวมีความเสี่ยง ให้สามารถเข้าถึงบริการผ่านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งที่ดูแลตั้งแต่อายุ 2 ปีขึ้นไปและต่ำกว่า 3 ปีลงมา

     รวมถึงมีระบบเข้าถึงเฝ้าระวังครอบครัวที่มีความเสี่ยง และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี  ซึ่งการสร้างทัศนคติให้ยอมรับยาเสพติดเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีความสุ่มเสี่ยง ขอให้รับฐาลใหม่ทบทวนและยกเลิกนโยบายที่สนับสนุนสารเสพติดทุกประเภททั้งบุหรี่ไฟฟ้า กัญชาหรืออื่น  ๆ  

ผลกระทบกัญชาต่อทารก
        ขณะที่ ศ.นพ.อภิชาติ จิตต์เจริญ รองผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลของยาเสพติดต่อทารกในครรภ์  ถ้าหญิงตั้งครรภ์เสพเข้าไป ในกรณีเมทแอมเฟตามีน  ทำให้เกิดผล คือ

  • ทารกน้ำหนักตัวน้อย
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • มารดาเกิดครรภ์เป็นพิษ
  • มารดามีภาวะซีด
  • ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย
  • ทารกอุณหภูมิแรกคลอดต่ำ
  • ทารกนอนรพ.นานขึ้น

      ส่วนกรณีกัญชา ปัจจุบันหญิงตั้งครรภ์มีการสั่งซื้อมาใช้เอง ไม่ผ่านการสั่งใช้โดยแพทย์  จะทำให้เกิดผลอันตราย คือ

  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • ภาวะทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย 
  • ใช้ร่วมกับการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
  • การพัฒนาสมองของทารกในครรภ์ไม่สมบูรณ์
  • และทารกเสี่ยงคลอดอาจมีปัญหาต่อการเรียนรู้และพฤติกรรมในอนาคต

         ขณะนี้ม.มหิดลกำลังศึกษา เรื่อง ผลกระทบจากการใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์ต่อทารก เนื่องจากมีรายงานผลการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการที่เด็กได้รับกัญชาตั้งแต่ในครรภ์และในช่วงปฐมวัยมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักแรกเกิดต่ำ เส้นรอบวงศีรษะลดลง การขาดดุลทางความคิด (ความสนใจ การเรียนรู้และความจำ) การรบกวนในการตอบสนองทางอารมณ์ที่นำไปสู่ความก้าวร้าว ความหุนหันพลันแล่นสูง หรือความผิดปกติทางอารมณ์ และ ความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของการใช้สารเสพติดในอายุที่มากขึ้น

ในประเทศไทยกัญชาทำให้หญิงที่มีอายุน้อยที่อยู่ในช่วงภาวะการเจริญพันธุ์ อยู่ในเขตชนบทมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี มีการใช้เพิ่มมากขึ้นด้วย งานวิจัยได้เริ่มขึ้นแล้ว ผลคงได้หลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้ว ซึ่งการวิจัยจะทำให้ทราบพฤติกรรมการใช้กัญชาในหญิงตั้งครรภ์และผลกระทบต่อทารกเป็นอย่างไรนั้น จะรีบชี้แจงกับสาธารณะและรัฐบาลชุดใหม่ต่อไป

EF สร้างภูมิต้านทานยาเสพติด

      ผศ. ดร. ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า ผลการวิจัยในระยะ 10 ปีที่ผ่าน ชี้ชัดว่า การเสพติดเกี่ยวข้องกับทักษะสมอง EF หรือ Executive Functions EF ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานของสมองระดับสูงในการกำกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ให้บรรลุสู่เป้าหมาย

       โดยสาเหตุสำคัญของการติดยาเสพติดและการกลับมาใช้ยาเสพติดใหม่อีกครั้ง รวมถึงผลการรักษาที่ไม่ได้ผล เกิดจากระดับความสามารถของทักษะสมอง EF ซึ่งระดับทักษะสมอง EF ในช่วงวัยเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะสมอง EF ด้านการยับยั้งชั่งใจ และ ทักษะสมอง EF ด้านการควบคุมอารมณ์ ยังสามารถทำนายการติดยาเสพติดเมื่อโตขึ้นได้
           จากการที่สถาบันฯร่วมมือกับหลายหน่วยงานพัฒนา และศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมสมรรถนะครูปฐมวัยต่อ ทักษะสมอง EF หรือ Executive Functions :EF ของเด็กปฐมวัย ในพื้นที่เป้าหมายมี 4 อำเภอ ใน 4 จังหวัด คือ เขตสวนหลวง จังหวัดกรุงเทพมหานคร อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี และอ.เมือง จ.ปัตตานี มีกลุ่มตัวอย่างครูปฐมวัย 4 พื้นที่ทั้งหมด จำนวน 345 คน และเด็กปฐมวัยจำนวน 1,363 คน

ผลการวิจัย พบว่า  

  • มิติของครู คือ ครูสามารถจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนที่สามารถช่วยและส่งเสริมทักษะสมอง EF ได้ และเห็นคุณค่าในวิชาชีพครูปฐมวัยเพิ่มมากขึ้น
  • มิติของเด็กปฐมวัย คือ เด็กปฐมวัยมีความอดทนอดกลั้น มีความรับผิดชอบ จัดการชีวิตของตนเองได้ และมีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น
  • มิติครอบครัว คือ เกิดการลดใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว
  • และ มิติทางสังคม คือ เกิดเป็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน และ การเกิดนวัตกรรมในชุมชน เช่น IEF (Islamic Executive Function) ที่มีพื้นฐานจากหลักการทางศาสนาอิสลามในการพัฒนา EF ร่วมกับการส่งเสริมด้านการอ่าน

    กระบวนการส่งเสริมสมรรถภาพครูในการส่งเสริมทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยในชั้นเรียน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีต่อการอบรมเลี้ยงดู และการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย กล่าวคือ ให้ความสำคัญกับการสร้างและรักษาตัวตนของเด็กมากขึ้น ลดการใช้ถ้อยคำรุนแรง และการทำร้ายร่างกายและจิตใจ เพิ่มความอบอุ่น ความมั่นคงปลอดภัยให้กับเด็กปฐมวัยมากขึ้น

        รวมถึงการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวทาง EF Guideline ที่ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยได้ฝึกฝนการใช้ทักษะสมอง EF มากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเพิ่มปัจจัยป้องกัน และลดปัจจัยเสี่ยงต่อการติดยาเสพติดของเด็กปฐมวัยในอนาคต