'พยาบาล'ร้องภาระงานหนัก ควงเวร 24 ชั่วโมง สูญเสียจากระบบ 7,000คน/ปี

'พยาบาล'ร้องภาระงานหนัก ควงเวร 24 ชั่วโมง สูญเสียจากระบบ 7,000คน/ปี

พยาบาลร้องภาระงานหนัก ต้องดูแลผู้ป่วยมากกว่าประสิทธิภาพ 2 เท่า บางคนควงเวร 24 ชั่วโมง สูญเสียจากระบบปีละราว 7,000 คน ชง 3 แนวทางแก้ปัญหา ย้ำต้องลดภาระงาน “สหสาขาวิชาชีพสาธารณสุข”       

    เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่ม Nurses Connect ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาภาระงานในระบบสาธารณสุข จนทำให้แพทย์ พยาบาลและบุคลากรการแพทย์ทยอยลาออก ว่า ปัจจุบันวิชาชีพพยาบาลมีอัตราการผลิตปีละ 10,000 คน ซึ่งจะมีอัตราสูญเสียจากระบบทั้งเกษียณอายุราชการ ลาออกและเสียชีวิต ปีละ 7,000 คน เท่ากับมีส่วนต่างอยู่ปีละ 3,000 คน โดยภาระงานของพยาบาลจะต้องทำงานตลอด 8 ชั่วโมง เช่น ดูแลผู้ป่วย ให้ยา ตามแพทย์ ออกตรวจผู้ป่วยใน ทำการรักษาตามแพทย์สั่ง เฝ้าอาการผู้ป่วย เป็นต้น

   ปัจจุบันกรอบกำหนดภาระงานของพยาบาลยังไม่ชัดเจน หมายถึงพยาบาลหอผู้ป่วยสามัญ 1 คน ควรดูผู้ป่วย 4-6 คน เพื่อประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยสูงสุด แต่ตอนนี้พยาบาลต้องดูผู้ป่วย 8-12 คน ต้องเฉลี่ยการดูแลออกไปทำให้ประสิทธิภาพตกมาตรฐานไป หรือในห้องฉุกเฉินพยาบาลต้องดูผู้ป่วย 1 ต่อ 1 แต่ตอนนี้ก็เป็น 1 ต่อ 2 อยู่ ถ้าผู้ป่วยอาการเปลี่ยนแปลงก็จะทำงานไม่ทัน
        วิชาชีพพยาบาลคือคนที่คอยดูแล ส่วนแพทย์ก็เป็นผู้รักษา ร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ ก็ทำหน้าที่ต่างกันไป แต่ทุกคนทำงานเป็นทีม ทำงานร่วมกันในโรงพยาบาล ด้วยตัวภาระงานที่หนัก คนก็ออกจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ลาออกจากรัฐไปเอกชน ไปต่างประเทศ หรือเปลี่ยนสายงาน ก็ทำให้เวิร์กโหลด (Work Load) คนที่ยังอยู่หนักมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่จะแก้ไขปัญหาได้ คือ การทำงานของสหสาขาวิชาชีพสาธารณสุขมีภาระงานลดลง ค่าตอบแทนมากขึ้นและอยู่ในระบบให้นาน

     น.ส.สุวิมล กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอของกลุ่มซึ่งได้เสนอกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และหารือร่วมกับฝ่ายการเมืองแล้ว ซึ่งสิ่งที่จะทำให้คนอยู่ในระบบได้ คือ

1.ลดชั่วโมงการทำงานของแพทย์ พยาบาล โดยเฉพาะพยาบาลที่ทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บางคนต้องควงเวร 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้คนทำงานหมดไฟ (Burn Out)

2.ค่าตอบแทนที่ต้องเพิ่มมากกว่านี้ ถึงแม้จะเพิ่งปรับไปเมื่อก.พ.ที่ผ่านมา แต่ถ้าเทียบกับภาระงานถือว่าค่าตอบแทนยังน้อยอยู่ ไม่คุ้มกับสุขภาพที่เสียไป

และ 3.การกำหนดกรอบภาระงาน ว่าบุคลากร 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยกี่คน ซึ่งจะช่วยลดเวิร์กโหลดได้ และผู้ป่วยก็จะได้รับการดูแลตามมาตรฐานที่ควรจะได้รับจริงๆ

      “ขณะนี้กลุ่มกำลังรวมตัวกันเป็นสหภาพพยาบาล เป็นสาขาวิชาชีพหนึ่งในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง อย่างกรณีที่จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ ก็จะมีการพูดคุยผ่านสหภาพพยาบาล ถ้าผลการตั้งรัฐบาลเป็นไปตามที่คิดไว้ ก็มองว่าฝ่ายการเมืองค่อนข้างทราบปัญหานี้อยู่แล้วอย่างที่ประชาชนทั่วไปก็รับทราบ”น.ส.สุวิมลกล่าว